วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2558

จรรยาผู้ดี



คำนำ
     หนังสือเรื่อง "จรรยาผู้ดี" เขียนขึ้นคร้ังแรกเมื่อพ.ศ.๒๕๐๙ จำนวน ๓๗๐ ข้อ คือภาคหนึ่ง ต่อมาเมื่อพ.ศ.๒๕๒๗ ได้เขียนเพิ่มเติมอีก ๘๐ ข้อ คือ ภาคสอง และได้เขียนเพิ่มเติมขึ้่นเมื่อพ.ศ.๒๕๒๙ อีก ๑๘๙ ข้อ คือภาคสาม รวมท้ังสิ้นมี ๖๓๙ ข้อ ใช้เวลานานที่สุดถึง ๒๐ ปีเต็ม เพราะฉนั้นข้อความและถ้อยคำสำนวนจึงแตกต่างกันอยู่บ้างตามวันเวลาที่ผ่านไป 

     เมื่อได้เขียนครบถ้วนแล้ว จึงเห็นว่าควรพิมพ์ออกเผยแพร่เพื่อออกไปสู่วงการศึกษา เพราะเนื้อแท้ของ "จรรยาผู้ดี" นี้คือ "ธรรมจริยา" นั่นเอง แต่แทนที่จะเรียกว่า "ธรรมจริยา" ซึ่งฟังดูออกจะเป็นหนังสือธรรมะธรรมโมมากไป จึงเรียกว่า "จรรยาผู้ดี" แทน ซึ่งคำแปลหรือความหมายก็คงใกล้เคียงกัน
      คือ "ธรรมจริยา" แปลว่า การประพฤติธรรม "จรรยาผู้ดี" แปลว่า ความประพฤติของคนดี 

     แต่ขอได้โปรดเข้าใจด้วยว่า ข้าพเจ้ามิได้ต้ังตัวเป็นครูอาจารย์ของท่านผู้ใดเลย เพียงแต่รวบรวมเอาจรรยาผู้ดี ที่ประพฤติปฎิบัติกันอยู่แล้วในวงของคนดีมารวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่ เหมือนดั่งว่า เก็บดอกไม้ที่บานสะพรั่งอยู่แล้วในสวนขวัญ มาร้อยเป็นพวงมาลัยให้เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามตา ฉน้ันจรรยาผดีนี้มันเป็นเพียงอุดมคติว่าสาธุชนคนดี ควรจะประพฤติเช่นไรเท่าน้ัน คงจะไม่มีใครประพฤติปฎิบัติได้ครบถ้วนทุกข้อได้ แต่อย่างน้อยมันคงจักเป็นหลักยึดถือได้อย่างง่ายๆ สำหรับชาวบ้านทั้่วไป ไม่ต้องไปค้นคว้าหาหลักธรรมอันลึกซึ้งที่ไหนอีก  

                                                                                                เทพ  สุนทรศารทูล

                                                                 ๑๑  พ.ย. ๒๕๒๙

เพลงยาวนิราศสุนทรภู่





คำนำ 


     คำว่า "เพลงยาว" นั้นโบราณแบ่งออกเป็น ๕ ประเภทคือ
.เพลงยาวสังวาส แปลว่าเพลงยาวที่แต่งถึงคนที่อยู่ร่วมกัน เข่นเพลงยาวที่แต่งเกี้ยวกั

๒.เพลงยาวนิราศ แปลว่า เพลงยาวที่่แต่งเมื่อจากบ้านจากคนรักไป พรรณาถึงความรักความอาลัยไปตามทาง ถึงตำบลบ้านไหนก็พรรณาถึงคนรัก เรียกว่า "สารสั่งทุกหย่อมหญ้า"

.เพลงยาวสุภาษิต คือเพลงยาวที่แต่งคำสุภาษิตสอนใจคน เช่น เพลงยาวถวายโอวาท เพลงยาวสุภาษิตสอนหญิง เพลงยาวโลกนิติ

๔.เพลงยาวพงศาวดาร เช่นเพลงยาวที่สุนทรภูแต่งพระราชพงศาวดารตามประราชประสงค์ของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

๕.เพลงยาวเสภา เช่นเพลงยาวเสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน เรียกว่า เพลงยาวเหมือนกัน แต่เรียกสั้นๆว่า เพลงเสภา (มาจากคำว่า เสพาที แปลว่า เพลงเสแสร้งแกล้งว่าเล่น)

     พระสุนทรโวหาร(ภู่ ภู่เรือหงส์) แต่งเพลงยาวไว้หลายเรื่อง ดูเหมือนว่าจะแต่งครบถ้วนเพลงยาวทุกอย่าง เพราะท่านชำนาญทางกลอนเพลงยาวมาก กล่าวคือ

๑. เพลงยาวสังวาส ได้แก่ เพลงยาวรำพรรณพิลาป
๒.เพลงยาวนิราศ ได้แก่ เพลงยาวนิราศเมืองแกลง,เพลงยาวนิราศพระบาท, เพลงยาวนิราศเมืองเพชร, เพลงยาวนิราศภูเขาทอง, เพลงยาวนิราศพระปธม รวม ๕ เรื่อง
ส่วนเพลงยาวเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่ของท่าน เช่น นิราศพระแท่นดงรัง ของหมื่นพรหมสมพัตศร(มี มีระเสน) , นิราศวัดเจ้าฟ้า ของนายพัด ภู่เรือหงส์, นิราศอิเหนาของกรมหลวงภูวเนตรนริทร์ฤทธิ์
๓. เพลงยาวสุภาษิต เช่นเพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ, เพลงยาวถวายโอวาท
๔.เพลงยาวพงศาวดาร ๒ เรื่อง คือ เพลงยาวเรื่องเรื่องตีหงสา, เพลงยาวเรื่องตีเขมร
เพลงยาวเสภา เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม


ลูกศิษย์สุนทรภู่ ที่แต่งนิราศแบบครู มีอยู่หลายคน คือ
๑.หม่อมราโชทัย  แต่งนิราศลอนดอน
๒. กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ แต่งนิราศอิเหนา เรื่องนี้ไพเราะกว่าของสุนทรภู่
๓.หมื่นพรหมสมพัตศร  (มี มีระเสน)  แต่งนิราศพระแท่นดงรัง (เพราะเทียบเท่าสุนทรภู่ )  นิราศสุพรรณ, นิราศเดือน, นิราศถลาง
๔.หลวงจักรปาณี(ฤกษ์) แต่งนิราศพระปฐมเจดีย์  นิราศทวารวดี นิราศกรุงเก่า นิราศปฐวี สำนวนกลอนเทียบเท่าสุนทรภู่
๕.นายกลั่น พลกนิษฐ์ แต่งนิราศพระแท่นดงรัง  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๘
๖.นายพัด ภู่เรือหงส์  แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙  แต่งเรื่องลักษณวงศ์  ตอนปลายต่อจากที่สุนทรภู่แต่งถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ
๗.นายภู่ จุลละภมร แต่งสุภาษิตสอนหญิง พระสมุทรคำกลอน  นกกระจาบคำกลอน จันทโครบคำกลอน กายนครคำกลอน พระรถนิราศ นายภู่  จุลละภมรคนนี้เคยบวชเณรอยู่ที่วัดพระเชตุพน ได้เป็นลูกศิษย์สุนทรภู่ ได้แต่งพระรถนิราศไว้เป็นเรื่องแรก  เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘  เรื่องที่มีชื่อเสียงมากคือ สุภาษิตสอนหญิง  พระจันทโครบ แต่คนไม่เชื่อ เข้าใจว่า สุนทรภู่แต่ง  เพราะออกชื่อตัวเองไว้ว่า ชื่อภู่  เช่นเรื่องจันทโครบ ก็บอกว่า "ข้าพเจ้าผู้แต่งแมลงภู่ พึ่งริรู้เรื่องคำทำอักษร"  ทุกเรื่องมีบทไหว้ครู  ซึ่งสุนทรภู่แต่งกลอนไม่เคยไหว้ครูเลยแม้แต่เรื่องเดียว  เรื่องใดมีบทไหว้ครู ให้ตัดออกไปได้เลย 


    สุนทรภู่แต่งเพลงยาวสังวาส และเพลงยาวสุภาษิตไว้อีก ๕ เรื่องคือ
     ๑. เพลงยาวรำพรรณพิลาป แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ 
     ๒.เพลงยาวถวายโอวาท แต่งถวายเจ้าฟ้ามหามาลา  และเจ้าฟ้าอาภรณ์
     ๓. เพลงยาวสวัสดิรักษา  แต่งถวายพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
     ๔.เพลงยาวโลกนิติ แต่งเมื่อบวชอยู่วัดสระเกศ คู่กับโคลงโลกนิติ
     ๕.เพลงยาวสุบินนิมิต  แต่งตำราแก้ฝันถวายเจ้านาย


     ซึ่งเพลงยาวสังวาส และเพลงยาวสุภาษิตนี้ สมควรแยกไปกล่าวไว้อีกประเภทหนึ่ง  จะขอนำเอาเพลงยาวนิราศมากล่าวไว้โดยเฉพาะ เพื่อจะบอกว่าสุนทรภู่แต่งเพลงยาวนิราศไว้เพียง ๕ เรื่องเท่านั้น คือ
    ๑.เพลงยาวนิราศเมืองแกลง  แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐
    ๒.เพลงยาวนิราศพระบาท แต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๐
    ๓.เพลงยาวนิราศเมืองเพ็ชร แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๐
    ๔.เพลงยาวนิราศภูเขาทอง แต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๗๑
    ๕.เพลงยาวนิราศพระปธมปโฑณ แต่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕

      คำโคลงนิราศสุพรรณแต่งเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕  แต่งถวายกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ   เป็นนิราศคำโคลงเรื่องแรกและเรื่องเดียวที่ยาวที่สุดในสยามวรรรคดี   สุนทรภู่ตั้งใจแต่งฝากฝีปากฝืมือไว้เพื่อลบล้างคำสบประมาทที่ว่า    สุนทรภู่เก่งแต่แต่งกลอนเท่านั้นมีตัวอย่างโคลงกลบทอยู่ ๖
   ๑.โคลงนาคปริพันํธ์
   ๒.โคลงกบเต้
   ๓.โคลงสระล้วน
   ๔.โคลงอักษรสาม
   ๕.โคลงสะกัดแคร่
   ๖.โคลงช้อยดอก
 


                        เทพ   สุนทรศารทูล 







วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2558

โคลงโลกนิติถอดความเป็นร้อยแก้ว



โดย







เทพ สุนทรศารทูล



คำนำ

    โคลงโลกนิติ   เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระเดชาดิศร(พระองค์เจ้าละมั่ง) พระเจ้าลูกยาเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระเจ้าพี่ยาเธอของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอองค์นี้ ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่า ซึ่งคัดลอกมาผิดเพี้ยน ความไม่ตรงตามพระบาลี เพราะโคลงโลกนิตินี้ กวีโบราณได้แต่งขึ้นตามพระพุทธภาษิตที่ท่านนำมาจากพุทธพจน์ มาเรียบเรียงไว้เรียกว่า โลกนิติปกรณ์ 
ต่อมากวีไม่ปรากฎนามได้แปลแล้วแต่งเป็นคำโคลง เรียกว่าโคลงโลกนิติ 

       พระนั่งเกล้าฯทรงเห็นว่าคัดลอกกันมาผิดเพี้ยนจีงทรงมอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอชำระใหม่ 


      กรมสมเด็จพระเดชาดิศร จึงทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่อีกสำนวนหนึ่ง แตกต่างจากสำนวนเดิมบ้าง (รักษาสำนวนเดิมไว้บ้าง) ถ้อยคำที่ทรงใช้จึงเป็นภาษาใหม่ขึ้นกว่าสำนวนเดิม จึงควรนับถือว่า สำนวนกวีนี้เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเดชาดิศรอีกสำนวนหนึ่ง เป็นที่นิยมในเวลาต่อมา


     เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม จึงโปรดเกล้าฯให้นำคำโคลงโลกนิตินี้จารึกแผ่นศิลาไว้ตามศาลารายรอบพระวิหารในวัดพระเชตุพน พร้อมทั้งจารไว้ในสมุดไทยด้วย มีใจความตรงกัน รวม ๔๓๕ คำโคลง

     คำโคลงโลกนิตินี้นอกจากกรมสมเด็จพระเดชาดิศร แต่งไว้เป็นคำโคลงแล้วในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ พระสุนทรโวหาร(ภู่ ภู่เรือหงส์) ก็แต่งไว้เป็นคำกลอนอีกสำนวนหนึ่ง  เรียกกันในภายหลังว่า  สุภาษิตสอนเด็ก แท้ที่จริงแล้ว คือ "เพลงยาวโลกนิติ"  มีที่มาจากโคลงโลกนิติของเก่าด้วยกัน 

   แต่โคลงโลกนิติมีคนรู้จักกันกว้างขวางกว่า  ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ 
๑.จารึกศิลาไว้ที่วัดพระเชตุพน
๒.กระทรวงธรรมการ กำหนดให้เป็นหนังสือเรียนชั้นมัธยมศึกษา

     ส่วนเพลงยาวโลกนิติของสุนทรภู่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเพราะถูกเก็บเงียบงำไว้ในสมุดไทยมาช้านาน พึ่งมีผู้พบแล้วนำมาพิมพ์เผยแพร่  โดยไม่รู้จักว่าเป็นคำกวีของท่านสุนทรภู่ แม้แต่ชื่อก็เรียกกันว่า  "สุภาษิตสอนเด็ก"   โดยไม่รู้ว่าเป็นเพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ 

    ถ้าหากเอาสำนวนคำโคลงกับสำนวนคำกลอนมาอ่านเทียบกันโดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า มีที่มาจากคำโคลงโลกนิติของเก่าด้วยกันทั้งคู่ 


กล่าวโดยเฉพาะโคลงโลกนิติน้ันน่าอ่านมาก  เพราะเหตุว่า
 ๑. เป็นคำกวีอันไพเราะ ลึกซึ้งในคำกวี

 ๒.มีภาษาเก่าในสมัยโบราณอยู่เป็นอันมากอาจใชัศึกษาทางภาาษาศาสตร์ได้
๓.เป็นพุทธดำรัสตรัสสอนด้วยสัจธรรมอันวิเศษ ไม่มีใครจะโต้แย้งได้


    เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงนำมาถอดความเป็นภาษาร้อยแก้ว ให้คนในสมัยปัจจุบันเข้าใจความได้ชัดแจ้งขึ้น  เมื่ออ่านคำโคลง จะได้อรรถรสทางคำกวี อรรถรสทางภาษา    และอรรถรสทางธรรมไปพร้อมกันทั้้ง ๓ ประการ แล้วจะรู้คุณค่าของโคลงโลกนิติถ่องแท้ด้วยตนเอง 

     ส่วนคำถอดความจะไม่ตรงกับความคิดความเข้าใจของท่านผู้ใด ข้าพเจ้าก็มิได้ผูกขาดว่าเป็นความถูกต้องถ่องแท้ทั้งหมด  บทกวีที่แต่งไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ โน้น  จะให้คนในสมัยรัชกาลที่ ๙ แปลความหมายออกมาตรงกันก็คงยากที่จะเป็นไปได้  การที่ข้าพเจ้าทะนงองอาจแปลความหมาย  ถอดความออกมานี้ เพราะมีความรักทางภาษาไทยมาก ได้เคยอ่านโคลงโลกนิติมาแต่เป็นนักเรียน   รู้สึกซาบซึ้งจับใจมากจนจำได้หลายสิบคำโคลง  จึงอยากจะถอดคำออกมาเป็นภาษาร้อยแก้วว่ามีความหมายลึกซึ้งเพียงใด

     จึงขอให้ท่านผู้สนใจได้อ่านพิจารณาเอาเองด้วยใจของท่านเถิด  


                                                            เทพ  สุนทรศารทูล

อุตริมนุสสธรรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)



คำนำ

        สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีประวัติชีวิตที่พิศดารโด่งดังมากที่สุดท่านทำอะไรแปลกกว่าคนอื่น  ใครไม่รู้ว่านั่นคือ อุตตริมนุสสธรรม ของท่าน
      คำว่า "อุตตริมนุสสธรรม" แปลว่า "สิ่งที่เหนือคนธรรมดาสามัญชน" ซึ่งมีอยู่ในพระอริยะที่บรรลุฌานสมาบัติจนได้มโนมยิทธิ (มีฤทธิ์ทางจิต) และอิทธิวิธี (แสดงฤทธิ์ได้ต่างๆ)
     ประวัติชีวิตพิศดารของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่จะเขียนเล่าต่อไปนี้ คือ "อุตต...ริมนุสสธรรม" (สิ่งที่เหนือมนุษย์) ของท่าน อย่าได้สงสัยแปลกใจ หรือมีวิจิกิจฉา (ยุ่งยากหัวใจ) อะไรเลย

     การแสดงอิทธิฤทธิปาฎิหาริย์ เหนือมนุษย์ เรียกว่า อวดอุตตริมนุสสธรรม พระพุทธเจ้าห้ามแสดงอวดแก่อนุปสัมปัน คือ คนที่ยังไม่ได้บวช และห้ามแสดงหลอกลวงในสิ่งที่ตนไม่มีจริง ๒อย่างนี้เท่านั้่น ที่ห้ามแสดงนอกจากนี้ไม่ห้า

     
    สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)  วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในกรุงสยาม  ไม่มีใครเทียบเท่า มีผู้เขียนประวัติของท่านไว้หลายครั้ง  พิมพ์แพร่หลายไปมากแล้วต่างคนต่างเขียนไปคนละแนว บางท่านก็เขียนไปในเชิงนวนิยาย ว่าท่านเป็นราชบุตรลับของเจ้าพระยาจักรี เมื่อสมัยไปรบพม่าทางเหนือ ซึ่งนักพงศาวดารยอมรับไม่ได้ เพราะสมเด็จท่านเกิดในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ สมัยเมื่อพระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านไปเป็นแม่ทัพรบอแซหวุ่นกี้นั้น เป็นปีพ.ศ. ๒๓๑๘  ในสมัยกรุงธนบุรี  อีก ๒๓ ปีต่อมาสมเด็จท่านจึงเกิด  ท่านจะเป็นราชบุตรของเจ้าพระยาจักรี หรือพระพุทธยอดฟ้าไม่ได้เลย

     ที่เกิดสับสนถึงแก่สมมุติเอาว่า ท่านมีเชื้อสายเจ้านายในราชวงศ์จักรี   เพราะกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ท่านใช้ราชาศัพท์เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์โตดับขันธ์ว่า   สมเด็จพระพุฒาจารย์โตสิ้นชีพิตักษัย   คำราชาศัพ์ท์ว่า สิ้นชีพิตักษัย ใช้กับหม่อมเจ้า ทำให้คนเข้าใจผิดว่าท่านต้องเป็นชั้นหม่อมเจ้า   อันทีจริงพระราชาคณะชั้นสมเด็จ ท่านเทียบเท่าชั้นหม่อมเจ้า  กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  ท่านจึงใช้ราชาศัพท์ว่า สิ้นชีพิตักษัย  


     ในการเขียนเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) นี้ เขียนแต่เรื่องที่น่าเชื่อถือเท่านั้น และได้เพิมเรื่องบางเรื่องที่ไม่มีคนเขียนไว้ด้วย คือ

      ๑. สุภาษิตสอนเด็ก ที่ท่านแต่งขึ้นในสมัยเป็นพระราชาคณะที่พระเทพกวี   ท่านจึงแต่งสุภาษิตคำกลอนขึ้นเพื่อให้สมกับสมณศักดิ์ของท่าน แต่เรื่องนี้ไม่มีคนเขียนถึง จึงนำมาเขียนไว้ และนำเอาสุภาษิตคำกลอนสำนวนของท่านมาลงไว้ในหนังสือเล่มนี้ เพื่อให้ประวัติของท่านสมบูรณ์ขึ้น

       
      ๒. พระเครื่องสมเด็จมณีรัตน์ *(ข้อมูลไม่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ทตามหมายเหตุด้านล่าง)                                                    
                                                     เทพ  สุนทรศารทูล






(หมายเหตุ : เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวพระเครื่องสมเด็จ ทั้งการสร้างและรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับองค์พระทุกรุ่น  อาจถูกนำไปใช้โดยไม่สุจริต และมิชอบด้วยเจตนารมณ์ของท่านผู้เขียน ที่ต้องการบอกกล่าวข้อมูลไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น  


จึงขอเว้นการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ท...ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องพระเครื่องสมเด็จที่เคยลงหนังสือไว้ ...โดยผู้สนใจศึกษาจริง สามารถค้นคว้าอ่านได้จากหนังสือเล่มต้นฉบับสมบูรณ์ที่หอสมุดแห่งชาติต่อไป)

 

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

เสด็จประพาสสมุทรสงคราม


                                                                       โดย



เทพ  สุนทรศารทูล


         หนังสือ "เสด็จประพาสสมุทรสงคราม" เป็นหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดสมุทรสงครามที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งของนายเทพ สุนทรศารทูล  กล่าวถึงสถานที่สำคัญของจังหวัดที่เจ้านายในราชวงศ์จักรีเคยเสด็จ



เมืองราชินิกุลบางช้าง

       เมืองสมุทรสงคราม เรียกกันในสมัยโบราณ ตามภาษาชาวบ้านว่า "เมืองแม่กลอง" เป็นเมืองสังกัดกรมท่า ขึ้นแก่เมืองราชบุรีอีกต่อหนึ่ง

   ตามตำนารราชินิกุลบางช้างว่าในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยาน้ัน ต้นตระกูลราชินิกุลบางช้าง คือ ท่านตาเจ้าพลอย กับท่านตาเจ้าแสน สองพี่น้องได้พากันมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงบางช้าง  เมืองแม่กลอง 

จากจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศสผู้หนึงซึ่งเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาจะไปยังเมืองตะนาวศรี (ซึ่งสมัยน้ันเป็นของไทย)  ได้ผ่านเมืองสาครบุรี และเมืองแม่กลอง เมื่อพ.ศ. ๒๒๓๑   เขียนเล่าไว้ว่า  เจ้าเมืองแม่กลองได้ต้อนรับ และไปส่งจนเข้าเขตราชบุรี   เขียนเล่าว่า เมืองแม่กลองเป็นเมืองใหญ่กว่าสาครบุรี  ที่เมืองแม่กลองมีค่ายทหาร มีป้อมปืน มีกำแพงเมืองทำด้วยเสาระเนียดปักไว้เป็นระยะๆไป  และมีโซ่ร้อยระหว่างเสาน้ัน  ค่ายทหารแห่งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า "ค่ายสมุทรสงคราม"   เป็นนามพระราชทาน เจ้าเมืองก็มีนามบรรดาศักดิ์ว่า "พระแม่กลองบุรี" น่าจะมีสร้อยว่า"ศรีมหาสมุทร"
ชื่อเมืองสมุทรสงครามจึงเป็นนามสืบเนื่องมาแต่ค่ายทหารแห่งนี้ ต้ังแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ชาวเมืองยังคงเรียกว่า "เมืองแม่กลอง" 




         ด้วยเหตุที่เมืองสมุทรสงครามเป็นเมืองราชินิกุลบางช้าง เมืองกำเนิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) พระมเหสีในรัชกาลที่่๑   เป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  และเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด)  พระมเหสีในรัชกาลที่ ๒ ด้วย


           เพราะเหตุที่เมืองสมุทรสงคราม มีประยูรญาติมาก  มีเรือกสวนไร่นา ตลอดจนเป็นเมืองเงียบสงบ ร่มเย็น  มีแม่น้ำลำคลองทั่วไป มีเรือกสวนน่าเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เรียกว่า เป็นบ้านสวนของเจ้านายก็ว่าได้ ฉนั้นจึงมักมีเจ้านายเสด็จมาทอดพระเนตรและทรงพักผ่อนที่เมืองนี้เสมอ
ตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้นเมืองสมุทรสงครามหลายครั้ง


            คำว่า"เสด็จประพาสต้น" ก็มีกำเนิดมาจากเมืองนี้   ด้วยทรงซื้อเรือมดสี่แจวได้ที่คลองแควอ้อม (แม่น้ำอ้อม)  ลำหนึ่ง เรือลำนี้ พระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ) เป็นผู้คุมเครื่องครัวเสวย จึงรับสั่งเรียกเรือลำนั้นว่า "เรือตาอ้น"  เรียกเร็วๆ ก็เป็น "เรือต้น" จึงเป็นที่มาของการเสด็จประพาสต้นในเวลาต่อมา

           นอกจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว เจ้านายพระองค์อื่นที่เสด็จเมืองสมุทรสงครามก็มี จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (ต้นตระกูล ภาณุพันธ์) ก็เสด็จเสมอ  ทรงปลูกพระตำหนัก "ภาโณทยาน"  ไว้ข้างวัดพวงมาลัย  ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง สมุทรสงคราม หลังหนึ่ง ทรงได้สุภาพสตรีชาวเมืองสมุทรสงครามไปเป็นหม่อมห้ามคนหนึ่ง ชื่อ สุ่น ปักษีวงศา เรียกกันว่า"หม่อมสุ่น"  


           จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็โปรดเสด็จเมืองสมุทรสงครามเสมอ  เพราะพระเจ้ายายของท่านคือ เจ้าจอมมารดาสำลี เป็นราชินิกุลบางช้างมีวงศ์ญาติอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามมาก  สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงปลูกพระตำหนักเรือนไทยไว้ที่อัมพวาหลังหนึ่ง  เรียก ตำหนัก"อัมพวา"

       สมเด็จเจ้าฟ้าอาหลานสองพระองค์นี้  คือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  คนทั่วไปเรียกว่า "เสด็จวังบูรพา"  เพราะท่านอยู่ที่บริเวณที่เรียกว่าวังบูรพาทุกวันนี้  กับสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต  คนทั้งหลายเรียกว่า "เสด็จวัดบางขุนพรหม"  เพราะวังท่านอยู่ที่บางขุนพรหมทุกวันนี้  ท้ังสองวังมีวงปี่พาทย์ของท่าน เรียกกันว่า "วังอัมพวา" กับ "วังบางแค" 

 ถ้าท่านเสด็จสมุทรสงครามพร้อมกันแล้ว  เสด็จวังบางขุนพรหม หลานมักจะนำเอาปี่พาทย์หลานมักจะนำเอาปีพาทย์วงอัมพวามาเล่นประชันกันที่ตำหนักภาโณทยาน   ในเวลากลางคืนเดือนหงาย น้ำขึ้นเอ่อฝั่ง  ท่านจะโปรดให้ปี่พาทย์ท้ังสองวงผลัดกันบรรเลงคนละเพลง   ทั้งสองพระองค์ก็จะเสด็จประทับฟังปี่พาทย์บรรเลงก้องท้องน้ำในเวลาเดือนหงายๆ  ว่าปี่พาทย์คืนเดือนหงาย น้ำเต็มฝั่ง  ฟังไพเราะกินใจพาฝันเป็นนักหนา  

   นอกจากเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์แล้ว  สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี สมเด็จกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์, สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จกรมหลวงชัยวรศิริวัฒน์  ล้วนแต่เคยเสด็จเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น 


นอกจากน้ัน เมืองสมุทรสงคราม ยังเป็นเส้นทางเดินเรือในสมัยโบราณ การเดินทัพไปรบพม่าทางเรือ ต้องเดินทางผ่านเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น  เพราะฉน้ัน พระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ, กรมพระราชวังบวรมหาสุริสิงหนาท, กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ล้วนแต่เคยเสด็จผ่านเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น 

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยเสด็จมาอำนวยการสร้างป้อมพิฆาตข้าศึกที่เมืองนี้ 

สถานที่สำคัญที่่เจ้านายเสด็จ ในเมืองสมุทรสงคราม

 ๑.ค่ายบางกุ้ง  เป็นค่ายสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา    เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐   พวกจีนมาตั้งจึงเรียกว่าค่ายจีนบางกุ้ง
พ.ศ. ๒๓๑๑ พม่ายกทัพมาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง จวนจะเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยพระมหามนตรี (บุญมา)  จึงยกกองทัพเรือมาตีพม่าแตกพ่ายไปคร้ังหนึ่ง,พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เสด็จยกทัพไปตีค่ายบางแก้วเมืองราชบุรี ได้เสด็จโดยทางเรือและประทับพักพลที่ค่ายนี้อีกคร้ังหนึ่ง

๒. ป้อมพิฆาตข้าศึก  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑  แทนค่ายสมุทรสงคราม ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุุธยา  ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้นายพลเรือเอก พระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต)  มาอำนวยการสร้างโรงเรียนทหารเรือขึ้นแทน จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยเสด็จเยี่ยมกองทหารเรือแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔  ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๖๘  ยุบเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือแห่งนี้ ยกให้เป็นที่ทำการศาลาว่าการเมืองสมุทรสงคราม,พ.ศ.๒๕๐๕  ศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่สร้างใหม่ บริเวณนี้จึงเป็นโรงพยาบาลสมุทรสงครามในปัจจุบัน

 ๓. ศาลาว่าการเมือง  พ.ศ. ๒๔๔๗  สมัยรัชกาลที่ ๕ ต้ังอยู่ที่ริมคลองลัดจวน เหนือวัดใหญ่ปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเยี่ยม และลงพระปรมาภิโธยไว้ว่า 

"๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ มาเที่ยว เรียบร้อยดี จุฬาลงกรณ์"

สมุดเยี่ยมนี้ทางจังหวัดยังเก็บรักษาไว้  จังหวัดสมุทรสงครามยังมีพระแสงศัตราวุธฝักทอง ด้ามทองเก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดสมุทรสงคราม พระแสงศัตราวุธนี้เป็นของพระราชทานสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นธรรมเนียมว่า เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเมืองนั้นๆ เจ้าเมืองจะต้องนำพระแสงราชศัตราวุธนี้มาทูลถวายคืนไว้ตลอดเวลาทีเสด็จประทับอยู่ที่เมืองนั้น  เมื่อเสด็จกลับจึงพระราชทานคืนให้เป็นอาญาสิทธิ์ในการปกครองเมืองแก่เจ้าเมืองน้ันต่อไป 
ศาลาว่าการเมืองสมุทรสงครามมีประวัติเกี่ยวกับเจ้านายเสด็จมาเยี่ยม  คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ดังมีจดบันทึกไว้ และจักได้กล่าวต่อไป) 

๔. ที่ว่าการอำเภออัมพวา  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แบ่งเขตการปกครองเป็นอำเภออัมพวาขึ้นใหม่ ขุนวิชิตสมรรถการ (รัตน์)  เป็นนายอำเภอ  ปลูกบ้านอยู่ตรงหัวแหลม เยื้องกับวัดท้องคุ้งปัจจุบันนี้ บ้านนายอำเภอก็ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอไปด้วย 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารและเจ้านายองค์อื่นอีกหลายพระองค์  ได้เสด็จเหยียบบ้านขุนวิชิตสมรรถการ  นายอำเภออัมพวา ประทับเสวยพระกระยาหารที่นี่ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗ คร้้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ก็เสด็จไปเยี่ยมถึงบ้านอีกครั้งหนึ่ง 


๕.คลองอัมพวา พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเคยเสด็จประพาสโดยเรือแจว ทอดพระเนตรคลองนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗   เคยแวะประทับตำหนักเรือนไทยอัมพวา ของพระเจ้าลูกยาเธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นสกุล บริพัตร)  ซึ่งปลูกไว้ริมคลองนี้ สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช   ก็เคยเสด็จ   รวมทั้งเจ้านายอื่นอีกหลายพระองค์ 

๖. วัดอัมพวันเจติยาราม  เป็นวัดต้นตระกูลราชินิกุลบางช้าง  เป็นสถานที่ประสูติของพระบาทพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (สั้น) ทรงสร้าง, สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงบูรณะ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปรางค์และบูรณะคร้ังใหญ่  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรและบริจาคทรัพย์ ๔๐๐๐ บาท  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น และทรงปลูกต้นโพธิ์ ต้นจันทน์ ไว้เป็นที่ระลึก เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๑

๗. วัดเพชรสมุทรวรวิหาร มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ในโบสถ์วัดนี้ เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรสมัยสุโขทัยตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์  ชาวบ้านชาวเมืองนับถือกันมาก เจ้านายหลายพระองค์เสด็จมานมัสการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ,  สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ถวายเงิน ๘๐๐ บาทบูรณะวัดนี้, กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงิน, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และกรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ เสด็จมานมัสการ 

๘. วัดใหญ่ วัดนี้เจ้าพระยารัตนธิเบศ (กุน รัตนกุล)  สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒ ได้บูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ท้ังอาราม โบสถ์ก็สร้างใหม่ด้วยฝืมือช่างหลวงงดงามมาก, ในรัชกาลที่ ๕ พระยาอมรินทร์ฤาไชย (จำรัส รัตนกุล) ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง, สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ เคยเสด็จทอดพระเนตร

๙. วัดพวงมาลัย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จทอดพระเนตร, สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปลูกพระตำหนักภาโณทยานไว้ข้างวัดนี้ สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จประทับตำหนักนี้ 

๑๐. วัดดาวดึงส์  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเจ้านายองค์อื่นๆเคยเสด็จทอดพระเนตรและเสวยพระกระยาหารที่ศาลาวัดนี้ น้ำที่ทำหน้าวัดนี้ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์  ใช้ในการสรงมุรธาภิเศกทุกรัชกาล  มีตำหนักของกรมหลวงอดิศรอุดมเขต ถวายปลูกไว้ที่วัดนี้ มีธรรมาสน์ของเจ้าจอมมารดาสำลี ถวายไว้ที่วัดนี้

๑๑. วัดประดู่  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จทอดพระเนตร    และประทับเสวยพระกระยาหารที่ศาลาวัดนี้

๑๒. วัดแก้วเจริญ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

๑๓.วัดดาวโด่ง  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทอดพระเนตรการบวชนาคที่วัดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยเสด็จทอดพระเนตร  

๑๔.วัดจุฬามณี  เป็นวัดที่พระชนกทองและสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี เคยเสด็จสมาทานศีลอุโบสถที่วัดนี้เสมอ พระนิเวศน์เดิมของท่านก็อยู่บริเวณหลังวัดนี้  นอกจากนั้นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค)  สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด)  พระบรมราชินีในรัชกาลที่๑ ก็ประสูติ ณ.ตำหนักหลังวัดนี้ ท้ังสองพระองค์

๑๕. วัดเหมืองใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับหลวง และพระบรมรูปถวายไว้ที่วัดนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๖

๑๖. วัดบางแคใหญ่  เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) สมุหกลาโหมในรัชกาลที่ ๒ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเคยเสด็จทอดพระเนตร

๑๗. วัดโพธิ์งาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประทับแรมที่วัดนี้  

๑๘. วัดเกตการาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และประทับแรมที่วัดนี้

๑๙. วัดกลางเหนือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงเปิดโรงเรียนที่วัดนี้  ประทานเงินบำรุงโรงเรียน ๕๐ บาท 

๒๐. วัดปากน้ำ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร

๒๑.วัดเสด็จ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และประทับแรม ๒ คราว ได้ทรงประทานชื่อว่า วัดเสด็จ  ทรงประทานเงินสร้างอุโบสถ ๒๐๐ บาท และส่งช่างหลวงมาออกแบบอุโบสถด้วย 
สมเด็จพระปิตุลาเจ้าสุขุมมารศรี  และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ เคยเสด็จทอดพระเนตรและประทับแรมวัดนี้ ทรงประทานเงินสร้างอุโบสถด้วย ๒๕๐ บาท 

๒๒.วัดบางสะแก สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เคยเสด็จทอดพระเนตร 

๒๓.วัดช่องลม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร 

๒๔. วัดบางขันแตก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงเปลียนชื่อวัดจากวัดอินทร์ประเสริฐ เป็นวัดบางขันแตก 

๒๕. วัดบางประจันต์นอก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร 

๒๖.วัดธรรมนิมิตร สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณอุฎฐายีมหาเถระ วัดมกุฎกษัตริยาราม เคยเสด็จผูกพัทธสีมาวัดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จทอดพระเนตร เมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๕๘


๒๗. วัดนางวัง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณอุฎฐายีมหาเถระ วัดมกุฎกษัตริยาราม เคยเสด็จยกช่อฟ้าและผูกพัทธสีมา 

๒๘. วัดบางน้อ  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร 

๒๙. สะพานพระพุทธเลิศหล้า สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ยาว ๗๑๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖  
  













วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

กาพย์พระมาลัย



พระมาลัยเถระ 



โดย

                                                            เทพ สุนทรศารทูล

                                           กาพย์พระมาลัย
                                          
                                                  คำนำ
                "กาพย์พระมาลัย" โบราณเรียกพระมาลัยคำสวด หรือพระมาลัยกลอนสวด เพราะท่านอ่านสวดเป็นทำนองเสนาะ มีปี่พาทย์รับเป็นตอนๆไป การสวดพระมาลัยนี้เพื่อสั่งสอนอบรมประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ เป็นการเผยแพร่คำสอนในพระพุทธศาสนาที่แยบยล ได้รับรสไพเราะกินใจ




พระมาลัยพบพระศรีอารย์
     ข้าพเจ้าเป็นเด็กวัดตาก้อง นครปฐม ที่วัดมีการสวดพระมาลัยกลอนสวดอยู่เสมอ เป็นการสวดทำนองเสนาะ ฟังแล้วไพเราะกินใจทำให้เสียงสวดน้ันก้องอยู่ในโสตประสาทไม่ลืมและคิดเสมอว่าจะค้นคว้าเรื่องพระมาลัยกลอนสวดนี้

      ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  ได้พบหนังสือเล่มหนึ่งในวัดมหาธาตุ  ชื่อ "คำสวดพระมาลัย" พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูศึลามุข (จันทร์ กิตติสิริ)  ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ว่าเป็นฉบับของนายสุเมธ (บุญช่วย สถาวรสนิท) คัดลอกมาจากวัดราชาธิวาส  แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นคำประพันธ์ชนิดใด   การเรียงพิมพ์เป็นแบบเก่า ไม่ได้เรียงพิมพ์ตามแบบฉันทลักษณ์ที่นิยมกัน  เพราะคัดลอกกันต่อๆมา 

    ต่อมาก็พบหนังสืออีกเล่มหนึ่งชือว่า "จรัมบุญ" เขียนโดยท่าน "ศรีวัน"  พิมพ์แจกในงานศพของนางฉาย ประเสริฐสารบรรณ  ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๔  
   ท่านศรีวัน นี้คือสมเด็จพระอริยวงศาคนญาณ (ปุ่น)  พระเชตุพนฯ  
   หนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องพระมาลัยไว้ และมีรูปภาพจากหนังสือพระมาลัยมาลงไว้ด้วย 

     ข้าพเจ้ารู้สีกว่าเทวดาดลใจให้ข้าพเจ้าพบหนังสือที่ต้องประสงค์แล้วในการศึกษาเรื่องพระมาลัย  ข้าพเจ้าจึงลงมือชำระหนังสือพระมาลัยกลอนสวดเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  ได้ตรวจสอบชำระเป็นเวลา ๑๔  วัน ชำระจบ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒

  เหตุที่ชำระได้เสร็จเร็วเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้ามีความชำนาญในการแต่งกาพย์อยู่พอสมควร เคยแต่งกาพย์ขนาดยาวมาแล้ว คือ กาพย์พญากงพญาภาณ    เมื่ออ่านคำกาพย์จึงทราบได้ในขณะนั้นเองว่า กาพย์นี้ชื่ออะไร ถูกต้องตามฉันทลักษณ์หรือไม่ ขาดเกินอยู่อย่างไร คำนั้นผิดเพี้ยนอย่างไร  ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร 
   ข้าพเจ้าเคยชำระกาพย์สังขศิลปชัย บทกวีนิพนธ์คร้ังกรุงศรีอยุธยามาแล้วเรื่องหนึ่ง  เมื่ออ่านคำกาพย์พระมาลัย จึงทราบได้โดยง่าย 

     หลักสำคัญที่ข้าพเจ้ายึดถือในการชำระกาพย์พระมาลัยนี้ คือ
     ๑.เรียงคำให้ถูกต้องตามแบบแผนของกาพย์แบบนั้น
     ๒. บอกชื่อกาพย์ไว้ด้วยว่าชื่อกาพย์อะไร  จากต้นฉบับที่ไม่บอกไว้ หรือบอกไม่ตรง
     ๓. คงรูปถ้อยคำสำนวนเดิมของท่านไว้  ไม่เปลี่ยนแปลงเอาตามความคิดเห็นของตนเอง แม้คำบางคำจะเก่า  เข้าใจยาก 
     ๔. ถ้อยคำที่เห็นว่าเกินแบบแผนของกาพย์ชนิดนั้น ก็ตัดออกเสียบ้าง  เท่าที่เห็นว่าไม่เสียความ  แต่ที่จำเป็นก็คงไว้  แม้ว่าจะเกินคำกาพย์น้ันๆ 
    ๕. คำที่ตัดมาตกหล่น ไม่ครบคณะของคำกาพย์น้ันๆ  ก็สรรค์หาคำมาซ่อมให้ครบคณะ โดยไม่เสียความ  แต่ได้ความชัดเจนขึ้น 
    ๖. คำที่ไม่แน่ใจว่าคำเดิมเป็นอย่างไร ทั้งที่ไม่เข้าใจ ก็คงรูปคำน้ันไว้ 
     การชำระนี้ แน่นอนว่า รูปโฉมคงเปลียนไปบ้าง ไม่เหมือนฉบับเดิมทั้งสิ้น แต่ข้าพเจ้าขอรับรองด้วยจิตสำนึกของนักวรรณคดีว่า จะไม่ทำให้วรรณคดีชองชาติอันสำคัญเสียหายไปแม้แต่น้อย เพราะข้าพเจ้าทราบดีว่า นักกวีย่อมเลือกสรรคำมาได้อย่างดีที่สุดแล้ว 
  
   การชำระสะสางวรรณคดีโบราณก็ดี  การบูรณะปฎิสังขรณ์โบราณวัตถุก็ดี  มีคนทำอยู่  ๓ อย่างคือ
๑. อนุรักษ์ คือพยายามรักษาของเก่าไว้ให้ดีที่สุด ไม่เปลี่ยนแปลงเลย
๒.อภิรักษ์ คือ การชำระตบแต่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม  ถ้าทราบว่าของเดิมเป็นอย่างไรก็ซ่อมให้ดีขึ้นเท่าของเดิม  ที่ยังไม่ชำรุดเสียหาย
๓. ปฎิรักษ์( ศัพท์ที่ข้าพเจ้าคิดขึ้น) คือการรือของเก่าแล้วสร้างขึ้นใหม่
การชำระของข้าพเจ้านี้   ขอรับรองด้วยเกียรติของนักวรรณคดีว่ ทำโดยวิธีที่๑ และวิธีที่๓  ปนกัน


     กลอนสวดพระมาลัยนี้  ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ก็ต้องเรียกว่า "คำกาพย์พระมาลัย"  เพราะนักกวีท่านแต่งเป็นคำกาพย์  คำกาพย์นี้เป็นที่นิยมแต่งและนิยมอ่านของคนไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตัวอย่างเช่น  คำกาพย์สังข์ศิลปชัย หรือ "กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลปชัย"  นั้นมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  

     คำกาพย์นี้เมื่อนำมาสวดเป็นทำนองเสนาะแล้วก็ฟังไพเราะเสนาะโสต  นิยมกันมากจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีสวดกันที่พระระเบียงของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในพระบรมมหาราชวัง  
    บรรดาลูกเจ้านายขุนนางมาหัดสวดกัน  ที่เรียกว่า "สวดโอ้เอ้วิหารราย"  นั่นแหละ  พึ่งมาเลิกร้างไปในสมัยกรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เป็นพระสังฆราชในเวลาต่อมา  ท่านเห็นว่าการที่พระสวดแหล่กันนั้น  เป็นเหมือน "พระร้องเพลง" เสียสมณรูป จึงให้เลิกกันเสีย ความนิยมจึงจืดจางไปต้ังแต่นั้นมา  
     อันที่จริงการร้องเพลงสวดนี้มีมาในพระพุทธศาสนามานานกว่าหกร้อยปีแล้ว  และเรื่องที่ท่านสวดมากที่สุดมีอยู่สองเรื่อง คือ เรื่อง พระเวสสันดรชาดก ที่เรียกกันว่า มหาชาติ(ชาติใหญ่) เรื่องหนึ่งคือ พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ที่จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า   เรื่องที่สองที่นิยมสวดคู่กันมาคือเรื่อง "กาพย์พระมาลัย"



พระมาลัยไปเมืองสวรรค์


พระมาลัยไปนรก

        ที่เป็นเรื่องเล่าว่า  พระมาลัยเทพเถร พระอรหันต์แห่งเมืองลังกา  ท่านมีอิทธิฤทธาปาฎิหาริย์แบบพระโมคัลลานะ ในสมัยพุทธกาล  คือท่านสามารถเหาะไปเยี่ยมนรก สวรรค์ได้ แล้วกลับมาเล่าให้ญาติโยมฟังว่า   ท่านได้พบเปรตในนรก ในชื่อนั้นๆ เป็นญาติพี่น้องลูกหลานพ่อแม่ของคนนั้น  กำลังได้รับทุกข์เวทนาอยู่ในนรก  สั่งมาให้ลูกเมียทำบุญอุทิศไปให้ด้วย 

     ท่านเล่าถูกต้องตรงกับความจริงหมดว่า เมื่อเป็นคนอยู่ในโลกมนุษย์นี้เปรตตนนั้นทำบาปกรรมอันใดไว้ จะไม่เชื่อท่านก็ไม่ได้  เพราะท่านบอกถูกต้องหมด ทำให้คนเลื่อมใสศรัทธาทำบุญอุทิศกุศลส่งไปให้เปรตในโลกนรก 
    ต่อมาท่านได้รับดอกบัวแปดดอกที่ยาจกคนหนึ่งถวายท่าน พระมาลัยจึงนำดอกบัวน้ันไปบูชาพระเจดีย์ พระจุฬามณีในดาวดึงส์ พระมาลัยจึงได้ไปพบเทวดา ที่มาบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้าในดาวดึงส์กันมากมาย 
        
    ในที่สุดท่านได้พบพระศรีอารย์เสด็จมาบูชาพระเกศธาตุที่พระุจุฬามณี  พระมาลัยถามว่า เมื่อไรจะเสด็จลงไปประกาศธรรมสั่งสอนชาวโลก 
    พระศรีอารย์ก็ตรัสว่า  จะลงไปประกาศธรรมเมื่อสิ้นศาสนาพระสมณโคดมแล้ว  และเมื่อชาวโลกไม่เบียดเบียนกัน คนในศาสนาของท่านนั้นจะมีความสุขเหมือนเทพยดาในเมืองแมนแดนสวรรค์  จะไม่มีทุกข์ ไม่ยากจน ไม่มีโรคภัย คนหูหนวก ตาบอด บ้า ใบ้ คนเป็นโรคเรื้อนโรคฝี จะไม่เกิดมีในศาสนาพระศรีอารย์เลย  ทกคนจะมีรูปร่างสวยงามเหมือนกันหมด มองดูไม่รู้ว่าเป็นใคร 
     พระมาลัยถามว่า ทำบุญอย่างไร จึงได้ไปบังเกิดในศาสนาพระศรีอารย์  พระศรีอารย์ตรัสตอบว่า  ให้ทำทาน รักษาศีล กระทำสมณภาวนา  ให้ถวายอาหาร ไตรจีวร หยูกยา  สร้างวัดวาอารามให้พระสงฆ์อยู่เป็นสุข ไม่ให้ผิดศีลห้า 


          พระมาลัยคำกาพย์นี้ ข้าพเจ้าค่อนข้างมั่นใจมากว่า เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชมี วัดมหาธาตุ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่๒ โดยแปลมาจากฎีกาเรื่องพระมาลัยที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา 

       ที่สันนิษฐานดังนี้ เพราะในสมัยที่ท่านยังเป็นสมเด็จพระวันรัตน์ วัดราชบูรณะ  ท่านได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราชสุก วัดมหาธาตุ ให้จัดพระสงฆ์วัดราชบูรณะ และพระสงฆ์วัดมหาธาตุ เป็นสมณทูตไปเจริญทางพระศาสนาในประเทศศรีลังกา   เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่ไปประเทศศรีลังกาสมัยกรุงเทพฯ
        พระสงฆ์คณะนี้คงจะได้อรรถกถาบาลีเรื่องพระมาลัยเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง  อรรถคาถาที่ได้มาในสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ คงจะสาปสูญไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ โน้นแล้ว 



     เมื่อได้อรรถกถาเรื่องพระมาลัยมาใหม่ สมเด็จพระสังฆราชมี จึงได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำกาพย์ในรัชกาลที่๒  ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มาสถิตย์อยู่วัดมหาธาตุแล้ว ท่านจึงให้เจ้าคณะสงฆ์สวดพระมาลัยคำกาพย์นี้ คู่กับการเทศน์แหล่มหาชาติในงานสงกรานต์ 
     ที่่สันนิษฐานเช่นนี้ เพราะปรากฎว่า พระสังฆราชองค์นี้ ท่านเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา  ท่านปฎิบัตกิจในพระศาสนาไว้หลายอย่างในสมัยที่ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราช 
    และขอเล่าไว้ตรงนี้ว่า ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังชำระเรื่องพระมาลัยคำกาพย์อยู่นั้น  ได้นิมิตพบสมเด็จพระสังฆราช และได้สนทนากันถึงเรื่องพระมาลัยคำกาพย์ด้วย 

     ข้าพเจ้าหวังว่า พระมาลัยคำกาพย์นี้ คงจะเป็นที่สนใจของนักวรรรณคดีรวมท้ังนักภาษาและนักการศาสนา  ผู้ที่รักวัฒนธรรมไทยและเอกลักษณ์ของไทยก็คงจะสนใจด้วย  เพราะกาพย์พระมาลัยนี้คือวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมทางจิตใจของไทยเราโดยแท้          ข้าพเจ้าหวังว่าสักวันหนึ่ง กงล้อประวัติศาสตร์คงจะหมุนกลับมาใหม่ ให้ทางวัดวาอารามนำเอาพระมาลัยคำกาพย์นี้ ออกมาสวดทำนองเสนาะกันให้ชาวบ้านฟังในวันตรุษสงกรานต์อีกคร้ังหนึ่ง  เหมือนสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

    การสวดพระมาลัยนี้เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งที่เราควรฟื้นฟูรักษาไว้  มันเป็นวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมทางจิตใจที่สำคัญมาก   ทำให้คนฟังรู้สึกบาปบุญคุณโทษ  และมีศรัทธาเชื่อถือในพระพุทธศาสนา

  คนโบราณท่านใช้มานานนับพันปีแล้ว   ปู่ย่าตายายเราคิดหาวิธีการฝึกฝนอบรมจิตใจศาสนิกชนไว้อย่างดีวิเศษ เราจึงควรฟื้นฟูการสวดแหล่ มหาชาติ  การสวดพระมาลัยขึ้นใหม่ 

    ข้าพเจ้าขอฝากความคิดนี้ไว้ให้ท่านวิญญูชนพิจารณาต่อไป  ถ้าหากว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราเห็นด้วย และช่วยกันฟื้นฟู ข้าพเจ้าจะเป็นสุขมาก ไม่เสียเวลาที่ชำระวรรณคดีเรื่องกาพย์พระมาลัยนี้ขึ้นมาก  ข้าพเจ้าต้องการเพียงเท่านี้ จึงลงทุนลงแรงชำระวรรคดีเรื่องนี้พิมพ์เผยแพร่แก่สาธารณชน เป็นวิทยาทานและธรรมทาน โดยถือคติที่ว่า "สัพพทานัง  ธัมมทานัง ชินาติ " ( การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทานท้ังปวง)  

                                                             เทพ สุนทรศารทูล
                                               
                                                             ๒๒  สิงหาคม ๒๕๓๒  









วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2558

เกิดมาทำไม




โดย





เทพ สุนทรศารทูล



คำแนะนำ

                                                   
                 บทความเรื่อง "เกิดมาทำไม" นี้เขียนขึ้นเพื่อแสดงความ คิดเห็น(ทิฎฐิ) และความเชื่อ(ศรัทธา) ของตนเอง ข้อความอาจจะขัดแย้งกับทิฎฐิและศรัทธาของท่านผู้อื่นบ้างเป็นธรรมดา 

               แต่ขอเรียนว่าเขียนขึ้นจากการศีกษาค้นคว้า จากคำครูอาจารย์ทั้งสิ้น ข้าพเจ้าเคยเป็นเด็กวัดมาแล้วถึง ๒ วัด เคยบวชเณร บวชพระมาแล้ว  มีครูอาจารย์ที่อาจอ้างนามได้คือ 
       ๑.หลวงพ่อกร่าย วัดตาก้อง
       ๒. พระครูอุดรการบดี (หลวงพ่อศุข) วัดห้วยจระเข้
       ๓. หลวงพ่อแช่ม  วัดตาก้อง
       ๔. พระครูพรหมวิสุทธิ์ วัดทุ่งผักกูด 
       ๕. พระอาจารย์ปาน วัดห้วยจระเข้
       ๖.พระครูปฐมเจติยาภิบาล (ป่วน) วัดพระปฐมเจดีย์
       ๗. พระอาจารย์บุญ วัดห้วยจระเข้
       ๘.พระอาจารย์เฟื่อง วัดห้วยจระเข้
       ๙. พระราชธรรมาภรณ์(หลวงพ่อเงิน) วัดดอนยายหอม  เป็นพระอุปัชฌาชย์ 
       ๑๐. สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สนิท  เขมจารี ป.๙) กระทำพิธีลาสิกขาให้ 
      ๑๑. พระราชสมุทรโมลี (สำรวย)  วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
      ๑๒. พระราชวุฒาจารย์(ใจ) วัดเสด็จ
      ๑๓. หลวงพ่อเต๋ คงทอง  วัดสามง่าม
      ๑๔. พระธรรมธัชรัตนมุนีศรีธรรมราช วัดมหาธาตุ
      ๑๕. พระเทพสังวรณ์วิมล (เจียง) วัดเจริญสุขาราม 
    
       นอกจากนั้นยังได้อ่านหนังสือธรรมะต่างๆอีกมาก หนังสือของท่านพุทธทาสนั้นอ่านหมดทุกเล่ม  ประวัติพระอริยสงฆ์ก็อ่านมาเป็นอันมาก เช่นประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, หลวงปู่แหวน สุจิณโณ, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, พระสุทธิรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (พระอาจารย์ลี),  หลวงปู่ขาว อนาลโย พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดุลย์),พระราชพรหมยานเถระ, พระสุพรหมยานเถระ เมืองลำพูน เป็นต้น 

      เรียกว่าศึกษามามากทั้งหลักธรรมและชีวประวัติพระอริยสงฆ์ในเมืองไทย  รวมท้ังประวัติพระอรหันต์ในครั้งพุทธกาล 
      อ่านมามาก จนหล่อหลอมเป็นความรู้ ความคิด ความเชื่อในใจขึ้นมาเป็น "ธรรมารมณ์" จึงเขียนเรื่องนี้ขึ้น

     เมื่อได้อ่านได้ฟังใครพูดเรื่องพระพุทธศาสนาแล้ว อยากจะนั่งสนทนาด้วยทุกเรื่องไป   จึงได้เขียนบทความ เรื่องทางพระพุทธศาสนาไว้มาก  เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนา 

     ที่เขียนเรื่องนี้ขึี้น เพราะได้ฟังคนรุ่นใหม่ยุคนี้้แล้วเห็นว่าท่านเหล่านั้น  ไม่เชื่ออยู่หลายอย่างที่เป็นคำสอนในพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ  คือ
๑. ไม่เชื่อชาติหน้า,ไม่เชื่อชาติก่อน, ไม่เชื่อนรก,ไม่เชื่อสวรรค์,
๒.ไม่เชื่อเรื่องบุญ,ไม่เชื่อเรื่องบาป,ไม่เชื่อเรื่องวิบากกรรม
๓.ไม่เชื่อเรื่องนิพพาน(ว่ามีอยู่ในโลกุตรภูมิ)
๔.ไม่เชื่อเรื่องผี, ไม่เชื่อเรื่องเทวดา
๕. ไม่เชื่อเรื่องพระนิพพาน (ว่ามีอยู่ในโลกุตรภูมิ)

     เรื่องไม่เชื่อชาติหน้า เรื่องตายแล้วสูญนี้ พระมหาบัว ญาณสัมปันโน พระอรหันต์แห่งวัดป่าบ้านตาด  ลูกศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กล่าวว่า
"ความสำคัญว่า ตายแล้วสูญนี้แล เป็นภัยใหญ่และยืดเยื้อแก่สัตว์โลก ราวกับว่าเป็นผู้สิ้นหวังโดยประการท้ังปวง ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะอนาคตเป็นความหมดหวัง เหมือนหินหักครึ่งท่อนต่อกันให้ติดไม่ได้ จะเรียกว่า ผู้มีอนาคตอันกุดด้วย ก็ไม่น่าจะผิด...."

    ข้าพเจ้าเชื่อว่า คนที่ไม่เชื่อชาติหน้ามีมากขึ้นเพียงไร โลกาก็จะเกิดยุคเข็ญมากขึ้นเพียงนั้น แต่ถ้าคนเชื่อชาติหน้า โลกจะร่มเย็น ข้าพเจ้าจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อบำรุงศรัทธาของตนและคนอื่นที่มีศรัทธาอย่างเดียวกัน  เป็นการสนทนาธรรมกันในหมู่คนศรัทธาอย่างเดียวกันเท่านั้น