วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กาพย์สังข์ศิลป์ชัย (คำแนะนำ)


คำแนะนำ

     กาพย์สังข์ศิลป์ชัยนี้ เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า  "สังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด"   มีต้นฉบับสมุดไทยอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ๕ ฉบับ  นอกจากน้ันยังมีของคุณขจร สุขพานิช  ได้ถ่ายไมโครฟิลม์มาจาก  บริติส มิวเซียม ประเทศอังกฤษ นำมามอบไว้ให้แก่หอสมุดแห่งชาติ  แสดงว่าวรรณคดีเรื่องนี้ แม้พิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษก็เก็บรักษาไว้

     ต่อมา ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้รักวรรณคดีไทย ได้พิมพ์เป็นของชำร่วยในงานพระราชทานผ้าพระกฐิน ที่วัดป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง  เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๒  ได้เขียนคำนำไว้ว่า

     "กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ที่นำมาพิมพ์เป็นของชำร่วยในงานพระราชทานผ้าพระกฐินคร้ังนี้ เป็นกลอนสวดซึ่งหาอ่านได้ยาก และไม่เคยพิมพ์มาก่อน  กลอนสวดมีความใกล้ชิดกันคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะในการหัดให้เด็กอ่านออกเขียนได้  และเป็นการชักจูงให้คนเลื่อมใสในหนังสือและพุทธศาสนาในสมัยโบราณ  เมื่อเด็กอ่านประสมอักษรได้แล้ว  ครูผู้สอนก็จะอ่านกลอนสวดเรื่องต่างๆ เพราะมีนิทานสุก และคำกลอนอ่านง่าย  มักใช้คำไทยเป็นพื้น  เด็กแต่ก่อนจึงอ่านหนังสือได้แตกฉานเพราะกลอนสวด อีกประการหนึ่งนิทานไทยบางเรื่อง  ถือเป็นเรื่องเกิดขึ้นเพราะบุญกรรม ผู้แต่งต้องการสั่งสอนพระธรรม และต้องการอานิสงส์ทางศาสนา  กลอนสวดโดยมากแต่งขึ้นด้วยเหตุนี้  การอ่านกลอนสวดในวัดเป็นประเพณีนิยมของคนไทยแต่ก่อน  แม้ในปัจจุบันก็ยังมีบางแห่ง  ที่ทางวัดจัดคนอ่านกลอนสวดให้อุบาสก อุบาสิกาฟังในระหว่างพระเทศน์ ประเพณีนี้นับวันแตจะสูญหาย  กลอนสวดก็จะไม่มีผู้รู้จัก  จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะนำมาพิมพ์เผยแพร่ให้รู้จักกัน"

     อันที่จริงสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดนี้ กวีท่านแต่งไว้เป็นคำกาพย์  สำหรับอ่านทำนองเสนาะในวัดในวังในสมัยโบราณ  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยังมีการอ่านทำนองเสนาะในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านพระมหาครูที่เป็นพระหรือฆราวาสมาฝึกหัดลูกเจ้านาย ขุนนางหัดสวด ซึ่งเรียกกันว่า "สวดโอ้เอ้วิหารราย" มีจุดประสงค์ ๒ อย่างคือ  ฝึกหัดให้เด็กอ่านหนังสือ และเป็นการสอนธรรมะในพระพุทธศาสนาแก่เด็กไปพร้อมกันอีกอย่างหนึ่ง 

     กาพย์เรื่องสังข์ศิลป์ชัยนี้ มีมาแต่กรุงศรีอยุธยา สัณนิษฐานว่า พระมหาราชครู(กล่อม)  ได้แต่งไว้ในสมัยพระนารายณ์มหาราช เพราะมีการกล่าวถึงเรื่องโหรและคำพยากรณ์ไว้มากในเรื่องนี้  กล่าวถึงเรื่องดวงชะตา กล่าวถึงจิ้งจกตก การ้อง เรื่องเขม่น ซึ่งเป็นตำราโหราศาสตร์โบราณไว้มาก  คนอื่นๆไม่น่าจะมีความรู้ทางโหราศาสตร์มากอย่างนี้ 

     ข้าพเจ้าเห็นว่า เรื่องสังข์ศิลป์ชัยนี้เป็นวรรณคดีโบราณอันมีค่ามาก  แม้ฝรั่งก็ยังเอาต้นฉบับไปเก็บรักษาเอาไว้  จึงได้ลงมือชำระปรับปรุงให้ถูกต้องตามลักษณะของคำกาพย์  ที่ผิดก็แก้ไขให้ถูก ที่ไม่มีความในวรรคนี้(ต้นฉบับชำรุด)  ก็แต่งให้ครบถ้วนกระบวนความของคำกาพย์นั้นๆ  ในที่นี้ต้องการรักษาต้นฉบับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ฉบับของพระมหาราชครูไว้  จึงได้ทำการอภิรักษ์ขึ้นไว้ 

     ขอเรียนว่าการอนุรักษ์ต้นฉบับวรรณคดีโบราณนั้น  มีวิธีการทำอยู่ ๔ ประการคือ

     ๑. อนุรักษ์ คือ รักษาต้นฉบับเดิมไว้ให้ดีเหมือนแรกแต่ง  วิธีนี้ทำยากเพราะไม่ทราบว่าเดิมท่านแต่งไว้อย่างไร
     ๒. อวรักษ์ คือ รักษาต้นฉบับไว้ตามที่ชำรุดบกพร่องนั้น  ไม่พยายามแก้ไขเลย เช่นวิธีที่พิมพ์ไว้ในคราวทอดกฐินพระราชทานที่วัดป่าโมก คือต้นฉบับที่นำมาเป็นหลักในการชำระใหม่คราวนี้
     ๓. ปฎิรักษ์ คือ รื้อของเก่าทิ้ง  แล้วแต่งใหม่ ตามแบบที่พระนั่งเกล้าฯ ทรงทำแล้วในการที่ทรงพระนิพนธ์ใหม่
     ๔. อภิรักษ์ คือ ปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าของเดิม  ได้แก่การที่ทำในคราวนี้ ได้แต่งเพิ่มเติมที่ขาดตก (ต้นฉบับชำรุด ต้นฉบับไม่มีความตอนนี้)  ได้ตัดคำที่เกินคำกาพย์ออก ได้แก้คำที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง  เรียกว่า  อภิรักษ์  แปลว่า ทำให้ดีกว่าเดิม ชื่อคำกาพย์เดิมไม่บอกไว้ ก็บอกว่าเป็นคำกาพย์ชนิดใด ที่บอกผิดก็บอกให้ถูกต้อง  ที่ใช้ถ้อยคำผิดก็แก้ไขเสียให้ถูกต้อง เพราะเป็นของเก่าโบราณนานมากแล้ว จึงจดผิดพลาดบกพร่องมากมายหลายแห่ง  ข้าพเจ้าได้ใช้ความกล้าหาญในการแก้ไขในคราวนี้ ขอให้ผู้สนใจจงใช้ฉบับวัดป่าโมก มาเทียบเคียงดูว่าข้าพเจ้าได้แก้ไขไปเป็นอย่างไรบ้าง  ท่านผู้อ่านมีสิทธิวิพากย์วิจารณ์ได้เต็มที่ เพราะวรรณคดีเรื่องนี้เป็นสมบัติของชาติ 
     
     ข้าพเจ้าทำเรื่องนี้ฝากไว้ในบรรณพิภพ และขออุทิศให้พระมหาราชครู(กล่อม)  กวีเอกในสมัยพระนารายณ์มหาราช ผิดชอบประการใดเป็นของข้าพเจ้าเพียงประการผู้เดียว 

                                                      เทพ  สุนทรศารทูล

                                                      ๑๗ มกราคม ๒๕๓๗




กลอนสวดสำหรับสวด


     ในหนังสือ "สังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด" นั้น ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ได้เขียนคำนำไว้ตอนหนึ่งว่า

  "กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ที่นำมาพิมพ์เป็นของชำร่วยในงานพระราชทานผ้าพระกฐินคร้ังนี้ เป็นกลอนสวดซึ่งหาอ่านได้ยาก และไม่เคยพิมพ์มาก่อน  กลอนสวดมีความใกล้ชิดกันคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะในการหัดให้เด็กอ่านออกเขียนได้  และเป็นการชักจูงให้คนเลื่อมใสในหนังสือและพุทธศาสนาในสมัยโบราณ  เมื่อเด็กอ่านประสมอักษรได้แล้ว  ครูผู้สอนก็จะอ่านกลอนสวดเรื่องต่างๆ เพราะมีนิทานสุก และคำกลอนอ่านง่าย  มักใช้คำไทยเป็นพื้น  เด็กแต่ก่อนจึงอ่านหนังสือได้แตกฉานเพราะกลอนสวด อีกประการหนึ่งนิทานไทยบางเรื่อง  ถือเป็นเรื่องเกิดขึ้นเพราะบุญกรรม ผู้แต่งต้องการสั่งสอนพระธรรม และต้องการอานิสงส์ทางศาสนา  กลอนสวดโดยมากแต่งขึ้นด้วยเหตุนี้  การอ่านกลอนสวดในวัดเป็นประเพณีนิยมของคนไทยแต่ก่อน  แม้ในปัจจุบันก็ยังมีบางแห่ง  ที่ทางวัดจัดคนอ่านกลอนสวดให้อุบาสก อุบาสิกาฟังในระหว่างพระเทศน์ ประเพณีนี้นับวันแตจะสูญหาย  กลอนสวดก็จะไม่มีผู้รู้จัก  จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะนำมาพิมพ์เผยแพร่ให้รู้จักกัน"

         คำนำที่ ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ เขียนไว้นี้ น่าสนใจมาก มีสาระสำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

     ๑. กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ไม่เคยพิมพ์มาก่อน  พึ่งถ่ายทอดจากสมุดข่อยมาพิมพ์เป็นครั้งแรก ในพ.ศ.๒๕๑๒ เป็นหนังสือหาอ่านได้ยาก  ข้าพเจ้าก็ไม่เคยได้อ่านมาก่อน  และไม่เคยทราบว่ามีหนังสือสังข์ศิลปชัยกลอนสวดอยู่   ทราบแต่ว่ามีบทละครนอกเรื่องสังข์ศิลปชัย ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิพนธ์เมื่อดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเรามักจะเหมาเอาว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  หนังสือสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดมีมาก่อนบทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย  คงจะได้เค้าเรื่องมาจากสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดนี้ (ต่อมา องค์การค้าคุรุสภาได้พิมพ์วรรณคดีเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดออกเผยแพร่ แต่ยังมิได้ชำระปรับปรุงให้ถูกต้อง)
     
     ๒. กลอนสวดมีความใกล้ชิดกันคนไทยมาช้านาน  ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว  หนังสือเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดนี้ เป็นหนังสือทีแต่งขึนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้คัดลอกกันต่อๆมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  มีหลักฐานปรากฎอยู่ในคำไหว้ครูว่า

     "ข้าขอแต่งบทกลอน                 นิยายมอญแต่ก่อนมา
     เป็นเรื่องราวนานเก่าคร่ำคร่า     นานนักหนามาก่อนไกล
     สมุดก็สูญหาย                           เพราะวุ่นวายเสียเมืองใหญ่
     บทกลอนข้าจำได้                     ผูกเอาไว้เป็นนิทาน"

     ได้ความว่าสมุดข่อยของเดิมสูญหายไป ตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา  ผู้แต่งจำบทกลอนได้ จึงเขียนขึ้นใหม่ตามสำนวนเดิม 

     ๓. ผู้แต่งต้องการสั่งสอนธรรม และต้องการอานิสงส์ทางบุญกุศล กลอนสวดโดยมากแต่งด้วยเหตุนี้  ดังปรากฎจากคำไหว้ครูว่า

     "ขอให้ปัญญาข้า                       ไปเมื่อหน้าเรืองชัชวาล
     ทรงไตรปิฎกสถาน                     ให้ใหญ่ยิ่งพ้นประมาณ
     ขอให้บริบูรณ์                             กว่าจะดับสูญได้นิพพาน
     มั่นคงแต่โพธิญาณ                    ให้ตลอดรอดต้นปลาย"

     แม้แต่ผู้คัดลอกหนังสือนี้ ก็เขียนคำส่งท้ายไว้เป็นคำอธิษฐานว่า

     "ข้าพเจ้าผู้เขียน แต่ทำความเพียร เขียนช้านานมา กว่าจะได้แต่ละตัว ลำบากหนักหนา เพราะแก่ชรา อุตส่าห์สร้างบารมี"

     ๔. ในสมัยโบราณ พระสงฆ์เป็นครู เมื่อสอนเด็กประสมอ่านอักษรไทยแล้ว  ครูผู้สอนจะให้เด็กอ่านกลอนสวด เป็นการฝึกหัดอ่านหนังสือไทย เพราะกลอนสวดนั้ มีนิทานสนุก ให้เด็นสนใจอยากอ่าน พอรู้เรื่องก็ตื่นเต้น อ่านไม่เบื่อหน่าย คำกลอนอ่านง่าย ด้วยใช้ภาษาชาวบ้านเป็นพื้น เป็นการฝึกให้เด็กอ่านทำนองเสนาะ มีความไพเราะคล้องจอง เด็กอ่านได้ไม่เบื่อทำให้เด็กๆสนใจคำร้อยกรองมาแต่เด็ก  ในเวลาเดียวกันก็เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัว  รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักนรก สวรรค์ นิพพาน มาแต่เด็ก จากที่สมัยโบราณพระสงฆ์เป็นครูบาอาจารย์ทำให้ได้ผลดีมาก คนไทยสมัยโบราณจึงมีศีลธรรม รู้จักบาปบุญคุณโทษ  มีเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยิ้มแย้มแจ่มใส จนฝรั่งเรียกว่า สยามเมืองยิ้ม บ้านเมืองก็สงบร่มเย็น เพราะอิทธิพลของวรรณคดีพระพุทธศาสนาประเภทกลอนสวดนี้

     ๕. ในวันพระ ๘ ค่ำ ที่วัดจัดให้มีพระธรรมเทศนาเป็นประจำ มีอุบาสก อุบาสิกา มาทำบุญตักบาตร ถือศีลอุโบสถ ฟังธรรมเทศนา  ในระหว่างรอพระเทศน์นี้ ท่านก็จัดให้เด็กวัดที่อ่านหนังสือคล่องมาอ่านกลอนสวด อ่านเป็นทำนองเสนาะ จึงเรียกว่า "กลอนสวด"  ฟังเพลินได้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีไทยมาแต่โบราณ ดังเช่นเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด 

     สรุปได้ว่า กลอนสวด ไม่ได้แต่งขึ้นสำหรับอ่านธรรมดา แต่แต่งขึ้นสำหรับขับร้องลำนำประเภทหนึ่ง  มีท่วงทำนองพิเศษ  เป็นคำสวดมนต์อย่างหนึ่งแบบครูอินเดีย  คือกลอนสวดมีท่วงทำนองต่างๆกันหลายแบบ  ถ้าใครเคยฟังกลอนสวดทำนองเสนาะ เช่นสวดพระมาลัย แล้วก็จะเข้าใจ ดูเหมือนปัจจุบันจะมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่แล้ว 


     กลอนสวดคืออะไร

     กลอนสวดทุกเรื่อง เป็นคำกลอนที่แต่งด้วยคำกาพย์ทั้งสิ้น ไม่ได้แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดอื่นเลย

     คำกาพย์ในบทกวีของไทยเรานั้น มีอยู่ ๕ ชนิด
     ๑.กาพย์ยานี ๑๑
     ๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
     ๓.กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     ๔.กาพย์ขับไม้ ๓๖ 
     ๕. กาพย์ห่อโคลง

     ๑. กาพย์ยานี ๑๑ มี ๑๑ พยางค์ คือ
     
      ข้าไหว้พระสรรเสริญ               ทั้งสมเด็จพระศาสดา
      โปรดสัตว์ในสังสาร์                 ให้รอดจากบ่วงมาร

     ๒. กาพย์ฉบัง ๑๖ มี ๑๖ พยางค์คือ

     ผู้เดียวเพื่อนเที่ยวพงไพร           ไม่มีใครใคร
    ผู้ใดมาเป็นภรรยา

     ๓. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘  มี ๒๘ พยางค์คือ

     รั้ววังคลังทอง                           มากมายก่ายกอง
     ยิ่งกว่าทั้งหลาย
     รี้พลโยธา                                 ช้างม้าวัวควาย
     ลูกค้ามาขาย                            สำเภาเพตรา

     ๔. กาพย์ขับไม้ ๓๖ มี ๓๖ พยางค์  มักใช้แต่งกล่อมพญาช้างเผือกในพิธีสมโภชขึ้นระวาง   และใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น  ไม่ใช้แต่งนิทานทั่วไป  ตัวอย่างกาพย์ขับไม้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขับกล่อมพญาช้างเผือก ดังนี้

    อ้าแม่หัตถี              ผู้ประเสริฐศรี           งามลักษณาวรรณ
   แม่เป็นพรหมพงศ์   สมเป็นช้างทรง        พิเศษเผ่าพันธุ์
   อย่าร่ำโศกศัลย์       ถึงแดนอารัญ           พ่อแม่ญาติสหาย

     ๕. กาพย์ห่อโคลง  คือกาพย์ยานี ๑๑  สลับกับโคลงสี่สุภาพ ใช้แต่งในเรื่องเห่เรือ ชมมัจฉา ชมสาคร ชมเครื่องคาวเครื่องหวาน 


      แกงไก่มัสมั่นเนื้อ            นพคุณ 
      หอมยี่หร่ารสฉุน              เฉียบร้อน
      ชายใดบริโภคภุญช์        พิศวาส หวังนา
      แรงอยากยอหัตถ์ช้อน    อกไห้ หวนแสวง ฯ

     มัสมั่นแกงแก้วตา            หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
     ชายใดได้กลืนแกง          แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา 

     กลอนสวดสังข์ศิลป์ชัย   ได้อ่านจนจบแล้ว ท่านแต่งด้วยคำกาพย์ ๓ ชนิดคือ
     ๑. กาพย์ยานี ๑๑
     ๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
     ๓. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ 
     ซึ่งเหมือนกลอนสวดเรื่องอื่นๆ  เช่นเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา  กาพย์มโนรา กาพย์พระมาลัย กาพย์กากี เป็นต้น

     เพราะฉนั้นจึงพอสรุป หรือตั้งเป็นกฎเกณฑ์ได้ว่า ที่เรียกว่า "กลอนสวด" นั้นคือบทประพันธ์ประเภท "คำกาพย์" นั่นเอง

      "สังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด" จึงควรเรียกให้ถูกต้องว่า กาพย์สังข์ศิลป์ชัย" อย่างเช่น กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ 

     หนังสือเรื่อง"สังข์ศิลปชัยกลอนสวด" จึงขอเรียกว่า "กาพย์สังข์ศิลปชัย" ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  เพื่อให้ผู้ศึกษาวรรณคดีเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นคำกาพย์ ไม่ใช่คำโคลง ไม่ใช่คำฉันท์ ไม่ใช่ลิลิต 

     คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองของไทย แบ่งออกเป็น ๘ ชนิด

     ๑.๑ กลอน ๔ คล้ายกาพย์สุรางคนางค์ ต่างกันอยู่ที่กาพย์สุรางคนางค์มี ๗ วรรคๆละ ๔ พยางค์  แต่กลอน ๔ มี ๘ วรรคๆละ ๔ พยางค์
     ๑.๒ กลอน ๖ มี ๖ พยางค์ คล้ายกลอน ๘ ซึ่งมี ๘ พยางค์
     ๑.๓ กลอน ๘ มี ๘ พยางค์
     ๑.๔ กลอนสุภาพ คือกลอน ๘ นั่นเอง  แต่เรียกให้เข้าคู่กับโคลงสี่สุภาพ 
      ๑.๕ กลอนตลาด  คือกลอน ๘ แต่ใช้คำสามัญ หรือภาษาตลาด หรือภาษาพูดแบบคนทั่วไปเหมือนกลอนสุนทรภู่ 
     ๑.๖ กลอนเสภา คือ กลอนที่แต่งขึ้นสำหรับขับเสภา  แต่มีคำตั้งแต่ ๖- ๙ พยางค์ก็ได้  เวลาขับก็เอื้อนเสียงให้สั้นยาวเข้ากับทำนองเสภา  เป็นเพลงพื้นเมืองอย่างหนึ่ง อย่างเสภาขุนช้างขุนแผน เสภาหม่อมเป็ดสวรรค์ 
     ๑.๗.กลอนสักวา คือกลอนแปด ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "สักวา"  มี ๘ วรรคลงท้ายด้วยคำว่า "เอย"
     ๑.๘ กลอนดอกสร้อย คือกลอนแปดที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เอ๋ย"  เช่น "ดอกเอ๋ยดอกสร้อย"  "แมวเอ๋ยแมวเหมียว"  มีแปดวรรคและลงท้ายด้วยคำว่า "เอย" เสมอ  
     ๑.๙ กลอนปล่อย คือกลอนที่ขึ้นต้นลงท้ายลอยๆ ไม่มีกำหนด นิยมแต่งกันในหมู่นักกลอน  ไม่ลงท้ายว่า "เอย "ทิ้งไว้ด้วนๆเช่นนั้น 
     ๑.๑๐ กลอนเปล่า คือกลอนประกอบร้อยแก้วธรรมดา  แต่เรียงเป็นประโยคมีถ้อยคำวรรคละเท่าๆกัน  แต่ไม่สัมผัสคล้องจองกันเลย 

     ๒ คำโคลง 
     ๒.๑ โคลง ๑ คือ ร่ายสั้น มี ๕ คำหนึ่งวรรค
     ๒.๒ โคลง ๒ มีสองวรรค หรือ สองบท
     ๒.๓ โคลง ๓ มีสามวรรค หรือ ๓ บท
     ๒.๔ โคลงสี่ มี ๔ วรรค ๔ บทแบ่งเป็น
     ๒.๔.๑ โคลงสี่สุภาพ
     ๒.๔.๒ โคลงดั้นวิวิธมาลี
     ๒.๔.๓ โคลงดั้นบาทกุญชร
     ๒.๔.๔ โคลงดั้นพิพิธพรรณ
     ๒.๔.๕ โคลงดั้นจตุวาทัณที

    ๓. คำกาพย์ มี ๕ ประเภท
    ๓.๑ กาพย์ยานี ๑๑
    ๓.๒ กาพย์ฉบัง ๑๖
    ๓.๓ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
    ๓.๔ กาพย์ขับไม้ ๓๖
    ๓.๕ กาพย์ห่อโคลง

     คำกาพย์แต่งขึ้นสำหรับอ่านทำนองเสนาะ เรียกว่า "กลอนสวด" คำว่า "กลอน" หมายถึงคำที่แต่งคล้องจองกัน "สวด" หมายถึง พร้อมกันหลายๆหนในทางพุทธศาสนา มาจากคำว่า "สังวัธยาย" เช่น "สังวัธยายมนต์ หรือ"สวดมนต์" มีความหมายอย่างเดียวกัน 

    ๔. คำฉันท์ คำฉันท์ประเภทต่างๆ มีมากมาย ได้แบบมาจากคำฉันท์ในภาษาบาลี  พระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ไทยเรานิยมแต่งในหมู่นักกวีชั้นสูง  แต่งยาก อ่านยาก มีคำหนักเบา ได้แก่ สามัคคีเภทคำฉันท์ ฑีฆาวุคำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ฺ อุณรุทคำฉันท์ อิเหนาคำฉันท์ กากีคำฉันท์ 

     ๕. คำร่าย ได้แก่
     ๕.๑ ร่ายสุภาพ แบบแผนวรรคละ ๕ คำ สัมผัสคำที่ ๓ 
     ๕.๒ ร่ายดั้น อาจมี ๕-๖ คำก็ได้ 
     ๕.๓ ร่ายสั้น คือคำที่มีคำวรรคละ ๕ คำ 
     ๕.๔ ร่ายยาว คือคำที่มีคำวรรคละกว่า ๕ คำ อาจถึง ๙ ถึง ๑๐ ก็ได้  ตัวอย่างคือ ร่ายยาวจากมหาเวสสันดรชาดก

     "ยามมีบุญเขากะวิ่งมาเป็นข้า   พึ่งพระเดชเดชาให้ใช้สอย
  เฝ้าป้อยกสอพลอพลอยทุกเช้าค่ำ ยามเพลี่ยงพล้ำเขากระหน่ำซ้ำซ้อมชัก"

     ๖. ลิลิต แปลว่า มีลีลา  มีท่วงทำนองตามอารมณ์ เป็นคำผสมระหว่างร่ายกับโคลง  ไม่ใช่คำประพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว  ที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย (ยวนพ่าย ไม่ใช่ลิลิต เป็นโคลงดั้น)  

     ๗. เพลงกาล คำประพันธ์นี้แต่งสำหรับขับร้องเพลงพื้นเมืองต่างๆของไทย  เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงปรบไก่ เพลงเทพทอง เพลงอีแซว เพลงโคราช  เพลงระบำบ้านไร่  เพลงต่างๆเหล่านี้น่าศึกษาและควรฟื้นฟูอย่างยิ่ง  เพราะเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทย 

     ๘. แหล่ คำขับร้องประเภทหนึ่ง แต่งสำหรับแหล่ เช่นแหล่มหาชาติ แหล่ทำขวัญนาค 

     ที่นำคำประพันธ์ประเภทต่างๆมาแสดงไว้ ก็เพื่อแสดงหลักฐานว่า คำประพันธ์ไทยมีมากมายไม่มีชาติไหนสู้ได้เลย
    
     กลอนสวดเป็นคำประพันธ์ของไทย ซึ่งก็คือคำกาพย์นั่นเอง  แต่แต่งขึ่นสำหรับสวดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นการสอนธรรมแก่ประชาชน ไทยเราใช้มาแต่โบราณกาล พึ่งจะมาเสื่อมความนิยมไป บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องฟื้นฟูขึ้นใหม่ เพราะเป็นสมบัติวัฒนธรรมของไทยเรา  เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย  ไม่มีชาติใดเหมือนไทยเราเลย  เพื่อให้ลูกหลานเราภาคภูมิใจในสมบัติวัฒนธรรมของชาติไทยเราต่อไป