โดย
เทพ สุนทรศารทูล
คำนำ
โคลงโลกนิติ เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระเดชาดิศร(พระองค์เจ้าละมั่ง) พระเจ้าลูกยาเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นพระเจ้าพี่ยาเธอของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอองค์นี้ ทรงชำระโคลงโลกนิติของเก่า ซึ่งคัดลอกมาผิดเพี้ยน ความไม่ตรงตามพระบาลี เพราะโคลงโลกนิตินี้ กวีโบราณได้แต่งขึ้นตามพระพุทธภาษิตที่ท่านนำมาจากพุทธพจน์ มาเรียบเรียงไว้เรียกว่า โลกนิติปกรณ์
ต่อมากวีไม่ปรากฎนามได้แปลแล้วแต่งเป็นคำโคลง เรียกว่าโคลงโลกนิติ
พระนั่งเกล้าฯทรงเห็นว่าคัดลอกกันมาผิดเพี้ยนจีงทรงมอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอชำระใหม่
กรมสมเด็จพระเดชาดิศร จึงทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่อีกสำนวนหนึ่ง แตกต่างจากสำนวนเดิมบ้าง (รักษาสำนวนเดิมไว้บ้าง) ถ้อยคำที่ทรงใช้จึงเป็นภาษาใหม่ขึ้นกว่าสำนวนเดิม จึงควรนับถือว่า สำนวนกวีนี้เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเดชาดิศรอีกสำนวนหนึ่ง เป็นที่นิยมในเวลาต่อมา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม จึงโปรดเกล้าฯให้นำคำโคลงโลกนิตินี้จารึกแผ่นศิลาไว้ตามศาลารายรอบพระวิหารในวัดพระเชตุพน พร้อมทั้งจารไว้ในสมุดไทยด้วย มีใจความตรงกัน รวม ๔๓๕ คำโคลง
คำโคลงโลกนิตินี้นอกจากกรมสมเด็จพระเดชาดิศร แต่งไว้เป็นคำโคลงแล้วในเวลาไล่เลี่ยกันนี้ พระสุนทรโวหาร(ภู่ ภู่เรือหงส์) ก็แต่งไว้เป็นคำกลอนอีกสำนวนหนึ่ง เรียกกันในภายหลังว่า สุภาษิตสอนเด็ก แท้ที่จริงแล้ว คือ "เพลงยาวโลกนิติ" มีที่มาจากโคลงโลกนิติของเก่าด้วยกัน
แต่โคลงโลกนิติมีคนรู้จักกันกว้างขวางกว่า ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ
๑.จารึกศิลาไว้ที่วัดพระเชตุพน
๒.กระทรวงธรรมการ กำหนดให้เป็นหนังสือเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ส่วนเพลงยาวโลกนิติของสุนทรภู่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเพราะถูกเก็บเงียบงำไว้ในสมุดไทยมาช้านาน พึ่งมีผู้พบแล้วนำมาพิมพ์เผยแพร่ โดยไม่รู้จักว่าเป็นคำกวีของท่านสุนทรภู่ แม้แต่ชื่อก็เรียกกันว่า "สุภาษิตสอนเด็ก" โดยไม่รู้ว่าเป็นเพลงยาวสุภาษิตโลกนิติ
ถ้าหากเอาสำนวนคำโคลงกับสำนวนคำกลอนมาอ่านเทียบกันโดยตลอดแล้ว จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า มีที่มาจากคำโคลงโลกนิติของเก่าด้วยกันทั้งคู่
กล่าวโดยเฉพาะโคลงโลกนิติน้ันน่าอ่านมาก เพราะเหตุว่า
๑. เป็นคำกวีอันไพเราะ ลึกซึ้งในคำกวี
๒.มีภาษาเก่าในสมัยโบราณอยู่เป็นอันมากอาจใชัศึกษาทางภาาษาศาสตร์ได้
๓.เป็นพุทธดำรัสตรัสสอนด้วยสัจธรรมอันวิเศษ ไม่มีใครจะโต้แย้งได้
เพราะเหตุดังกล่าวนี้ ข้าพเจ้าจึงนำมาถอดความเป็นภาษาร้อยแก้ว ให้คนในสมัยปัจจุบันเข้าใจความได้ชัดแจ้งขึ้น เมื่ออ่านคำโคลง จะได้อรรถรสทางคำกวี อรรถรสทางภาษา และอรรถรสทางธรรมไปพร้อมกันทั้้ง ๓ ประการ แล้วจะรู้คุณค่าของโคลงโลกนิติถ่องแท้ด้วยตนเอง
ส่วนคำถอดความจะไม่ตรงกับความคิดความเข้าใจของท่านผู้ใด ข้าพเจ้าก็มิได้ผูกขาดว่าเป็นความถูกต้องถ่องแท้ทั้งหมด บทกวีที่แต่งไว้เมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ โน้น จะให้คนในสมัยรัชกาลที่ ๙ แปลความหมายออกมาตรงกันก็คงยากที่จะเป็นไปได้ การที่ข้าพเจ้าทะนงองอาจแปลความหมาย ถอดความออกมานี้ เพราะมีความรักทางภาษาไทยมาก ได้เคยอ่านโคลงโลกนิติมาแต่เป็นนักเรียน รู้สึกซาบซึ้งจับใจมากจนจำได้หลายสิบคำโคลง จึงอยากจะถอดคำออกมาเป็นภาษาร้อยแก้วว่ามีความหมายลึกซึ้งเพียงใด
จึงขอให้ท่านผู้สนใจได้อ่านพิจารณาเอาเองด้วยใจของท่านเถิด
เทพ สุนทรศารทูล
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น