วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นิราศนรินทร์ พระราชนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


นิราศนรินทร์

พระราชนิพนธ์ของ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์

      หนังสือโคลงนิราศนรินทร์ ฉบับที่ข้าพเจ้าได้ใช้ศึกษาคราวนี้ เป็นฉบับของกรมศฺิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๓๓  กรมศิลปากรได้เขียนคำนำไว้ว่า 

     "โคลงนิราศนรินทร์นี้ นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)  กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้เป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้นิพนธ์ขึ้นในระหว่างเดินทางโดยเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  ไปรบพม่าซึ่งยกเข้ามาโจมตีเมืองถลางและเมืองชุมพร  ในปีพ.ศ.๒๓๕๒ นับเป็นวรรรคดีไทยเรื่องหนี่งที่มีจินตนาการและสำนวนโวหารไพเราะจับใจ โคลงนิราศนรินทร์นี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในงานกฐินพระราชทาน มหาเสวกตรีพระยาอาทรธุระศิลป์ เจ้ากรมศิลปากร เมื่อพ.ศ.๒๓๖๗ และครั้งที่ ๒ ในงานฌาปนกิจศพนายสุทธิชัย วิงประวัติ เมื่อพ.ศ.๒๔๙๙ ในการจัดพิมพ์ครั้งน้ัน กรมศิลปากรได้จัดทำคำอธิบายถ้อยคำบางตอนที่เข้าใจยาก  และจัดทำสรุปเส้นทางเดินที่สำคัญฯ ของนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)  ให้พิมพ์ไว้ท้ายเล่มเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น  ต่อมาได้มีผู้ขออนุญาตกรมศิลปากรจัดพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นคร้ังที่สาม ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกชลอ จารุกลัส เมื่อพ.ศ.๒๕๑๐  โดยพิมพ์ร่วมกับกาพย์เห่เรือ และกาพย์เห่เรือชีวิตของพลเอกชลอ จารุกลัส  คร้ันต่อมา กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้มอบให้ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ ผู้ชำนาญในการตรวจสอบชำระวรรณคดีไทย ตรวจสอบชำระวรรณคดีไทย ตรวจสอบชำระโคลงนิราศนรินทร์กับสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ พร้อมทั้งทำเชิงอรรถอธิบายในที่บางแห่ง และได้แนะนำให้เจ้าภาพในงานฌาปนกิจศพ นางเพ็ญแข พิทักษ์มนูศาสตร์ จัดพิมพ์หนังสือโคลงนิราศนรินทร์ ฉบับกรมศิลปากรฉบับตรวจสอบชำระใหม่นี้ออกเผยแพร่ เมื่อพ.ศ.๒๕๑๒ นับเป็นพิมพ์ครั้งที่ ๔ ครั้งนี้นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ห้า"


     จะเห็นได้ว่านิราศนรินทร์นี้ มีผู้สนใจกันมาก  และเผยแพร่มีผู้รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากนับแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๗ พิมพ์ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๖๐ ปีแล้วก็ยังมีผู้สนใจกันอยู่ 

     นอกจากฉบับของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรนี้แล้ว ยังมีฉบับของกรมตำรากระทรวงศึกษาธิการ  พิมพ์เป็นแบบเรียนอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันนี้องค์การคุรสภาจัดพิมพ์ให้มีถ้อยคำแตกต่างกันอยู่บ้าง  แต่เมื่อกรมศิลปากรว่า ฉบับของกรมศิลปากรเป็นฉบับที่ "ตรวจสอบชำระแล้ว" โดย" ผู้ชำนาญในการตรวจสอบชำระวรรณคดีไทย"  จึงควรถือเอาฉบับของกรมศิลปากรเป็นฉบับยุติว่าถูกต้อง  ข้าพเจ้าจึงได้ใช้ฉบับของกรมศิลปากรในการศึกษาวิจารณ์ครั้งนี้ 

     กรมศิลปากรได้เขียนประวัติกวีไว้ส้ันๆว่า
     "นิราศนรินทร์ เป็นวรรณคดีมีชื่อเสียงของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยมีความไพเราะเป็นเยี่ยม ผู้แต่งไม่บอกไว้ชัดเจน นอกจากปรากฎในโคลงบทสุดท้ายของเรื่องว่า

                  โคลงเรื่องนิราศนี้                นรินทร์อินทร์
              รองบาทบวรหวังถวิล              ว่าไว้

      สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานเรื่องราวของผู้แต่งว่าควรจะชื่อ อิน(ตามที่บ่งไว้ในโคลง)  และควรเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเมื่อสอบดูทำเนียบข้าราชการวังหน้าในสมัยนั้น มีตำแหน่งนายนรินทร์ธิเบศร์ ทั้งสอบกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก็ได้ความชัดยิ่งขึ้น  คือปรากฎตามประวัติศาสตร์ว่า  ในรัชกาลที่ ๒ มีศึกพม่ามาตีเมืองถลางและเมืองชุมพร เมื่อพ.ศ.๒๓๕๒ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่า  เส้นทางที่ทรงยกกองทัพไป  ก็เป็นเส้นทางเดียวกับที่นายนรินทร์อิน อธิบายไว้ในนิราศของตน   คือ ออกจากกรุงเทพฯทางเรือและไปขึ้นบกที่เมืองเพชรบุรี  เพื่อเดินทางเท้าต่อไป แต่มีข้อสังเกตุอยู่ว่า  ตามประวัติศาสตร์นั้น กรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกทัพเดินเท้าจากเมืองเพชรบุรีตรงไปยังเมืองชุมพรทีเดียว  ส่วนเส้นทางของนายนรินทร์อินน้ัน เมื่อออกจากเพชรบุรีแล้วตรงไปยังเมืองชุมพรทีเดียว โดยเส้นทางของนายนรินทร์อินน้ันเมื่อออกจากเพชรบุรีแล้วตรงไปยังเมืองกำเนิดนพคุณ  แล้ววกกลับมาไปเมืองตะนาวศรีใกล้ด่านสิงขร   ทั้งนี้ทำให้สันนิษฐานต่อไปว่า  นายนรินทร์อินอาจจะไปกับทัพหน้า  ซึ่งไปดูลาดเลาพม่าก่อน  จึงไปยังเมืองตะนาวศรีใกล้ด่านสิงขร   ทั้งประวัติศาสตร์ก็มีระบุว่า กรมพระราชวังบวรฯ ได้ส่งทัพล่วงหน้าไปก่อน อย่างไรก็ตาม นายนรินทร์อินนี้  คงเป็นมหาดเล็กของกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ และเป็นผู้เขียนเรื่องนี้อย่างแน่นอน"

     ข้าพเจ้าจึงได้มาศึกษาและค้นพบว่า 

   ยศถาบรรดาศักดิ์ของนายนรินทร์ธิเบศร์
       เมื่อค้นดูจากหนังสือทำเนียบนาม ภาคที่ ๒ คือทำเนียบนามข้าราชการวังหลัง ในสมัยรัชกาลที่ ๑-๒ แห่งกรุงเทพฯ ปรากฎหลักฐานดังนี้ คือ 

     มหาดเล็กเวรชิดภูบาล
     ๑. จมื่นมหาดเล็ก                    ศักดินา      ๕๐๐
     ๒. หลวงขิดภูบาล                   ศักดินา      ๔๐๐
     ๓. นายจ่านิต                          ศักดินา       ๓๐๐
     ๔. นายพิทักษ์ราชา                ศักดินา        ๒๐๐
     ๕. นายราชาภักดี                    ศักดินา        ๒๐๐
     ๖. นายราชาภักดี                    ศักดินา        ๒๐๐
     ๗.นายฉลองไนยนารถ ต้นเชือก  "            ๒๕๐
     ๘. นายนรินทร์ธิเบศร์              ศักดินา       ๒๐๐ 
     ๙. นายบำเรอราชา                  ศักดินา       ๒๐๐

     มหาดเล็กเวรชาญภูเบศร์
     ๑ จมื่นเด็กชาย                       ศักดินา       ๕๐๐
     ๒. หลวงชาญภูเบศร์              ศักดินา        ๔๐๐
     ๓. นายจ่าจิตรนุกูล                 ศักดินา        ๓๐๐
     ๔. นายราชบริรักษ์                 ศักดินา         ๒๐๐
     ๕. นายราชจินดา                   ศักดินา         ๒๐๐
     ๖.นายปรีดาราช ต้นเชือก          "               ๒๕๐
     ๗. นายนเรศธิรักษ์                ศักดินา          ๒๐๐ 
     ๘. นายนราภิบาล                  ศักดินา          ๒๐๐

     จะเห็นได้ว่า นายนรินทร์ธิเบศร์ เป็นตำแหน่งมหาดเล็กอยู่เวร คู่กับ นายนเรศธิรักษ์  มีหน้าที่เป็นเวรเข้าเฝ้ารับใช้งานในพระมหาอุปราชวังหน้า   คอยปรนนิบัติรับใช้เป็นการส่วนพระองค์  อยู่เวรเฝ้าคู่กัน เวรละ ๒ คน  คือ เวรชิตภูบาลคู่หนึ่งเวรชาญภูเบศร์คู่หนึ่ง  
     นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)  เป็นมหาดเล็กเวรชิดภูบาลขึ้นแก่หลวงชิดภูบาล นายเวร คู่กับ นายนเรศธิรักษ์มหาดเล็กเวรชาญภูเบศร์ ซึ่งขึ้นแก่หลวงชาญภูเบศร์

     นายนรินทร์ธิเบศร์ จึงเป็นแต่เพียงมหาดเล็กชั้นผู้น้อย  มีศักดินาเพียง ๒๐๐ ไร่  นับเป็นข้าราชการช้ันต่ำที่สุดของกรมมหาดเล็ก  เป็นข้าราชการชั้นสุดท้ายปลายแถว  ในราชสำนักของวังหน้าสมัยน้ัน   ไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  จึงไม่น่าจะมีความรู้สูงส่ง มีความเชี่ยวชาญทางกวีนิพนธ์อะไร และไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นในหน้าที่ราชการ ซ้ำเรื่องการกวีนิพนธ์ก็เงียบหายไป ถ้านายนรินทรฺ์ธิเบศร์(อิน) เป็นกวีที่เชี่ยวชาญการกวีก็น่าจะมีกวีนิพนธ์เรื่องอื่นเหลืออยู่อีก แต่ก็ไม่ปรากฎ นอกจากเพลงยาวสังวาส ๒-๓ สำนวนเท่านั้น 

     เมื่อนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) เป็นแต่เพียงมหาดเล็กเด็กรับใช้เช่นนี้ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีความรู้ความสามารถสูงขนาดแต่งนิราศนรินทร์ได้ เพราะอรรถรสของนิราศนรินทร์น้ัน แสดงภูมิรู้ของผู้แต่งว่ามีความรู้สูงในศิลปศาสตร์  ถ้อยคำภาษาที่ใช้ก็แสดงถึงความรู้ในทางอักษรศาสตร์อย่างสูง  ภาษาที่ใช้ก็สละสลวย  สูงส่งประณีตมาก  จนไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นบทกวีของชั้นมหาดเล็ก
     เมื่อเป็นมหาดเล็กคนโปรด เจ้านายจะทรงพระราชนิพนธ์คำโคลงนิราศรักไว้แล้ว  อาจจะใช้ชื่อของมหาดเล็กคนโปรดได้ เพราะผู้ทรงพระราชนิพนธ์ไม่มีพระราชประสงค์จะเปิดเผยพระองค์ ดังเช่น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์นิราศกาญจนบุรีไว้เมื่อพ.ศ.๒๔๑๖ ในขณะเมื่อพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ก็ทรงบอกไว้ว่า นิราศท้าวสุภัตติการภักดี(นาค)  พนักงานห้องเครื่องเสวยซึ่งตามเสด็จไปเมืองกาญจนบุรีด้วยในคราวน้้น 
      ที่ว่าชั้นมหาดเล็กรับใช้เจ้านายอย่างนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) ข้าราชการชั้นผู้น้อยศักดินา ๒๐๐ ไร่ ไม่น่าจะมีความรู้ลึกถึงขั้นแต่งนิราศนรินทร์อันไพเราะลึกล้ำไว้เช่นน้ัน ไม่ใช่ว่าจะดูถูกดูแคลนนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)แต่อย่างใดเลย แต่ว่ากันโดยการศึกษาค้นคว้าเรื่องโบราณว่า คนไทยในยุคสมัยรัชกาลที่๑ รัชกาลที่๒ เป็นยุคสมัยโบราณแท้ ยังหวงวิชากันมาก โอกาสที่ชั้นลูกชาวบ้านจะได้ศึกษาวิชาการตำราชั้นสูงนั้น มีน้อยที่สุดหรือเกือบจะเรียกว่าไม่มีโอกาสเลย 
     อย่าลืมว่าถ้อยคำของกวี ย่อมแสดงถึงภูมิรู้ ภูมิฐาน ภูมิปัญญาของกวี อันเกิดจากภูมิฐานทางสังคม ภูมิฐานทางการศึกษาของกวีนั้น 
     เพราะฉนั้นคนที่จะแต่งนิราศนรินทร์ได้ไพเราะลึกซึ้งอย่างนี้ ต้องมีโอกาสศึกษาศิลปวิทยาการมาอย่างดี  และคนที่มีโอกาสเช่นนี้ก็เห็นมีแต่บุตรเจ้านายขุนนางเท้าน้ัน  และคนที่จะแต่งบทกวีได้ไพเราะเช่นนี้  ก็มีแต่โอรสของเจ้านายเท่าน้ัน ในนิราศนรินทร์ไม่พบภาษาชาวบ้านเลย เป็นคำของคนชั้นสูง เครื่องอุปโภคบริโภคก็ของดีมีค่า ใช้ราชาศัพท์กับนางในดวงใจอยู่หลายคำ ซึ่งเห็นว่าเกินภูมิฐานของมหาดเล็กศักดินา ๒๐๐ ไร่  

   ๒.  คุณวฺุฒิของผู้นิพนธ์
     คุณวุฒิของผู้นิพนธ์ดูได้ว่ามีคุณวุฒิสูงเพียงใด  ดูได้จากถ้อยคำที่ใช้ในคำนิพนธ์ว่าได้รับการศึกษาอบรมมาสูงเพียงใด  กล่าวโดยเฉพาะนิราศนรินทร์นี้   แสดงถึงคุณวุฒิของผู้นิพนธ์ว่าได้รับการศึกษาในระดับสูงมาก เพราะแสดงความรู้ในทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนาว่าได้รับการศึกษาอบรมมาจากในรั้วในวัง ได้ศึกษาไตรภูมิพระร่วง ได้อ่านกำสรวลศรีปราชญ์  ได้อ่านทวาทศมาส  ได้อ่านเรื่องรามเกียรติ และวรรณคดีเรื่องอื่นๆมาแล้วซึ่งเป็นเรื่องหาอ่านยากมาก สมัยก่อนไม่มีโรงพิมพ์ มีแต่ฉบับคัดลอกของเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น    ทำให้เชื่อได้ว่าผู้นิพนธ์ต้องเป็นลูกท่านหลานเธอ เป็นเจ้านายชั้นสูง  ถ้อยคำที่ใช้ก็ประณีตงดงาม วิจิตรตระการมาก หาบทกวีเทียบเคียงมิได้เลย  เพราะฉนั้นผู้นิพนธ์เรื่องนี้ ต้องเป็นเจ้านายชั้นสูง ชั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒ 

     ๓.เส้นทางเดินของนิราศนรินทร์
     เส้นทางเดินของนิราศเรื่องนี้ มีปรากฎชื่อตำบลไว้ในโคลงตามลำดับ คือ
    ๑ คลองขุดที่ท่าเรือ กรุงเทพ ฯ ฉบับของกรมศิลปากรมีคำอธิบายว่าคือ คลองผดุงกรุงเกษม  ที่วัดเทวราชกุญชร แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะออกจากวังหน้า คือ คลองหลอด ที่ปากคลองหลอดหน้าโรงละครแห่งชาติ คือคลองหลอดตอนปากคลองหน้าโรงละครแห่งชาติ ที่หน้าพระบวรราชวังนี้  
     ๒.อาวาสแจ้ง คือ วัดอรุณราชวราราม, 
     ๓.คลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี แถวป้อมชัยประสิทธิ์ที่จะไปสมุทรสงคราม 
     ๔.วัดหงส์ คือวัดหงส์รัตนาราม พระอารามหลวงซึ่งปฎิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑
     ๕.สังข์กระจาย คือ วัดสังข์กระจาย ฝั่งธนบุรี
     ๖. ด่าน คือ ด่านเก็บภาษีทางเรือ
     ๗. นางนอง คือ บริเวณวัดนางนอง 
     ๘. บางขุนเทียน คือชื่อตำบล
     ๙.บางกก คือคลองบางกก
     ๑๐.หัวกระบือ คือชื่อตำบลในเขตบางขุนเทียน
     ๑๑.โคกขาม เป็นที่รู้จักกันดี อยู่ที่สมุทรสาคร
     ๑๒.คลองโคกเต่า ชื่อหมู่บ้านในจังหวัดสมุทรสาคร
     ๑๓.มหาชัย ชื่อคลองขุดใหม่ในสมัยอยุธยา อยู่ที่สมุทรสาคร
     ๑๔. ท่าจีน ชื่อแม่น้ำตอนปากอ่าว  เป็นท่าเรือสำเภาจากเมืองจีน มาจอดแต่สมัยโบราณ
     ๑๕. บ้านบ่อ ชื่อตำบล บัดนี้มีวัดบ้านบ่อ
     ๑๖. นาขวาง ชื่อหมู่บ้าน บัดนี้มีวัดนาขวาง
     ๑๗. สามสิบสองคด ชื่อคลอง 
     ๑๘. คลองย่านซื่อ ชื่อคลองในจังหวัดสมุทรสาคร
     ๑๙. แม่กลอง  ชื่อตำบล ชื่ออำเภอ ชื่อแม่น้ำ อยู่ตอนปากอ่าวแม่กลอง  
     ๒๐. ปากน้ำ คือ ปากอ่าวแม่กลอง
     ๒๑. บ้านแหลม เขตอำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี
     ๒๒. ตะบูน  บางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี
     ๒๓. คุ้งคตอ้อย เขตเมืองเพชรบุรี 
     ๒๔. เพชรบุเรศ คือ เพชรบุรี
     ๒๕ ชระอ่ำ  คือ อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี 
     ๒๖.ห้วยขมิ้น ตำบลในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
     ๒๗. ท่าข้าม แขวงปราณ คืออำเภอท่าข้าม เมืองปราณบุรี 
     ๒๘.สามร้อยยอด คืออำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
     ๒๙. ทุ่งโคแดง
     ๓๐. บางสะพาน 
     ๓๑ เขาหมอน
     ๓๒. โพธิสลับ
     ๓๓.ลับยักษ์
     ๓๔. เมืองแม่น้ำ 
     ๓๕. อู่สะเภา
     ๓๖. หนองบัว
     ๓๗. แก่งตุ่ม
     ๓๘. แก่งแก้ว
     ๓๙.แก่งนางครวญ
     ๔๐. ปากน้ำ 
     ระยะทางต้ังแต่ชะอำถึงปากน้ำนี้ แต่เดิมในสมัยแต่งนิราศนรินทร์  ยังขึ้นแก่จังหวัดเพชรบุรี พึ่งจะมาแยกเป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง 
    ๔๑. ตะนาว ชื่อตะนาวนี้ คือคุ้งมะนาว หรืออ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาใช่ตะนาวศรีไม่ 

    ตามพระราชพงศาวดารนั้น "ครั้งศึกถลางปางศัตรูมาย่ำ"  เมื่อพ.ศ.๒๓๕๒ โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ยกทัพไปทางเรือไปขึ้นบกที่เพชรบุรี แล้วเดินทัพต่อไปยังประจวบคีรีขันธ์ ทัพพม่าก็ถอยไปเสียก่อน ไม่ได้ไปถึงเมืองถลาง  คงตั้งทัพที่คุ้งมะนาว หรืออ่าวมะนาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ไม่ได้ย้อนกลับขึ้นมาแล้วไปตะนาวศรีแต่อย่างใด 

      "ถึงเพชรบุเรศเข้า            ขุนพล
        กรีทัพโดยสถล              มารคเต้า
        ธงทองพัดลมบน           โบกเรียก พลแม่
        เรียมเรียกรักเร้า              เร่งน้องในทรวงฯ

      โคลงบทนี้แสดงชัดว่าผู้นิพนธ์เป็นแม่ทัพ กรีฑาทัพไปทางบก สั่งให้ธงทอง (ของแม่ทัพ) โบกเรียกพลเคลื่อนทัพ  จนถึงเมืองเพชรบุรี 

      "ออกทัพเอาฤกษ์เร้า        ปืนไฟ
       ปืนประกายกุมไก             จี่จิ้ม
       เพลิงราคพุ่งกลางใจ       เจียวเจ็บ อกเอย
       ทรวงพี่บรรทุกปิ่ม            เป่าด้วย ปืนกาม ฯ

     คำว่า ออกทัพ คือการสั่งให้ออกเดินทัพตามฤกษ์แล้วยิงปืนไฟ คนที่จะกล่าวอย่างนี้ต้องอยู่ในฐานะแม่ทัพ 

     ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปต้ังพักพลที่ริมอ่าวมะนาว  ยังไม่ทันยกไปถึงเมืองชุมพรและเมืองถลาง  กองทัพพม่าต้ังอยู่ที่อ่าวป่าตอง  ได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกมา พม่าจึงยกทัพหนีไปตะนาวศรี ซึ่งหมายถึงคุ้งมะนาวหรืออ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีที่สงสัยว่าจะย้อนไปตะนาวศรี  เพราะถ้าข้ามเข้าตะนาวศรี จะต้องผ่านด่านสิงขร ต้องกล่าวถึงด่านสิงขรก่อน 

     ๔. ยอพระเกียรติ
     โคลงนิราศนรินทร์นี้มีบทกวียอพระเกียรติพระมหากษัตริย์อันเป็นแบบบทกวีชั้นสูงในราชสำนัก  ไม่ใช่บทกวีไหว้ครูเหมือนกวีราษฎร์  เป็นที่น่าสังเกตุคือ บทกวียอพระเกียรติในโคลงนิราศนรินทร์นี้  ไม่ใช่ยอพระเกียรติโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์  ไม่ใช่บทกวีสรรเสริญพระบารมีอย่างนอบน้อมโดยเกรงกลัวพระบารมี  แต่เป็นการแต่งบทกวีโอ้อวดความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา ( คือ กรุงเทพฯ สมัยโน้นยังเรียกว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ทั่วไป)  ดังคำร่าย และโคลง ต่อไปนี้ 

         ๐ ศรีสิทธิพิศาลภพ                       เลอหล้าลบล่มสวรรค์
     จรรโลงโลกกว่ากว้าง                       แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ
     ศรีอยุเยนทร์แย้มฟ้า                         แจกแสงจ้าเจิดจันทร์
     เพียงรพีพรรณผ่องด้าว                    ขุนหาญห้าวแหนบาท
     สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน                 ส่ายศึกเหลี้ยนล่งหล้า
     ราญราบหน้าเภริน                            เข็ญข่าวยินยอบตัว
     ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว                    ทุกไทน้าวมาลย์น้อม
     ขอออกอ้อมมาอ่อน                          ผ่อนแผ่นดินให้ผาย
     ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว                        เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
     พระยศไท้เทอดฟ้า                          เฟื่องฟุ้งทศธรรม์ ท่านแฮ

     ๐ เรืองรองไตรรัตน์น้ัน                     พ้นแสง
     รินรสพระธรรมแสดง                        ค่ำเช้า 
     เจดีย์ระดะแซง                                 เสียดยอด
     ยลยิ่งแสงแก้วเก้า                            แก่นหล้าหลากสวรรค์ 

     ๐ โบสถ์ระเบียงมณฑปพื้น               ไพหาร
     ธรรมาสน์ศาลาลาน                          พระแผ้ว
    หอไตรระฆังขาน                               ภายค่ำ
     ไขประทีปโคมแก้ว                           ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์ 

     บทกวียอพระเกียรตินี้ ทำให้เห็นอารมณ์ของกวีว่า มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากกว่าพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลนั้นคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งพึ่งครองราชย์ได้ไม่นาน ทำให้เห็นว่ากวีผู้แต่งบทกวีนี้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท  เป็นพระราชวงศ์อันใกล้ชิด  คือพระเจ้าน้องยาเธอนั่นเอง จึงไม่คร้ามเกรงพระบรมเดชานุภาพ  ไม่ยอยกพระเกียรติยศให้เห็นความยิ่งใหญ่ ไปยอยกบ้านเมืองและพระศาสนาเสียมากกว่า 

     ถ้อยคำในบทกวีคำโคลงนิราศนรินทร์นี้  เป็นภาษาชั้นสูง ใช้ถ้อยคำละเมียดละไม ประณีต ลึกซึ้ง  เป็นลักษณะของถ้อยคำผู้ดี  หรือเจ้านายชั้นสูงโดยตลอดต้ังแต่ต้นจนจบ  ผิดลักษณะของชนชั้นมหาดเล็ก 

    ความของโคลงนิราศนรินทร์  ว่าผู้แต่งเป็นแม่ทัพ พอออกจากเพชรบุรี ต้องเดินทัพโดยทางบก  ก็เข้าคุมพลในกองทัพ สั่งให้กรีฑาทัพโดยทางบก 
สั่งให้แม่ทัพโบกธงเรียกระดมพลรวมเป็นกองทัพเดินทัพต่อไป 

     ข้าพเจ้าจึงขอเสนอความเห็นเป็นข้อวินิจฉัยเด็ดขาดว่า  โคลงนิราศนรินทร์ นี้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาอุปราชกษัตริย์วังหน้า  คือสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์( สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย กรมหลวงเสนานุรักษ์)  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ซึ่งเป็นกวีเอกและเป็นขัตติยกวี เป็นพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย    แต่ทรงถือประเพณีที่พระบรมชนก และพระเจ้าอาทรงปฎิบัติเป็นแบบอย่าง ว่ากษัตริย์พระราชนิพนธ์เพลงยาวหรือนิราศ จะไม่เปิดเผยพระองค์ จึงเสแสร้งยกนิราศเรื่องนี้ให้เป็นของนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) มหาดเล็กของพระองค์ที่เสด็จในพระราชสงครามครั้งนี้ด้วย  ดังเช่นพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง ก็บอกไว้ว่าเจ้าฟ้าจืด  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวก็ใช้ว่า นายภิมเสน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์นิราศกาญจนบุรีก็ทรงบอกไว้ว่า นิราศของท้าวสุภัตติการภักดี(นาค)  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์ลิลิตนิราศพายัญ ก็ทรงใช้พระนามแฝงว่า "หนานแก้ว" 
  
หมายเหตุ : ท่านผู้สนใจรายละเอียดพร้อมคำโคลงนิราศนรินทร์   หาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติ