วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ใครทำให้ชาติไทย ..(บทนำ)..





จากหนังสือพิมพ์ "มติชน" วันอังคารที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๖
สวิสจัดอันดับพัฒนาอาเซียน ไทยพ่ายมาเลเซีย "ขาดลอย"
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากรายงานของสถาบัน MID และสถาบัน World Economic Forum แห่งประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้วิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขันของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีภาพทางเศรษฐกิจและระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกันจำนวน ๑๐ ประเทศ ปรากฎว่า ปัจจัยที่ไทยมีฐานะด้อย...ที่สุดและควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ และต้องรีบดำเนินการแก้ไขเร่งด่วนมี ๔ ด้าน คือ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ปัจจัยด้านาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปัจจัยด้านการบริหารและจัดการ ปัจจัยด้านทรัพยากรบุคคล

ข่าวแจ้งว่า การจัดอันดับเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขัน

ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ไทยถูกจัดให้มีความสามารถในการแข่งขันเกือบจะน้อยที่สุด คืออันดับที่ ๙ โดยอันดับที่๑๐ คือ อินเดีย, อินโดนีเซีย อยู่อันดับ ๘ เกาหลีอยู่อันดับที่ ๕ มาเลเซียอยู่อันดับที่ ๔

ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยอยู่อันดับที่ ๗ สูงกว่าเมกซิโก อินเดีย บราซิล แต่ต่ำกว่า อินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียอยู่อันดับที่ ๖ มาเลเซียอยู่อันดับที่ ๕,สิงค์โปร์อันดับที่๑, ไต้หวันอันดับที่ ๒, เกาหลีอันดับที่ ๓

ด้านบริหารและจัดการ ไทยถูกจัดเป็นอันดับที่ ๖ เหนือกว่าเมกซิโก บราซิล อินเดีย อินโดนีเซีย แต่ต่ำกว่า เกาหลีที่อยู่อันดับที่ ๕ และมาเลเซียอยู่อันดับที่ ๔
ด้านทรัพยากรบุคคล ไทยมีความสามารถในอันดับที่ ๖ สูงกว่าบราซิล เมกซิโก อินโดนีเซีย แต่ต่ำกว่ามาเลเซียซึ่งอยู่อันดับที่ ๕ และเกาหลีอยู่อันดับที่ ๔

ใครทำให้ชาติไทย ตกลงมาอยู่ในอันดับนี้ ?


ประสิทธิ์ อุไรรัตน์





ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งอุษาคเนย์

 เทพ สุนทรศารทูล  ร้อยกรอง



๐ประสิทธิ์ อุไรรัตน์ผู้                ปัญญา ยิ่งเฮย
ส่งข่าวตัดตอนมา                     มอบให้
พร้อมต้้งปุจฉาหา                     มูลเหตุุ
ใครเล่าพาชาติไซร้                   เสื่อมสิ้นศักดิ์ศรี

๐ ไทยเคยมีเกียรติก้อง             แหลมทอง
ลาวเขมรไทยครอง                   ครอบไว้
เป็นหนึ่งบ่มีสอง                        สมัยกษัตริย์
พระพุทธยอดฟ้าได้                   เสกสร้างไพศาล

๐ เพรงกาลไทยรุ่งฟ้า                เฟื่องดิน
ไทยผ่องแผ้วโสภิณ                  ภาคย์แท้
ไทยย่อมรักแผ่นดิน                   ไทยยิ่ง นักนา
ไทยผงาดองอาจแม้                  เมื่อสู้สงคราม


๐บ่ทรามบ่เสือมไซร้                  หากสยาม
เพียงเพ่งดำเนินตาม                  บาทไท้
พระปิยะสมญานาม                    มหาราช
ทรงพลิกแผ่นดินไว้                   มอบให้ไทยผอง

๐ ควรมองแบบอย่างเยี่ยง         วิทยา
ทรงพระกรุณา                           เริ่่มไว้
วางระบบการศึกษา                   ทางถูก แท้เฮย
ธรรมศักดิ์เจ้าพระยาไซร้           ฉลาดแท้ทันการณ์

๐ ปรับประสานประโยชน์ให้      เหมาะสมัย
วิทยาวิเศษใด                           ล่วงรู้
เรียนอังกฤษศิษย์ไทย              เพียรพาก
เรียนร่ำช่ำชองสู้                       ห่อนรู้อับจน


๐ บัดดลแปรเปลี่ยนแก้            กลับกลาย
การศึกษาเอาสบาย                 ก่อนไว้
อรรถอังกฤษอธิบาย                ยากยิ่ง  นักฤา
แปลตำหรับสรรพวิทย์ให้        ง่ายแท้เป็นไทย ฯ

๐ เด็กไทยไป่ต้องอ่าน             อรรถอัง  กฤษเฮย
เพียงอ่านผ่านเพียงฟัง            ถับรู้
แคเอบีซียัง                             รังเกียจ
ขยับ กขค สู้                            สั่งให้เรียนไป ฯ

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

สุภาษิตสอนหญิง (บทนำ)


..เรื่อง "สุภาษิตสอนหญิง" นี้ นายเทพ สุนทรศารทูลเขียนไว้ต้ังแต่ พ.ศ.๒๕๑๔ลงพิมพ์คร้้งแรกในหนังสือ "ศิลปวัฒนธรรม" เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๒๙ ต่อมาปีพ.ศ.๒๕๓๖ ได้นำมาพิมพ์เผยแพร่

นายเทพ สุนทรศารทูลเขียนหนังสือเรื่องนี้ในลักษณะ "วรรณคดีวิจัย" ว่าสุนรภู่ไม่ได้แต่งสุภาษิตสอนหญิง และผู้แต่ง "สุภาษิตสอนหญิง" นี้คือ นายภู่ ธรรมทานาจารย์ อดึตสมภารวัดสระเกศในสมัยรัชกาลที่๓ (ได้ลาสิกขาออกมาในรัชกาลที่๔ พร้อมกับสุนทรภู่ เพราะเป็นศิษย์สุนทรภู่ทางการกวี นายภู่ ธรรมทานาจารย์นี้ได้เคยเป็นกวีบอกสักวา หน้าพระที่นั่งร่วมวงกับคุณพุ่ม ภมรมนตรีในสมัยรัชกาลที่๔

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เกิดมาทำไม


โดย
เทพ สุนทรศารทูล



ตอบคำถาม - เกิดมาทำไม

ข้าพเจ้าได้อ่านเรื่อง "เกิดมาทำไม" ของคุณเชวง เดชะไกศยะ แล้วก็อยากจะสนทนาธรรมกับท่านผู้อ่านต่อไปในเรื่อง "เกิดมาทำไม" นี้
เพราะ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า "กาเลนะ ธัมมสากัจฉา เอตัมมัง คละมุตตะมัง" การสนทนาธรรมตามกาลเทศะเป็นอุดมมงคล


เรื่องเกิดมาทำไมนี้ มนุษย์ร้อยละร้อย ไม่รู้ว่าเกิดมาทำไม กว่าสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว จนกระทั่งมหาบุรษองค์หนึ่งอุบัติขึ้นมาในโลก เมื่อก่อนพระพุทธศาสนา ๘๑ ปี ชือว่า สิทธัตถกุมาร เกิดมาได้ ๓๖ ปี ท่านจึงตรัสรู้ธรรมอันวิเศษว่าคนเกิดมาทำไม 


ท่านจึงตรัสสอนไว้ว่า
๑. มนุษย์เกิดมาเพราะอวิชชา เกิดมาเพราะไม่รู้ว่าชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม ถ้าคนใดรู้แจ้งว่าชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไมแล้ว คนนั้นก็จะไม่เกิดมาอีกเหมือนพระพุทธเจ้าที่จะไม่เกิดอีกแล้ว เกิดชาตินี้่เป็นชาติสุดท้าย พระอริยสงฆ์สาวกที่บรรลุธรรมแล้่วเป็นพระอรหันต์เมื่อบรรลุธรรมแล้วก็รู้ว่าชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม แล้วท่านก็ไม่เกิดอีกทุกองค์
พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ในเรื่อง"ปฎฺิจจสมุปาท" (แปลว่าการเกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องของชีวิต) ว่า คนเกิดมาเพราะอวิชชา, อวิชชาก่อให้เกิดสังขาร, สังขารก่อให้เกิดวิญญาณ, วิญญาณก่อให้เกิดนามรูป, นามรูปก่อให้เกิดสฬายตนะ, สฬายตนะก่อให้เกิดผัสสะ, ผัสสะก่อให้เกิดเวทนา, เวทนาก่อให้เกิดตัณหา, ตัณหาก่อให้เกิดอุปทาน, อุปทานก่อให้เกิดภพ,ภพก่อให้เกิดชาติ
"ชาติ" คำนี้แหละคือชีวิต
เรื่องนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระอาจารย์บางท่านนำคำว่า "อิทัปทปัจยตา" มาถกแถลงด้วย
ที่จริง คำว่า "อิทัปปัจจยตา " แปลว่า "สิ่งนี้มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา" เมื่อหมดปัจจัยปรุงแต่งแล้วมันก็เสือมสลาย คือตายไป
"ปฎิจจสมุปบาท" แปลว่า "การเกิดขึ้นอย่างสืบเนื่องของชีวิต" มีความหมายกว้างกว่า ลึกกว่า มีความหมายรวม "อิทัปปัจจยตา"ด้วย
รวม


๒.เกิดมาเพราะกรรม อย่างที่คนโบราณท่านพูดว่า เกิดมาใช้กรรมเก่า
พระพุทธองค์ตรัสว่า"กัมมัง เขตตัง วัญญาณังพีชัง ตัณหัง สิเนโห" กรรมเป็นเนื้อนา วิญญาณเป็นเมล็ดพืชพันธ์ ตัณหาเป็นความทะเยอทะยานอยากเกิดมาเป็นชีวิต วิญญาณแห่งสัตว์ทั้งหลาย อันอวิชชากั้นไว้ มีตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด อันตั้งอยู่ด้วยกามธาตุ รูปธาตุ อรูปธาตุ เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตว์จึงต้องไปเกิดในเบื้องหน้า คือกามภพ รุปภพ และอรุปภพ (กำเนิดเป็นสัตว์ มนุษย์ เทวดา พรหม) สัตว์โลชกเกิดมาดีทรามต่างกันเพราะแรงกรรมในชาติปางก่อน
ท่านว่าแรงใดๆในโลกนี้ ไม่มีแรงใดจะแรงเท่าแรงกรรมไปได้เลย ส่งผลข้ามภพข้ามชาติทีเดียว ถ้ายังไม่บรรลุพระนิพพานตราบใดก็ต้องเกิดมากินบุญเก่า เกิดมาใช้กรรมเก่า อยู่ตลอดไปชั่วกัปป์กัลป์ ใครว่าตายแล้วสูญ คนนั้น่เป็นมิจฉาทิฎฐิ


๓.เกิดมาเพราะตัณหา ตัณหานี้คือ ภวตัณหา คืออยากเกิดอยากมีชีวิตอยู่ แม้จะเป็นคนยากจน เป็นคนทุพพลภาพ ก็ยังอยากมีชีวิตอยู่ อยากเกิดใหม่ในชาติหน้าที่ดีกว่านี้
ตัณหานี้แหละคือพลังงานชีวิตที่ทำให้คนเกิดมาและเกิดต่อไปทุกภพทุกชาติ
ดังท่านว่า ตัณหาสิเนโห ตัณหาเป็นความติดใจในชีวิตอยากเกิดอยู่เรื่อย
ไม่เกิดอีกนั้น มีหนทางเดียวคือ บำเพ็ญวิปัสสนาญาณจนบรรลุพระอรหันต์เท่านั้น


๔.เกิดเพราะชีวิตเป็นวัฎสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักสิ้นสุด เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดเรื่อยไป มันสุดแต่แรงกรรมที่สร้างไว้ในชาตินีจะนำไปเกิด
วัฎสงสาร คือการเวียนว่ายตายเกิด
ทุกข์ (ชีวิตที่เกิดมามีทุกข์ คือทนอยู่ไม่ได้)
อนิจจัง( ชีวิตไม่เที่ย่งแท้แน่นอน)
อนัตตา (ชีวิตไม่ใช่ตัวตนเราเขาที่แท้จริง) อย่าแปลคำว่า อนัตตา ว่าไม่ม่ตัวตน จะเป็นมิจฉาทิฎฐิไปทันที เพราะตัวตนเรามีอยู่จริง แต่มันไม่ใช่ตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร มันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ต้องเปลี่ยนภพ เปลี่ยนชาติ 


คนต้องเวียนว่ายตายเกิดจนกว่าจะบรรลุพระอรหันต์สู่พระนิพพานอันเป็นอมตะไม่เกิดไม่ตาย อยู่อย่างนั้นชั่วนิรันดร
พระนิพพานมิใช่สูญสิ้น เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรสูญสิ้นไปไหนเลย คงมีอยู่เหมือนเดิมเท่าเดิมทุกอย่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ มีอยู่เหมือนเมื่อแรกสร้างโลก
พระพุทธเจ้าทุกองค์ พระอรหันต์ทุกองค์ จึงทรงภาวะเป็นอมตะอยู่ในพระนิพพาน ไม่สูญสิ้นไปไหนเลย





วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง

    

พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง 

โดย
 เทพ สุนทรศารทูล
    หนังสือ"พงศาวดารราชินีกุลบางช้าง" นี้ นายเทพ สุนทรศารทูลใช้เวลาค้นคว้า ศึกษารวบรวม เรียบเรียเขียนนานถึง ๘ ปี ต้ังแต่วันที่๒๙ ธ.ค.๒๕๓๑ -วันที่ ๒๗ พ.ย.๒๕๓๙

   วงศ์ราชินีกุลบางช้าง คือ วงศ์กษัตริย์สุโขทัยที่สืบสายลงมาต้ังบ้านเรือนอยู่ในเมืองสมุทรสงคราม ต้ังแต่แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง เมื่อต้ังเมืองสมุทรสงครามขึ้นในสมัยพระนารายณ์มหาราช ก็ทรงตั้งบุคคลในวงศ์ราชินีกุลบางช้างเป็นเจ้าเมืองสมุทรสงคราม เจ้าเมืองคนสุดท้ายในสมัยกรุงศรีอยุธยาคือ พระแม่กลองบุรี(เสม) วงศ์ญาติสนิทของคุณนาค

   วงศ์ราชินีกุลบางช้าง เกิดขึี้นมาด้วยคุณนาค (สมเด็จพระอมรินทรามาตย์)ธิดาเจ้าทอง ผู้มีบุญได้เป็นพระมเหษีพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย หลวงอร่ามเรืองฤทธิ์ (ทองด้วง) ได้ไปรับราชการเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองสมุทรสงคราม ที่ตำบลบางช้าง เมืองสมุทรสงคราม (ซึ่งได้ตั้งเป็นเมืองจัตวาขึ้นแล้วในสมัยพระนารายณ์) สร้างป้อมค่ายชายทะเลขึ้นเรียกว่า "ค่ายสมุทรสงคราม) แล้วพระราชทานนามเมืองว่า "สมุทรสงคราม"
เป็นพระราชประเพณ๊มาแต่สมัยโบราณ ที่ห้ามมิให้นับลำดับญาติถึงพระเจ้าแผ่นดิน ให้นับทางพระมเหษีเท่าน้ัน
ดังนั้นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) คือต้นวงศ์ราชินีกุลบางช้างสายตรง เพราะฉนั้นพระราชโอรสของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ที่สืบสายมาจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ จึงเป็นต้นวงศ์ราชินีกุลบางช้างสายตรง



ตระกูลราชินีกุลบางช้าง ท่านแบ่งเป็น ๓ สาย คือ
๑.สายตรง สายที่สืบมาแต่สมเด็จพระอมรินทรามาตย์โดยตรง คือสายที่สืบมาจากพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสายที่สืบมาจากกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  และสายที่สืบไปจากกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์  คือ ราชสกุล ณ อยุธยา ดังต่อไปนี้

  ๑.๑ ราชสกุลที่สืบสายจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือ
กล้วยไม้, กุสุมา, เดชาติวงศ์, พนมวัน, ไพทูรย์, อาภรณ์กุล, กุญชร, ทินกร, มหากุล,วัชรีวงศ์, ชุมแสง,สนิทวงศ์,นิลรัตน์, อรุณวงศ์,กปิตถา, ปราโมช, มาลากุล

๑.๒ ราชสกุลที่สืบสายจากกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ คือ
บรรยงกะเสนา, อิสรเสนา, พยัคฆเสนา, รังสิเสนา, สหาวุธ, ยุคันธร, สีสังข์, รัชนีกร, รองทรง

๑.๓ ราชสกุลที่สืบสายมาจากพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
ศิริวงศ์, โกเมน, คเนจร, ลดาวัลย์, ชุมสาย, อรรณพ, สุบรรณ, สิงหรา, ชมพูนุท,

๑.๔ ราชสกุลที่สืบสายมาจากพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
 กฤดากร, คัดณางค์, จักรพันธุ์, ภาณุพันธุ์, โสภางค์, นพวงศ์, สุประดิษฐ์, สุขสวัสดิ์, ทวีวงศ์, ทองใหญ่, ทองแถม,เกษมศรี, เกษมสันต์, ศรีธวัช, ชมพล, เทวกุล, สวัสดิ์กุล,จันทรทัต, ชยางกูร, วรวรรณ, ดิศกุล, โสณกุล, จิตรพงศ์, วัฒนวงศ์, สวัสดิ์วัฒน์, ไชยยันต์

๑.๕. ราชสกุลที่สืบสายมาจากพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ
กิตติยากร, จักรพงศ์, จฑานุช, จิรประวัติ, ฉัตรไชย. บริพัตร, มหิดล, รพีพัฒน์, ประวิตร, เพ็ญพัฒน์, วุฒิไชย, สุริยง, รังสิต อาภากร

ราชสกุลเหล่านี้ ลงท่้ายว่า ณ อยุธยา เพื่อให้ทราบว่ามาจากราชวงศ์จักรี  รวม ๗๙ ราชสกุล  ที่สืบสายราชวงศ์ลงมาจากสมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค)  ต้นวงศ์ราชินีกุลบางช้าง


๒. สายชิด นับจากที่สืบสายไปจากพระพี่นางน้องของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ร่วมพระชนกชนนีเดียวกัน คือ
๒.๑. วงศ์เจ้าชูโต สืบมาจากเจ้าพระยาพลเทพ เอี่ยม ชูโต ), สืบมาจากพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสงชูโต), สืบมาจากพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ สวัสดิชูโต)

๒.๒.วงศ์เจ้านวล สืบมาจากเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (ต้นสกุล บุนนาค)
 เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา มีบุตรสืบตระกูล เป็นสมเด็จเจ้าพระยาถึงสององค์ คือ
๑. สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค)  ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๔
๒. สมเด็จพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัศ บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการพระนครในสมัยรัชกาลที่ ๔

๒.๓ วงศ์เจ้าแก้ว สืบมาจากเจ้าคุณหญิงแก้ว ภรรยาพระยาแม่กลองบุรี (ศร ณ บางช้าง)

๓. สายห่าง นับวงศ์ของเจ้าพระยาอมรินทรฤาไชย (เสม วงศาโรจน์)




    วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

    หนังสือ"ปรัชญาข้าราชการ "




    ปรัชญาข้าราชการ 



    หนังสือ"ปรัชญาข้าราชการ" เขียนโดยข้าราชการซึ่งรับราชการมา ๔๐ ปีเศษ ได้ท่องเที่ยวอยู่ในดงสีกากีมาอย่างทะลุปรุโปร่งจนรู้ดีรู้ชั่ว ประดุจดั่งว่าจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยข้าราชการ สาขาวิชาบริหารงานบุคคล   ใครเป็นข้าราชการ ควรอ่านเรื่องนี้ทุกคน  อ่านแล้วท่านจะได้ดวงตาเห็นธรรมะในวงราชการเหมือนได้ลุโสดาบันทางราชการหรือจบปริญญาเอกวิชาข้าราชการพลเรือนจากมหาวิทยาลัยเสนาอำมาตย์แห่งกรุงสยาม  ดังกลอนแปดที่ผู้เขียนนำมาประกอบท้ายเรื่อง ดังนี้

                        "ชีวิตข้าราชการงานเล่นโขน
                          กระโดดโจนเต้นร่าตามหน้าที่
                          เป็นพระลักษณ์พระรามก็ตามที
                          เป็นกระบี่ดีชั่วหรือตัวยักษ์
                          ล้วนแต่สวมหัวโขนโผนผงาด
                          สวมบทบาทออกท่ารักษาศักดิ์
                          มักจะหลงลืมตัวไปชั่วพัก
                          อารมณ์รักอารมณ์ชังมันฝังใจ
                     
                          กว่าจะรู้สึกตัวคนหัวโขน
                          ก็โดดโจนเหนื่อยโขเสโทไหล
                          ได้ค่าข้าวค่าเหล้าไม่เท่าไร
                          ต้องออกไปเป็นคนธรรมดา
                          เหมือนใบไม้หลุดพรากลงจากต้น
                          ปลิวลงไปปะปนกับต้นหญ้า
                          ถูกลมแดดแผดส่องพสุธา
                          รอเวลาถมพื้นปฐพิน

                          อันชาติเสือเหลือลายเมื่อตายกลิ้ง
                          ชาติช้างทิ้งงาไว้ให้ถวิล
                          เกิดเป็นชายไว้ชื่อให้ชนยิน
                          ยามเมื่อสิ้นชีพชื่อยังลือชา
                          ทำอะไรไว้สักอย่างสร้างหลักฐาน
                          ให้ลูกหลานเรารู้ว่าปู่ย่า
                          ตายายเป็นคนดีมีปรีชา
                          เขาเป็นทายาทจะได้ปลื้มใจจินต์ 

                          เมื่อเราตกเป็นทาสราชการ
                          เป็นทาสงานหลวงรู้อยู่ทั้งสิ้น
                          เรารับจ้างประชามาหากิน
                          ควรถวิลเมตตาประชาชน
                          ควรเมตตาต่อนายทั้งชายหญิง
                          มีสัตย์จริงต่อท่านน้ันเป็นต้น
                          เมตตาเพื่อนหญิงชายสหายตน
                          เมตตาคนรองรองลูกน้องเรา

                          ถ้าเราแผ่เมตตาประชาราษฎร์
                          รับใช้ชาติรำพึงถึงพระเจ้าง
                          รับแต่ลาภทานใครให้ก็เอา
                          ไม่ถือเตาถือไถเที่ยวใส่ตี
                           เราก็ย่อมอยู่ดีและมีสุข
                           ถึงมีทุกข์ก็สู้และรู้หนี
                           ต้องรู้หลบเป็นปีกหลีกไพรี
                           รู้หลีกลี้เป็นอย่างเช่นหางนก

                           เรียกว่าชายชาตรีรู้ดีชั่ว
                           ไม่พันพัวแตะต้องของสกปรก
                           ย่อมรอดพ้นชั่วเลวเหวนรก
                           จนถึงหกสิบพรรษาชรากาย
                           ปลดเกณียณอายุลุมรรคผล
                            เหมือนผ่านพ้นพงหนามมีความหมาย
                            ชีวิตวันผ่านมีหลายปีปลาย
                            ท้ังดีร้ายทุกข์สุขคลุกเคล้ากัน

                            มันเหมือนละครชีวิตคิดคิดไป
                            ไม่ว่าใครชีวิตไม่ผิดผัน
                            ย่อมผ่านร้อนผ่านเย็นมาเช่นนั้น
                            ถึงเป็นชั้นจอมพลและภารโรง
                            ล้วนแต่แก่ชราตาน้ำข้าว
                            ผมก็ขาวหัวล้านกะบาลโล่ง
                            ล้วนแต่ต้องแก่เฒ่าและเข้าโลง
                            ไปอยู่โยงยมโลกอย่าโศกเลย ฯ"
                     
                            

    วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2558

    หลักการสรรหาบุคคล



    หลักการสรรหาบุคคล 

    โดย เทพ สุนทรศารทูล


              เรื่อง"หลักการสรรหาบุคคล" นี้ลงพิมพ์คร้ังแรกเมื่อพ.ศ. ๒๕๒๔  ในหนังสือ "มานวสาร" หนังสือรายเดือนของสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย  ซึ่งมีม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นประธานแต่แรกเริ่ม 

         ต่อมา ม.จ.พิริยดิศ ดิศกุล ได้ทรงอ่านพบและทรงพอพระทัยมาก จึงได้ขอนำไปลงพิมพ์ในหนังสือ"ข่าวสารการธรณี" ฉบับเดือน สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๕  และในพ.ศ.๒๕๒๘ ได้นำมาจัดพิมพ์เป็นเล่ม 

         จากชีวิตราชการทำให้นายเทพ สุนทรศารทูลทราบว่าการบริหารราชการน้ัน การพิจารณาสรรหาบุคคลมาร่วมคณะเป็นสิ่งสำคัญและเป็นเรื่อง"ละเอียดอ่อน"   คือ ต้องมี "หลักเกณฑ์อันแยบคาย"  และ "หลักเกณฑ์อันชอบธรรม"  ดังรายละเอียดที่นำเสนอไว้ในหนังสือ "หลักการสรรหาบุคคล" นี้ 






              หนังสือ"หลักการสรรหาบุคคล" นับเป็นหนังสือเก่าที่มีคุณค่าและหายาก จึงนำมาจัดพิมพ์เป็นคร้ังที่ ๔ และจัดมอบให้หอสมุดแห่งชาติ หอสมุดมหาวิทยาลัย และห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ 



       

    นามสกุลพระราชทาน ๖๔๓๒ สกุล



    นามสกุลพระราชทาน
    ๖๔๓๒ สกุล 


    รวบรวมโดย 
    เทพ สุนทรศารทูล



    คำอุทิศ

    ขออุทิศไว้ใต้เบื้องพระยุคลบาท
    พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 

    ผู้ทรงพระปรีชาญาณ
    ผู้ทรงพระมหากรุณา

    ออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุลพระราชทาน
    และพระราชทานนามสกุลพระราชทาน
    แก่มหาชนชาวสยามทุกคน












                   

    วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558

    สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์




    โดย เทพ สุนทรศารทูล

    คำนำ


           หนังสือเรื่อง "สมเด็จพระสังฆราชกรุงรัตนโกสินทร์" พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๒๓ ด้วยประสงค์เพื่อจะให้เป็นหนังสือประกอบการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา  ตามนโยบายของนายชัยวัฒน์ หุตะเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม องค์การบริหารส่วนจังหวัดได้อนุมัติเงินงบประมาณจัดพิมพ์ขึ้นแจกโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงคราม 

         ต่อมามีผู้สนใจหนังสือเรื่องนี้กันมากในหมู่พระภิกษุสงฆ์และครูอาจารย์ตลอดผู้สนใจในประวัติของสมเด็จพระสังฆราช จึงได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่๒ เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕ 
         
         ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาแต่โบราณกาลกว่า ๒๐๐๐ ปีแล้ว แต่มีอิสระเสรีภาพที่จะนับถือศาสนาอื่นได้  ประกอบพิธีทางศาสนาอื่่นได้ โดยไม่ถูกรังเกียจเกลียดชัง จากพุทธศาสนิกชนเลยแม้แต่น้อย   ประเทศไทยมีอิสระเสรีภาพในการนับถือศาสนาอย่างอิสระเสรีจริงๆยิ่งกว่าประเทศใดในโลก  เพราะพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์สยามประเทศและสมเด็จพระสังฆราชของไทยที่มีพระเมตตากรุณาแก่มนุษย์ร่วมโลกร่วมทุกข์โดยแท้จริง   

         พระสังฆราชของไทยทุกพระองค์ทรงมองศาสนิกชนต่างศาสนาว่าเขามีบุญกรรมและวาสนาอันได้สร้างสมมาอย่างนั้นเอง   ทางพุทธศาสนาถือว่าเมื่อเขามีปัญญาบารมีสูงขึ้นมาถึงระดับหนึ่งแล้ว เขาจะมานับถือพระพุทธศาสนาด้วยตัวเขาเอง ดังเช่น ชาวฝรั่งเมื่อได้ศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เข้ามาอุปสมบทในพระพุทธศาสนาแล้วออกไปต้ังสำนักสงฆ์เผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ในประเทศอังกฤษ อเมริกา แคนาดา เยอรมัน และออสเตรเลีย เป็นต้น 

         การศึกษาพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราช เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมในหมู่คณะสงฆ์ และวัฒนธรรมกาสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชด้วยว่า   พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศจะมีหน้าที่สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชขึ้นปกครองคณะสงฆ์ในสังฆมณฑล โดยพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์   และพระสงฆ์ทุกรูปจะต้องอยู่ในปกครองของสมเด็จพระสังฆราช 

                                                                  เทพ  สุนทรศารทูล
                                                                   
                                                                   ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๕

                                        



    วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2558

    มงคลนาม



    โดย เทพ สุนทรศารทูล 


            นายเทพ สุนทรศารทูล ได้ศึกษาค้นคว้าตำราการต้ังชื่อให้เป็นมงคลนามตามหลักวิชาโหราศาสตร์ของโบราณาจารย์มากว่า ๓๐ ปี ผสมกับความชำนาญจากประสบการณ์ในการต้ังชื่อนำมาเขียนไว้ในเล่มนี้ อย่างถี่ถ้วนไม่ปิดบัง ได้อธิบายเคล็ดลับทุกอย่าง การแก้ดวงชะตาทีมีดาวกาลกินีกุมลัคนา เพื่อให้ดาวกาลกินีน้ันกลายเป็นดาวศรี ดาวร้ายให้โทษให้กลายเป็นดาวดี 

         

            ยังไม่เคยมีตำราต้ังชื่อเล่มใด อธิบายหลักวิชาอย่างละเอียดดังเรื่องมงคลนามนี้เลย ดังคำนำอนุโมทนาของ สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดปทุมคงคา (๕ ก.ค.๓๔) ดังนี้ 

         "หนังสือเรื่องการต้ังชื่อ ข้าพเจ้าเคยอ่านไม่ต่ำกว่า ๓ เล่ม แต่ไม่มีรายละเอียดเหมือนหนังสือ มงคลนามตามตำราโหราศาสตร์*ที่คุณเทพเขียน ข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าผู้ใดมีหนังสือนี้ไว้  จะรู้วิธีตั้งชื่อตามที่นิยมกัน
    ขออนุโมทนาและขอขอบคุณที่คุณเทพได้ใช้วิริยอุตสาหะ และสติปัญญาความสามารถแต่งหนังสือ "มงคลนามตามตำราโหราศาสตร์" ขอให้คุณเทพจงต้ังใจเขียนเรื่องมีสาระแก่ประชาชนอีกเถิด"









    *หมายเหตุ :  หนังสือมงคลนามตามตำราโหราศาสตร์ พิมพ์ครั่้งแรกเมื่่อปีพ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับความนิยมอย่างมาก ได้จัดพิมพ์อีก  ๒ คร้ัง รวมเป็น ๓ ครัั้ง โดย สองครั้งหลังใช้ชื่อว่า มงคลนาม 








    วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

    จรรยาผู้ดี



    คำนำ
         หนังสือเรื่อง "จรรยาผู้ดี" เขียนขึ้นคร้ังแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ จำนวน ๓๗๐ ข้อ คือภาคหนึ่ง ต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๕๒๗ ได้เขียนเพิ่มเติมอีก ๘๐ ข้อ คือ ภาคสอง และได้เขียนเพิ่มเติมขึ้่นเมื่อพ.ศ.๒๕๒๙ อีก ๑๘๙ ข้อ คือภาคสาม รวมท้ังสิ้นมี ๖๓๙ ข้อ ใช้เวลานานที่สุดถึง ๒๐ ปีเต็ม เพราะฉนั้นข้อความและถ้อยคำสำนวนจึงแตกต่างกันอยู่บ้างตามวันเวลาที่ผ่านไป 

         เมื่อได้เขียนครบถ้วนแล้ว จึงเห็นว่าควรพิมพ์ออกเผยแพร่เพื่อออกไปสู่วงการศึกษา เพราะเนื้อแท้ของ "จรรยาผู้ดี" นี้คือ "ธรรมจริยา" นั่นเอง แต่แทนที่จะเรียกว่า "ธรรมจริยา" ซึ่งฟังดูออกจะเป็นหนังสือธรรมะธรรมโมมากไป จึงเรียกว่า "จรรยาผู้ดี" แทน ซึ่งคำแปลหรือความหมายก็คงใกล้เคียงกัน
          คือ "ธรรมจริยา" แปลว่า การประพฤติธรรม "จรรยาผู้ดี" แปลว่า ความประพฤติของคนดี 

         แต่ขอได้โปรดเข้าใจด้วยว่า ข้าพเจ้ามิได้ต้ังตัวเป็นครูอาจารย์ของท่านผู้ใดเลย เพียงแต่รวบรวมเอาจรรยาผู้ดี ที่ประพฤติปฎิบัติกันอยู่แล้วในวงของคนดีมารวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ เหมือนดั่งว่า เก็บดอกไม้ที่บานสะพรั่งอยู่แล้วในสวนขวัญ มาร้อยเป็นพวงมาลัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามตา ฉน้ันจรรยาผดีนี้มันเป็นเพียงอุดมคติว่าสาธุชนคนดี ควรจะประพฤติเช่นไรเท่าน้ัน คงจะไม่มีใครประพฤติปฎิบัติได้ครบถ้วนทุกข้อได้ แต่อย่างน้อยมันคงจักเป็นหลักยึดถือได้อย่างง่ายๆ สำหรับชาวบ้านทั้่วไป ไม่ต้องไปค้นคว้าหาหลักธรรมอันลึกซึ้งที่ไหนอีก  

                                                                                                    เทพ  สุนทรศารทูล

                                                                     ๑๑  พ.ย. ๒๕๒๙

    เพลงยาวนิราศสุนทรภู่





    คำนำ 


         คำว่า "เพลงยาว" นั้นโบราณแบ่งออกเป็น ๕ ประเภทคือ
    .เพลงยาวสังวาส แปลว่าเพลงยาวที่แต่งถึงคนที่อยู่ร่วมกัน เข่นเพลงยาวที่แต่งเกี้ยวกั

    ๒.เพลงยาวนิราศ แปลว่า เพลงยาวที่่แต่งเมื่อจากบ้านจากคนรักไป พรรณาถึงความรักความอาลัยไปตามทาง ถึงตำบลบ้านไหนก็พรรณาถึงคนรัก เรียกว่า "สารสั่งทุกหย่อมหญ้า"

    .เพลงยาวสุภาษิต คือเพลงยาวที่แต่งคำสุภาษิตสอนใจคน เช่น เพลงยาวถวายโอวาท เพลงยาวสุภาษิตสอนหญิง เพลงยาวโลกนิติ

    ๔.เพลงยาวพงศาวดาร เช่นเพลงยาวที่สุนทรภูแต่งพระราชพงศาวดารตามประราชประสงค์ของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

    ๕.เพลงยาวเสภา เช่นเพลงยาวเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เรียกว่า เพลงยาวเหมือนกัน แต่เรียกสั้นๆว่า เพลงเสภา (มาจากคำว่า เสพาที แปลว่า เพลงเสแสร้งแกล้งว่าเล่น)

         พระสุนทรโวหาร(ภู่ ภู่เรือหงส์) แต่งเพลงยาวไว้หลายเรื่อง ดูเหมือนว่าจะแต่งครบถ้วนเพลงยาวทุกอย่าง เพราะท่านชำนาญทางกลอนเพลงยาวมาก กล่าวคือ

    ๑. เพลงยาวสังวาส ได้แก่ เพลงยาวรำพรรณพิลาป
    ๒.เพลงยาวนิราศ ได้แก่ เพลงยาวนิราศเมืองแกลง,เพลงยาวนิราศพระบาท, เพลงยาวนิราศเมืองเพชร, เพลงยาวนิราศภูเขาทอง, เพลงยาวนิราศพระปธม รวม ๕ เรื่อง
    ส่วนเพลงยาวเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่ของท่าน เช่น นิราศพระแท่นดงรัง ของหมื่นพรหมสมพัตศร(มี มีระเสน) , นิราศวัดเจ้าฟ้า ของนายพัด ภู่เรือหงส์, นิราศอิเหนาของกรมหลวงภูวเนตรนริทร์ฤทธิ์
    ๓. เพลงยาวสุภาษิต เช่นเพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ, เพลงยาวถวายโอวาท
    ๔.เพลงยาวพงศาวดาร ๒ เรื่อง คือ เพลงยาวเรื่องเรื่องตีหงสา, เพลงยาวเรื่องตีเขมร
    เพลงยาวเสภา เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม


    ลูกศิษย์สุนทรภู่ ที่แต่งนิราศแบบครู มีอยู่หลายคน คือ
    ๑.หม่อมราโชทัย  แต่งนิราศลอนดอน
    ๒. กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ แต่งนิราศอิเหนา เรื่องนี้ไพเราะกว่าของสุนทรภู่
    ๓.หมื่นพรหมสมพัตศร  (มี มีระเสน)  แต่งนิราศพระแท่นดงรัง (เพราะเทียบเท่าสุนทรภู่ )  นิราศสุพรรณ, นิราศเดือน, นิราศถลาง
    ๔.หลวงจักรปาณี(ฤกษ์) แต่งนิราศพระปฐมเจดีย์  นิราศทวารวดี นิราศกรุงเก่า นิราศปฐวี สำนวนกลอนเทียบเท่าสุนทรภู่
    ๕.นายกลั่น พลกนิษฐ์ แต่งนิราศพระแท่นดงรัง  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘
    ๖.นายพัด ภู่เรือหงส์  แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙  แต่งเรื่องลักษณวงศ์  ตอนปลายต่อจากที่สุนทรภู่แต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
    ๗.นายภู่ จุลละภมร แต่งสุภาษิตสอนหญิง พระสมุทรคำกลอน  นกกระจาบคำกลอน จันทโครบคำกลอน กายนครคำกลอน พระรถนิราศ นายภู่  จุลละภมรคนนี้เคยบวชเณรอยู่ที่วัดพระเชตุพน ได้เป็นลูกศิษย์สุนทรภู่ ได้แต่งพระรถนิราศไว้เป็นเรื่องแรก  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘  เรื่องที่มีชื่อเสียงมากคือ สุภาษิตสอนหญิง  พระจันทโครบ แต่คนไม่เชื่อ เข้าใจว่า สุนทรภู่แต่ง  เพราะออกชื่อตัวเองไว้ว่า ชื่อภู่  เช่นเรื่องจันทโครบ ก็บอกว่า "ข้าพเจ้าผู้แต่งแมลงภู่ พึ่งริรู้เรื่องคำทำอักษร"  ทุกเรื่องมีบทไหว้ครู  ซึ่งสุนทรภู่แต่งกลอนไม่เคยไหว้ครูเลยแม้แต่เรื่องเดียว  เรื่องใดมีบทไหว้ครู ให้ตัดออกไปได้เลย 


        สุนทรภู่แต่งเพลงยาวสังวาส และเพลงยาวสุภาษิตไว้อีก ๕ เรื่องคือ
         ๑. เพลงยาวรำพรรณพิลาป แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ 
         ๒.เพลงยาวถวายโอวาท แต่งถวายเจ้าฟ้ามหามาลา  และเจ้าฟ้าอาภรณ์
         ๓. เพลงยาวสวัสดิรักษา  แต่งถวายพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
         ๔.เพลงยาวโลกนิติ แต่งเมื่อบวชอยู่วัดสระเกศ คู่กับโคลงโลกนิติ
         ๕.เพลงยาวสุบินนิมิต  แต่งตำราแก้ฝันถวายเจ้านาย


         ซึ่งเพลงยาวสังวาส และเพลงยาวสุภาษิตนี้ สมควรแยกไปกล่าวไว้อีกประเภทหนึ่ง  จะขอนำเอาเพลงยาวนิราศมากล่าวไว้โดยเฉพาะ เพื่อจะบอกว่าสุนทรภู่แต่งเพลงยาวนิราศไว้เพียง ๕ เรื่องเท่านั้น คือ
        ๑.เพลงยาวนิราศเมืองแกลง  แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐
        ๒.เพลงยาวนิราศพระบาท แต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๐
        ๓.เพลงยาวนิราศเมืองเพ็ชร แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐
        ๔.เพลงยาวนิราศภูเขาทอง แต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๗๑
        ๕.เพลงยาวนิราศพระปธมปโฑณ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕

          คำโคลงนิราศสุพรรณแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕  แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ   เป็นนิราศคำโคลงเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ยาวที่สุดในสยามวรรรคดี   สุนทรภู่ตั้งใจแต่งฝากฝีปากฝืมือไว้เพื่อลบล้างคำสบประมาทที่ว่า    สุนทรภู่เก่งแต่แต่งกลอนเท่านั้นมีตัวอย่างโคลงกลบทอยู่ ๖
       ๑.โคลงนาคปริพันํธ์
       ๒.โคลงกบเต้
       ๓.โคลงสระล้วน
       ๔.โคลงอักษรสาม
       ๕.โคลงสะกัดแคร่
       ๖.โคลงช้อยดอก
     


                            เทพ   สุนทรศารทูล 







    วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

    โคลงโลกนิติถอดความเป็นร้อยแก้ว



    โดย







    เทพ สุนทรศารทูล



    คำนำ

        โคลงโลกนิติ   เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระเดชาดิศร(พระองค์เจ้าละมั่ง) พระเจ้าลูกยาเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระเจ้าพี่ยาเธอของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอองค์นี้ ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่า ซึ่งคัดลอกมาผิดเพี้ยน ความไม่ตรงตามพระบาลี เพราะโคลงโลกนิตินี้ กวีโบราณได้แต่งขึ้นตามพระพุทธภาษิตที่ท่านนำมาจากพุทธพจน์ มาเรียบเรียงไว้เรียกว่า โลกนิติปกรณ์ 
    ต่อมากวีไม่ปรากฎนามได้แปลแล้วแต่งเป็นคำโคลง เรียกว่าโคลงโลกนิติ 

           พระนั่งเกล้าฯทรงเห็นว่าคัดลอกกันมาผิดเพี้ยนจีงทรงมอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอชำระใหม่ 


          กรมสมเด็จพระเดชาดิศร จึงทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่อีกสำนวนหนึ่ง แตกต่างจากสำนวนเดิมบ้าง (รักษาสำนวนเดิมไว้บ้าง) ถ้อยคำที่ทรงใช้จึงเป็นภาษาใหม่ขึ้นกว่าสำนวนเดิม จึงควรนับถือว่า สำนวนกวีนี้เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเดชาดิศรอีกสำนวนหนึ่ง เป็นที่นิยมในเวลาต่อมา


         เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม จึงโปรดเกล้าฯให้นำคำโคลงโลกนิตินี้จารึกแผ่นศิลาไว้ตามศาลารายรอบพระวิหารในวัดพระเชตุพน พร้อมทั้งจารไว้ในสมุดไทยด้วย มีใจความตรงกัน รวม ๔๓๕ คำโคลง

         คำโคลงโลกนิตินี้นอกจากกรมสมเด็จพระเดชาดิศร แต่งไว้เป็นคำโคลงแล้วในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ พระสุนทรโวหาร(ภู่ ภู่เรือหงส์) ก็แต่งไว้เป็นคำกลอนอีกสำนวนหนึ่ง  เรียกกันในภายหลังว่า  สุภาษิตสอนเด็ก แท้ที่จริงแล้ว คือ "เพลงยาวโลกนิติ"  มีที่มาจากโคลงโลกนิติของเก่าด้วยกัน 

       แต่โคลงโลกนิติมีคนรู้จักกันกว้างขวางกว่า  ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ 
    ๑.จารึกศิลาไว้ที่วัดพระเชตุพน
    ๒.กระทรวงธรรมการ กำหนดให้เป็นหนังสือเรียนชั้นมัธยมศึกษา

         ส่วนเพลงยาวโลกนิติของสุนทรภู่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเพราะถูกเก็บเงียบงำไว้ในสมุดไทยมาช้านาน พึ่งมีผู้พบแล้วนำมาพิมพ์เผยแพร่  โดยไม่รู้จักว่าเป็นคำกวีของท่านสุนทรภู่ แม้แต่ชื่อก็เรียกกันว่า  "สุภาษิตสอนเด็ก"   โดยไม่รู้ว่าเป็นเพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ 

        ถ้าหากเอาสำนวนคำโคลงกับสำนวนคำกลอนมาอ่านเทียบกันโดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า มีที่มาจากคำโคลงโลกนิติของเก่าด้วยกันทั้งคู่ 


    กล่าวโดยเฉพาะโคลงโลกนิติน้ันน่าอ่านมาก  เพราะเหตุว่า
     ๑. เป็นคำกวีอันไพเราะ ลึกซึ้งในคำกวี

     ๒.มีภาษาเก่าในสมัยโบราณอยู่เป็นอันมากอาจใชัศึกษาทางภาาษาศาสตร์ได้
    ๓.เป็นพุทธดำรัสตรัสสอนด้วยสัจธรรมอันวิเศษ ไม่มีใครจะโต้แย้งได้


        เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงนำมาถอดความเป็นภาษาร้อยแก้ว ให้คนในสมัยปัจจุบันเข้าใจความได้ชัดแจ้งขึ้น  เมื่ออ่านคำโคลง จะได้อรรถรสทางคำกวี อรรถรสทางภาษา    และอรรถรสทางธรรมไปพร้อมกันทั้้ง ๓ ประการ แล้วจะรู้คุณค่าของโคลงโลกนิติถ่องแท้ด้วยตนเอง 

         ส่วนคำถอดความจะไม่ตรงกับความคิดความเข้าใจของท่านผู้ใด ข้าพเจ้าก็มิได้ผูกขาดว่าเป็นความถูกต้องถ่องแท้ทั้งหมด  บทกวีที่แต่งไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ โน้น  จะให้คนในสมัยรัชกาลที่ ๙ แปลความหมายออกมาตรงกันก็คงยากที่จะเป็นไปได้  การที่ข้าพเจ้าทะนงองอาจแปลความหมาย  ถอดความออกมานี้ เพราะมีความรักทางภาษาไทยมาก ได้เคยอ่านโคลงโลกนิติมาแต่เป็นนักเรียน   รู้สึกซาบซึ้งจับใจมากจนจำได้หลายสิบคำโคลง  จึงอยากจะถอดคำออกมาเป็นภาษาร้อยแก้วว่ามีความหมายลึกซึ้งเพียงใด

         จึงขอให้ท่านผู้สนใจได้อ่านพิจารณาเอาเองด้วยใจของท่านเถิด  


                                                                เทพ  สุนทรศารทูล

    อุตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)



    คำนำ

            สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีประวัติชีวิตที่พิศดารโด่งดังมากที่สุดท่านทำอะไรแปลกกว่าคนอื่น  ใครไม่รู้ว่านั่นคือ อุตตริมนุสสธรรม ของท่าน
          คำว่า "อุตตริมนุสสธรรม" แปลว่า "สิ่งที่เหนือคนธรรมดาสามัญชน" ซึ่งมีอยู่ในพระอริยะที่บรรลุฌานสมาบัติจนได้มโนมยิทธิ (มีฤทธิ์ทางจิต) และอิทธิวิธี (แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ)
         ประวัติชีวิตพิศดารของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่จะเขียนเล่าต่อไปนี้ คือ "อุตต...ริมนุสสธรรม" (สิ่งที่เหนือมนุษย์) ของท่าน อย่าได้สงสัยแปลกใจ หรือมีวิจิกิจฉา (ยุ่งยากหัวใจ) อะไรเลย

         การแสดงอิทธิฤทธิปาฎิหาริย์ เหนือมนุษย์ เรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม พระพุทธเจ้าห้ามแสดงอวดแก่อนุปสัมปัน คือ คนที่ยังไม่ได้บวช และห้ามแสดงหลอกลวงในสิ่งที่ตนไม่มีจริง ๒อย่างนี้เท่านั้่น ที่ห้ามแสดงนอกจากนี้ไม่ห้า

         
        สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)  วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในกรุงสยาม  ไม่มีใครเทียบเท่า มีผู้เขียนประวัติของท่านไว้หลายครั้ง  พิมพ์แพร่หลายไปมากแล้วต่างคนต่างเขียนไปคนละแนว บางท่านก็เขียนไปในเชิงนวนิยาย ว่าท่านเป็นราชบุตรลับของเจ้าพระยาจักรี เมื่อสมัยไปรบพม่าทางเหนือ ซึ่งนักพงศาวดารยอมรับไม่ได้ เพราะสมเด็จท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ สมัยเมื่อพระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านไปเป็นแม่ทัพรบอแซหวุ่นกี้นั้น เป็นปีพ.ศ. ๒๓๑๘  ในสมัยกรุงธนบุรี  อีก ๒๓ ปีต่อมาสมเด็จท่านจึงเกิด  ท่านจะเป็นราชบุตรของเจ้าพระยาจักรี หรือพระพุทธยอดฟ้าไม่ได้เลย

         ที่เกิดสับสนถึงแก่สมมุติเอาว่า ท่านมีเชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์จักรี   เพราะกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านใช้ราชาศัพท์เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โตดับขันธ์ว่า   สมเด็จพระพุฒาจารย์โตสิ้นชีพิตักษัย   คำราชาศัพ์ท์ว่า สิ้นชีพิตักษัย ใช้กับหม่อมเจ้า ทำให้คนเข้าใจผิดว่าท่านต้องเป็นชั้นหม่อมเจ้า   อันทีจริงพระราชาคณะชั้นสมเด็จ ท่านเทียบเท่าชั้นหม่อมเจ้า  กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ท่านจึงใช้ราชาศัพท์ว่า สิ้นชีพิตักษัย  


         ในการเขียนเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นี้ เขียนแต่เรื่องที่น่าเชื่อถือเท่านั้น และได้เพิมเรื่องบางเรื่องที่ไม่มีคนเขียนไว้ด้วย คือ

          ๑. สุภาษิตสอนเด็ก ที่ท่านแต่งขึ้นในสมัยเป็นพระราชาคณะที่พระเทพกวี   ท่านจึงแต่งสุภาษิตคำกลอนขึ้นเพื่อให้สมกับสมณศักดิ์ของท่าน แต่เรื่องนี้ไม่มีคนเขียนถึง จึงนำมาเขียนไว้ และนำเอาสุภาษิตคำกลอนสำนวนของท่านมาลงไว้ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ประวัติของท่านสมบูรณ์ขึ้น

           
          ๒. พระเครื่องสมเด็จมณีรัตน์ *(ข้อมูลไม่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ทตามหมายเหตุด้านล่าง)                                                    
                                                         เทพ  สุนทรศารทูล






    (หมายเหตุ : เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวพระเครื่องสมเด็จ ทั้งการสร้างและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับองค์พระทุกรุ่น  อาจถูกนำไปใช้โดยไม่สุจริต และมิชอบด้วยเจตนารมณ์ของท่านผู้เขียน ที่ต้องการบอกกล่าวข้อมูลไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น  


    จึงขอเว้นการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท...ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องสมเด็จที่เคยลงหนังสือไว้ ...โดยผู้สนใจศึกษาจริง สามารถค้นคว้าอ่านได้จากหนังสือเล่มต้นฉบับสมบูรณ์ที่หอสมุดแห่งชาติต่อไป)

     

    วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

    เสด็จประพาสสมุทรสงคราม


                                                                           โดย



    เทพ  สุนทรศารทูล


             หนังสือ "เสด็จประพาสสมุทรสงคราม" เป็นหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดสมุทรสงครามที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งของนายเทพ สุนทรศารทูล  กล่าวถึงสถานที่สำคัญของจังหวัดที่เจ้านายในราชวงศ์จักรีเคยเสด็จ



    เมืองราชินิกุลบางช้าง

           เมืองสมุทรสงคราม เรียกกันในสมัยโบราณ ตามภาษาชาวบ้านว่า "เมืองแม่กลอง" เป็นเมืองสังกัดกรมท่า ขึ้นแก่เมืองราชบุรีอีกต่อหนึ่ง

       ตามตำนารราชินิกุลบางช้างว่าในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยาน้ัน ต้นตระกูลราชินิกุลบางช้าง คือ ท่านตาเจ้าพลอย กับท่านตาเจ้าแสน สองพี่น้องได้พากันมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงบางช้าง  เมืองแม่กลอง 

    จากจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศสผู้หนึงซึ่งเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาจะไปยังเมืองตะนาวศรี (ซึ่งสมัยน้ันเป็นของไทย)  ได้ผ่านเมืองสาครบุรี และเมืองแม่กลอง เมื่อพ.ศ. ๒๒๓๑   เขียนเล่าไว้ว่า  เจ้าเมืองแม่กลองได้ต้อนรับ และไปส่งจนเข้าเขตราชบุรี   เขียนเล่าว่า เมืองแม่กลองเป็นเมืองใหญ่กว่าสาครบุรี  ที่เมืองแม่กลองมีค่ายทหาร มีป้อมปืน มีกำแพงเมืองทำด้วยเสาระเนียดปักไว้เป็นระยะๆไป  และมีโซ่ร้อยระหว่างเสาน้ัน  ค่ายทหารแห่งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า "ค่ายสมุทรสงคราม"   เป็นนามพระราชทาน เจ้าเมืองก็มีนามบรรดาศักดิ์ว่า "พระแม่กลองบุรี" น่าจะมีสร้อยว่า"ศรีมหาสมุทร"
    ชื่อเมืองสมุทรสงครามจึงเป็นนามสืบเนื่องมาแต่ค่ายทหารแห่งนี้ ต้ังแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ชาวเมืองยังคงเรียกว่า "เมืองแม่กลอง" 




             ด้วยเหตุที่เมืองสมุทรสงครามเป็นเมืองราชินิกุลบางช้าง เมืองกำเนิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) พระมเหสีในรัชกาลที่่๑   เป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด)  พระมเหสีในรัชกาลที่ ๒ ด้วย


               เพราะเหตุที่เมืองสมุทรสงคราม มีประยูรญาติมาก  มีเรือกสวนไร่นา ตลอดจนเป็นเมืองเงียบสงบ ร่มเย็น  มีแม่น้ำลำคลองทั่วไป มีเรือกสวนน่าเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เรียกว่า เป็นบ้านสวนของเจ้านายก็ว่าได้ ฉนั้นจึงมักมีเจ้านายเสด็จมาทอดพระเนตรและทรงพักผ่อนที่เมืองนี้เสมอ
    ตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้นเมืองสมุทรสงครามหลายครั้ง


                คำว่า"เสด็จประพาสต้น" ก็มีกำเนิดมาจากเมืองนี้   ด้วยทรงซื้อเรือมดสี่แจวได้ที่คลองแควอ้อม (แม่น้ำอ้อม)  ลำหนึ่ง เรือลำนี้ พระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ) เป็นผู้คุมเครื่องครัวเสวย จึงรับสั่งเรียกเรือลำนั้นว่า "เรือตาอ้น"  เรียกเร็วๆ ก็เป็น "เรือต้น" จึงเป็นที่มาของการเสด็จประพาสต้นในเวลาต่อมา

               นอกจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว เจ้านายพระองค์อื่นที่เสด็จเมืองสมุทรสงครามก็มี จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (ต้นตระกูล ภาณุพันธ์) ก็เสด็จเสมอ  ทรงปลูกพระตำหนัก "ภาโณทยาน"  ไว้ข้างวัดพวงมาลัย  ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง สมุทรสงคราม หลังหนึ่ง ทรงได้สุภาพสตรีชาวเมืองสมุทรสงครามไปเป็นหม่อมห้ามคนหนึ่ง ชื่อ สุ่น ปักษีวงศา เรียกกันว่า"หม่อมสุ่น"  


               จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็โปรดเสด็จเมืองสมุทรสงครามเสมอ  เพราะพระเจ้ายายของท่านคือ เจ้าจอมมารดาสำลี เป็นราชินิกุลบางช้างมีวงศ์ญาติอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามมาก  สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงปลูกพระตำหนักเรือนไทยไว้ที่อัมพวาหลังหนึ่ง  เรียก ตำหนัก"อัมพวา"

           สมเด็จเจ้าฟ้าอาหลานสองพระองค์นี้  คือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  คนทั่วไปเรียกว่า "เสด็จวังบูรพา"  เพราะท่านอยู่ที่บริเวณที่เรียกว่าวังบูรพาทุกวันนี้  กับสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  คนทั้งหลายเรียกว่า "เสด็จวัดบางขุนพรหม"  เพราะวังท่านอยู่ที่บางขุนพรหมทุกวันนี้  ท้ังสองวังมีวงปี่พาทย์ของท่าน เรียกกันว่า "วังอัมพวา" กับ "วังบางแค" 

     ถ้าท่านเสด็จสมุทรสงครามพร้อมกันแล้ว  เสด็จวังบางขุนพรหม หลานมักจะนำเอาปี่พาทย์หลานมักจะนำเอาปีพาทย์วงอัมพวามาเล่นประชันกันที่ตำหนักภาโณทยาน   ในเวลากลางคืนเดือนหงาย น้ำขึ้นเอ่อฝั่ง  ท่านจะโปรดให้ปี่พาทย์ท้ังสองวงผลัดกันบรรเลงคนละเพลง   ทั้งสองพระองค์ก็จะเสด็จประทับฟังปี่พาทย์บรรเลงก้องท้องน้ำในเวลาเดือนหงายๆ  ว่าปี่พาทย์คืนเดือนหงาย น้ำเต็มฝั่ง  ฟังไพเราะกินใจพาฝันเป็นนักหนา  

       นอกจากเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์แล้ว  สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี สมเด็จกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์, สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จกรมหลวงชัยวรศิริวัฒน์  ล้วนแต่เคยเสด็จเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น 


    นอกจากน้ัน เมืองสมุทรสงคราม ยังเป็นเส้นทางเดินเรือในสมัยโบราณ การเดินทัพไปรบพม่าทางเรือ ต้องเดินทางผ่านเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น  เพราะฉน้ัน พระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ, กรมพระราชวังบวรมหาสุริสิงหนาท, กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ล้วนแต่เคยเสด็จผ่านเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น 

    พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยเสด็จมาอำนวยการสร้างป้อมพิฆาตข้าศึกที่เมืองนี้ 

    สถานที่สำคัญที่่เจ้านายเสด็จ ในเมืองสมุทรสงคราม

     ๑.ค่ายบางกุ้ง  เป็นค่ายสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา    เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐   พวกจีนมาตั้งจึงเรียกว่าค่ายจีนบางกุ้ง
    พ.ศ. ๒๓๑๑ พม่ายกทัพมาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง จวนจะเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยพระมหามนตรี (บุญมา)  จึงยกกองทัพเรือมาตีพม่าแตกพ่ายไปคร้ังหนึ่ง,พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เสด็จยกทัพไปตีค่ายบางแก้วเมืองราชบุรี ได้เสด็จโดยทางเรือและประทับพักพลที่ค่ายนี้อีกคร้ังหนึ่ง

    ๒. ป้อมพิฆาตข้าศึก  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑  แทนค่ายสมุทรสงคราม ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุุธยา  ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้นายพลเรือเอก พระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต)  มาอำนวยการสร้างโรงเรียนทหารเรือขึ้นแทน จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยเสด็จเยี่ยมกองทหารเรือแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔  ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๖๘  ยุบเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือแห่งนี้ ยกให้เป็นที่ทำการศาลาว่าการเมืองสมุทรสงคราม,พ.ศ.๒๕๐๕  ศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่สร้างใหม่ บริเวณนี้จึงเป็นโรงพยาบาลสมุทรสงครามในปัจจุบัน

     ๓. ศาลาว่าการเมือง  พ.ศ. ๒๔๔๗  สมัยรัชกาลที่ ๕ ต้ังอยู่ที่ริมคลองลัดจวน เหนือวัดใหญ่ปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเยี่ยม และลงพระปรมาภิโธยไว้ว่า 

    "๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ มาเที่ยว เรียบร้อยดี จุฬาลงกรณ์"

    สมุดเยี่ยมนี้ทางจังหวัดยังเก็บรักษาไว้  จังหวัดสมุทรสงครามยังมีพระแสงศัตราวุธฝักทอง ด้ามทองเก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดสมุทรสงคราม พระแสงศัตราวุธนี้เป็นของพระราชทานสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นธรรมเนียมว่า เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเมืองนั้นๆ เจ้าเมืองจะต้องนำพระแสงราชศัตราวุธนี้มาทูลถวายคืนไว้ตลอดเวลาทีเสด็จประทับอยู่ที่เมืองนั้น  เมื่อเสด็จกลับจึงพระราชทานคืนให้เป็นอาญาสิทธิ์ในการปกครองเมืองแก่เจ้าเมืองน้ันต่อไป 
    ศาลาว่าการเมืองสมุทรสงครามมีประวัติเกี่ยวกับเจ้านายเสด็จมาเยี่ยม  คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ดังมีจดบันทึกไว้ และจักได้กล่าวต่อไป) 

    ๔. ที่ว่าการอำเภออัมพวา  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แบ่งเขตการปกครองเป็นอำเภออัมพวาขึ้นใหม่ ขุนวิชิตสมรรถการ (รัตน์)  เป็นนายอำเภอ  ปลูกบ้านอยู่ตรงหัวแหลม เยื้องกับวัดท้องคุ้งปัจจุบันนี้ บ้านนายอำเภอก็ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอไปด้วย 
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารและเจ้านายองค์อื่นอีกหลายพระองค์  ได้เสด็จเหยียบบ้านขุนวิชิตสมรรถการ  นายอำเภออัมพวา ประทับเสวยพระกระยาหารที่นี่ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗ คร้้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ก็เสด็จไปเยี่ยมถึงบ้านอีกครั้งหนึ่ง 


    ๕.คลองอัมพวา พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเคยเสด็จประพาสโดยเรือแจว ทอดพระเนตรคลองนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗   เคยแวะประทับตำหนักเรือนไทยอัมพวา ของพระเจ้าลูกยาเธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นสกุล บริพัตร)  ซึ่งปลูกไว้ริมคลองนี้ สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช   ก็เคยเสด็จ   รวมทั้งเจ้านายอื่นอีกหลายพระองค์ 

    ๖. วัดอัมพวันเจติยาราม  เป็นวัดต้นตระกูลราชินิกุลบางช้าง  เป็นสถานที่ประสูติของพระบาทพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (สั้น) ทรงสร้าง, สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงบูรณะ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปรางค์และบูรณะคร้ังใหญ่  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรและบริจาคทรัพย์ ๔๐๐๐ บาท  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น และทรงปลูกต้นโพธิ์ ต้นจันทน์ ไว้เป็นที่ระลึก เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๑

    ๗. วัดเพชรสมุทรวรวิหาร มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ในโบสถ์วัดนี้ เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรสมัยสุโขทัยตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์  ชาวบ้านชาวเมืองนับถือกันมาก เจ้านายหลายพระองค์เสด็จมานมัสการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ,  สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ถวายเงิน ๘๐๐ บาทบูรณะวัดนี้, กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงิน, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และกรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ เสด็จมานมัสการ 

    ๘. วัดใหญ่ วัดนี้เจ้าพระยารัตนธิเบศ (กุน รัตนกุล)  สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒ ได้บูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ท้ังอาราม โบสถ์ก็สร้างใหม่ด้วยฝืมือช่างหลวงงดงามมาก, ในรัชกาลที่ ๕ พระยาอมรินทร์ฤาไชย (จำรัส รัตนกุล) ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง, สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ เคยเสด็จทอดพระเนตร

    ๙. วัดพวงมาลัย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จทอดพระเนตร, สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปลูกพระตำหนักภาโณทยานไว้ข้างวัดนี้ สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จประทับตำหนักนี้ 

    ๑๐. วัดดาวดึงส์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเจ้านายองค์อื่นๆเคยเสด็จทอดพระเนตรและเสวยพระกระยาหารที่ศาลาวัดนี้ น้ำที่ทำหน้าวัดนี้ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์  ใช้ในการสรงมุรธาภิเศกทุกรัชกาล  มีตำหนักของกรมหลวงอดิศรอุดมเขต ถวายปลูกไว้ที่วัดนี้ มีธรรมาสน์ของเจ้าจอมมารดาสำลี ถวายไว้ที่วัดนี้

    ๑๑. วัดประดู่  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จทอดพระเนตร    และประทับเสวยพระกระยาหารที่ศาลาวัดนี้

    ๑๒. วัดแก้วเจริญ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

    ๑๓.วัดดาวโด่ง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทอดพระเนตรการบวชนาคที่วัดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยเสด็จทอดพระเนตร  

    ๑๔.วัดจุฬามณี  เป็นวัดที่พระชนกทองและสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี เคยเสด็จสมาทานศีลอุโบสถที่วัดนี้เสมอ พระนิเวศน์เดิมของท่านก็อยู่บริเวณหลังวัดนี้  นอกจากนั้นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค)  สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด)  พระบรมราชินีในรัชกาลที่๑ ก็ประสูติ ณ.ตำหนักหลังวัดนี้ ท้ังสองพระองค์

    ๑๕. วัดเหมืองใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับหลวง และพระบรมรูปถวายไว้ที่วัดนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๖

    ๑๖. วัดบางแคใหญ่  เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) สมุหกลาโหมในรัชกาลที่ ๒ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเคยเสด็จทอดพระเนตร

    ๑๗. วัดโพธิ์งาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประทับแรมที่วัดนี้  

    ๑๘. วัดเกตการาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และประทับแรมที่วัดนี้

    ๑๙. วัดกลางเหนือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงเปิดโรงเรียนที่วัดนี้  ประทานเงินบำรุงโรงเรียน ๕๐ บาท 

    ๒๐. วัดปากน้ำ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร

    ๒๑.วัดเสด็จ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และประทับแรม ๒ คราว ได้ทรงประทานชื่อว่า วัดเสด็จ  ทรงประทานเงินสร้างอุโบสถ ๒๐๐ บาท และส่งช่างหลวงมาออกแบบอุโบสถด้วย 
    สมเด็จพระปิตุลาเจ้าสุขุมมารศรี  และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ เคยเสด็จทอดพระเนตรและประทับแรมวัดนี้ ทรงประทานเงินสร้างอุโบสถด้วย ๒๕๐ บาท 

    ๒๒.วัดบางสะแก สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เคยเสด็จทอดพระเนตร 

    ๒๓.วัดช่องลม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร 

    ๒๔. วัดบางขันแตก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงเปลียนชื่อวัดจากวัดอินทร์ประเสริฐ เป็นวัดบางขันแตก 

    ๒๕. วัดบางประจันต์นอก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร 

    ๒๖.วัดธรรมนิมิตร สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณอุฎฐายีมหาเถระ วัดมกุฎกษัตริยาราม เคยเสด็จผูกพัทธสีมาวัดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จทอดพระเนตร เมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๕๘


    ๒๗. วัดนางวัง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณอุฎฐายีมหาเถระ วัดมกุฎกษัตริยาราม เคยเสด็จยกช่อฟ้าและผูกพัทธสีมา 

    ๒๘. วัดบางน้อ  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร 

    ๒๙. สะพานพระพุทธเลิศหล้า สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ยาว ๗๑๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖