เทพ สุนทรศารทูล
หนังสือ "เสด็จประพาสสมุทรสงคราม" เป็นหนังสือประวัติศาสตร์จังหวัดสมุทรสงครามที่สำคัญอีกเล่มหนึ่งของนายเทพ สุนทรศารทูล กล่าวถึงสถานที่สำคัญของจังหวัดที่เจ้านายในราชวงศ์จักรีเคยเสด็จ
เมืองราชินิกุลบางช้าง
เมืองสมุทรสงคราม เรียกกันในสมัยโบราณ ตามภาษาชาวบ้านว่า "เมืองแม่กลอง" เป็นเมืองสังกัดกรมท่า ขึ้นแก่เมืองราชบุรีอีกต่อหนึ่ง
ตามตำนารราชินิกุลบางช้างว่าในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง แห่งกรุงศรีอยุธยาน้ัน ต้นตระกูลราชินิกุลบางช้าง คือ ท่านตาเจ้าพลอย กับท่านตาเจ้าแสน สองพี่น้องได้พากันมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงบางช้าง เมืองแม่กลอง
จากจดหมายเหตุของราชทูตฝรั่งเศสผู้หนึงซึ่งเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาจะไปยังเมืองตะนาวศรี (ซึ่งสมัยน้ันเป็นของไทย) ได้ผ่านเมืองสาครบุรี และเมืองแม่กลอง เมื่อพ.ศ. ๒๒๓๑ เขียนเล่าไว้ว่า เจ้าเมืองแม่กลองได้ต้อนรับ และไปส่งจนเข้าเขตราชบุรี เขียนเล่าว่า เมืองแม่กลองเป็นเมืองใหญ่กว่าสาครบุรี ที่เมืองแม่กลองมีค่ายทหาร มีป้อมปืน มีกำแพงเมืองทำด้วยเสาระเนียดปักไว้เป็นระยะๆไป และมีโซ่ร้อยระหว่างเสาน้ัน ค่ายทหารแห่งนี้มีชื่อเป็นทางการว่า "ค่ายสมุทรสงคราม" เป็นนามพระราชทาน เจ้าเมืองก็มีนามบรรดาศักดิ์ว่า "พระแม่กลองบุรี" น่าจะมีสร้อยว่า"ศรีมหาสมุทร" ชื่อเมืองสมุทรสงครามจึงเป็นนามสืบเนื่องมาแต่ค่ายทหารแห่งนี้ ต้ังแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ชาวเมืองยังคงเรียกว่า "เมืองแม่กลอง"
ด้วยเหตุที่เมืองสมุทรสงครามเป็นเมืองราชินิกุลบางช้าง เมืองกำเนิดของสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (นาค) พระมเหสีในรัชกาลที่่๑ เป็นเมืองพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด) พระมเหสีในรัชกาลที่ ๒ ด้วย
เพราะเหตุที่เมืองสมุทรสงคราม มีประยูรญาติมาก มีเรือกสวนไร่นา ตลอดจนเป็นเมืองเงียบสงบ ร่มเย็น มีแม่น้ำลำคลองทั่วไป มีเรือกสวนน่าเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เรียกว่า เป็นบ้านสวนของเจ้านายก็ว่าได้ ฉนั้นจึงมักมีเจ้านายเสด็จมาทอดพระเนตรและทรงพักผ่อนที่เมืองนี้เสมอ ตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้นเมืองสมุทรสงครามหลายครั้ง
คำว่า"เสด็จประพาสต้น" ก็มีกำเนิดมาจากเมืองนี้ ด้วยทรงซื้อเรือมดสี่แจวได้ที่คลองแควอ้อม (แม่น้ำอ้อม) ลำหนึ่ง เรือลำนี้ พระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ) เป็นผู้คุมเครื่องครัวเสวย จึงรับสั่งเรียกเรือลำนั้นว่า "เรือตาอ้น" เรียกเร็วๆ ก็เป็น "เรือต้น" จึงเป็นที่มาของการเสด็จประพาสต้นในเวลาต่อมา
นอกจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงแล้ว เจ้านายพระองค์อื่นที่เสด็จเมืองสมุทรสงครามก็มี จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (ต้นตระกูล ภาณุพันธ์) ก็เสด็จเสมอ ทรงปลูกพระตำหนัก "ภาโณทยาน" ไว้ข้างวัดพวงมาลัย ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมือง สมุทรสงคราม หลังหนึ่ง ทรงได้สุภาพสตรีชาวเมืองสมุทรสงครามไปเป็นหม่อมห้ามคนหนึ่ง ชื่อ สุ่น ปักษีวงศา เรียกกันว่า"หม่อมสุ่น"
จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็โปรดเสด็จเมืองสมุทรสงครามเสมอ เพราะพระเจ้ายายของท่านคือ เจ้าจอมมารดาสำลี เป็นราชินิกุลบางช้างมีวงศ์ญาติอยู่ที่เมืองสมุทรสงครามมาก สมเด็จกรมพระนครสวรรค์ทรงปลูกพระตำหนักเรือนไทยไว้ที่อัมพวาหลังหนึ่ง เรียก ตำหนัก"อัมพวา"
สมเด็จเจ้าฟ้าอาหลานสองพระองค์นี้ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช คนทั่วไปเรียกว่า "เสด็จวังบูรพา" เพราะท่านอยู่ที่บริเวณที่เรียกว่าวังบูรพาทุกวันนี้ กับสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต คนทั้งหลายเรียกว่า "เสด็จวัดบางขุนพรหม" เพราะวังท่านอยู่ที่บางขุนพรหมทุกวันนี้ ท้ังสองวังมีวงปี่พาทย์ของท่าน เรียกกันว่า "วังอัมพวา" กับ "วังบางแค"
ถ้าท่านเสด็จสมุทรสงครามพร้อมกันแล้ว เสด็จวังบางขุนพรหม หลานมักจะนำเอาปี่พาทย์หลานมักจะนำเอาปีพาทย์วงอัมพวามาเล่นประชันกันที่ตำหนักภาโณทยาน ในเวลากลางคืนเดือนหงาย น้ำขึ้นเอ่อฝั่ง ท่านจะโปรดให้ปี่พาทย์ท้ังสองวงผลัดกันบรรเลงคนละเพลง ทั้งสองพระองค์ก็จะเสด็จประทับฟังปี่พาทย์บรรเลงก้องท้องน้ำในเวลาเดือนหงายๆ ว่าปี่พาทย์คืนเดือนหงาย น้ำเต็มฝั่ง ฟังไพเราะกินใจพาฝันเป็นนักหนา
นอกจากเจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี สมเด็จกรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์, สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส, สมเด็จกรมหลวงชัยวรศิริวัฒน์ ล้วนแต่เคยเสด็จเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น
นอกจากน้ัน เมืองสมุทรสงคราม ยังเป็นเส้นทางเดินเรือในสมัยโบราณ การเดินทัพไปรบพม่าทางเรือ ต้องเดินทางผ่านเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น เพราะฉน้ัน พระเจ้าตากสินมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ, กรมพระราชวังบวรมหาสุริสิงหนาท, กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ล้วนแต่เคยเสด็จผ่านเมืองสมุทรสงครามท้ังสิ้น
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เคยเสด็จมาอำนวยการสร้างป้อมพิฆาตข้าศึกที่เมืองนี้
สถานที่สำคัญที่่เจ้านายเสด็จ ในเมืองสมุทรสงคราม
๑.ค่ายบางกุ้ง เป็นค่ายสร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ พวกจีนมาตั้งจึงเรียกว่าค่ายจีนบางกุ้ง
พ.ศ. ๒๓๑๑ พม่ายกทัพมาล้อมค่ายจีนบางกุ้ง จวนจะเสียแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมด้วยพระมหามนตรี (บุญมา) จึงยกกองทัพเรือมาตีพม่าแตกพ่ายไปคร้ังหนึ่ง,พ.ศ. ๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เสด็จยกทัพไปตีค่ายบางแก้วเมืองราชบุรี ได้เสด็จโดยทางเรือและประทับพักพลที่ค่ายนี้อีกคร้ังหนึ่ง
๒. ป้อมพิฆาตข้าศึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑ แทนค่ายสมุทรสงคราม ซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ โปรดให้นายพลเรือเอก พระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต) มาอำนวยการสร้างโรงเรียนทหารเรือขึ้นแทน จอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยเสด็จเยี่ยมกองทหารเรือแห่งนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๖๘ ยุบเลิกกองโรงเรียนพลทหารเรือแห่งนี้ ยกให้เป็นที่ทำการศาลาว่าการเมืองสมุทรสงคราม,พ.ศ.๒๕๐๕ ศาลากลางจังหวัดย้ายไปอยู่ที่สร้างใหม่ บริเวณนี้จึงเป็นโรงพยาบาลสมุทรสงครามในปัจจุบัน
๓. ศาลาว่าการเมือง พ.ศ. ๒๔๔๗ สมัยรัชกาลที่ ๕ ต้ังอยู่ที่ริมคลองลัดจวน เหนือวัดใหญ่ปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเยี่ยม และลงพระปรมาภิโธยไว้ว่า
"๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ มาเที่ยว เรียบร้อยดี จุฬาลงกรณ์"
สมุดเยี่ยมนี้ทางจังหวัดยังเก็บรักษาไว้ จังหวัดสมุทรสงครามยังมีพระแสงศัตราวุธฝักทอง ด้ามทองเก็บรักษาไว้ที่คลังจังหวัดสมุทรสงคราม พระแสงศัตราวุธนี้เป็นของพระราชทานสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นธรรมเนียมว่า เวลาพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถึงเมืองนั้นๆ เจ้าเมืองจะต้องนำพระแสงราชศัตราวุธนี้มาทูลถวายคืนไว้ตลอดเวลาทีเสด็จประทับอยู่ที่เมืองนั้น เมื่อเสด็จกลับจึงพระราชทานคืนให้เป็นอาญาสิทธิ์ในการปกครองเมืองแก่เจ้าเมืองน้ันต่อไป
ศาลาว่าการเมืองสมุทรสงครามมีประวัติเกี่ยวกับเจ้านายเสด็จมาเยี่ยม คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ดังมีจดบันทึกไว้ และจักได้กล่าวต่อไป)
๔. ที่ว่าการอำเภออัมพวา ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แบ่งเขตการปกครองเป็นอำเภออัมพวาขึ้นใหม่ ขุนวิชิตสมรรถการ (รัตน์) เป็นนายอำเภอ ปลูกบ้านอยู่ตรงหัวแหลม เยื้องกับวัดท้องคุ้งปัจจุบันนี้ บ้านนายอำเภอก็ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอไปด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมารและเจ้านายองค์อื่นอีกหลายพระองค์ ได้เสด็จเหยียบบ้านขุนวิชิตสมรรถการ นายอำเภออัมพวา ประทับเสวยพระกระยาหารที่นี่ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗ คร้้นถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ก็เสด็จไปเยี่ยมถึงบ้านอีกครั้งหนึ่ง
๕.คลองอัมพวา พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชเคยเสด็จประพาสโดยเรือแจว ทอดพระเนตรคลองนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๔๗ เคยแวะประทับตำหนักเรือนไทยอัมพวา ของพระเจ้าลูกยาเธอกรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นสกุล บริพัตร) ซึ่งปลูกไว้ริมคลองนี้ สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ก็เคยเสด็จ รวมทั้งเจ้านายอื่นอีกหลายพระองค์
๖. วัดอัมพวันเจติยาราม เป็นวัดต้นตระกูลราชินิกุลบางช้าง เป็นสถานที่ประสูติของพระบาทพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี (สั้น) ทรงสร้าง, สมเด็จพระอมรินทรามาตย์ทรงบูรณะ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปรางค์และบูรณะคร้ังใหญ่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบูรณะพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรและบริจาคทรัพย์ ๔๐๐๐ บาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินต้น และทรงปลูกต้นโพธิ์ ต้นจันทน์ ไว้เป็นที่ระลึก เมื่อพ.ศ. ๒๕๐๑
๗. วัดเพชรสมุทรวรวิหาร มีพระพุทธรูปสำคัญอยู่ในโบสถ์วัดนี้ เป็นพระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรสมัยสุโขทัยตอนปลาย เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านชาวเมืองนับถือกันมาก เจ้านายหลายพระองค์เสด็จมานมัสการ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ, สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนารถ ถวายเงิน ๘๐๐ บาทบูรณะวัดนี้, กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงิน, สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และกรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ เสด็จมานมัสการ
๘. วัดใหญ่ วัดนี้เจ้าพระยารัตนธิเบศ (กุน รัตนกุล) สมุหนายกในรัชกาลที่ ๒ ได้บูรณะปฎิสังขรณ์ใหม่ท้ังอาราม โบสถ์ก็สร้างใหม่ด้วยฝืมือช่างหลวงงดงามมาก, ในรัชกาลที่ ๕ พระยาอมรินทร์ฤาไชย (จำรัส รัตนกุล) ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่ง, สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงชินวรศิริวัฒน์ เคยเสด็จทอดพระเนตร
๙. วัดพวงมาลัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จทอดพระเนตร, สมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงปลูกพระตำหนักภาโณทยานไว้ข้างวัดนี้ สมเด็จกรมพระนครสวรรค์วรพินิต เคยเสด็จประทับตำหนักนี้
๑๐. วัดดาวดึงส์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเจ้านายองค์อื่นๆเคยเสด็จทอดพระเนตรและเสวยพระกระยาหารที่ศาลาวัดนี้ น้ำที่ทำหน้าวัดนี้ถือเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการสรงมุรธาภิเศกทุกรัชกาล มีตำหนักของกรมหลวงอดิศรอุดมเขต ถวายปลูกไว้ที่วัดนี้ มีธรรมาสน์ของเจ้าจอมมารดาสำลี ถวายไว้ที่วัดนี้
๑๑. วัดประดู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยเสด็จทอดพระเนตร และประทับเสวยพระกระยาหารที่ศาลาวัดนี้
๑๒. วัดแก้วเจริญ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗ พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓.วัดดาวโด่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จทอดพระเนตรการบวชนาคที่วัดนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยเสด็จทอดพระเนตร
๑๔.วัดจุฬามณี เป็นวัดที่พระชนกทองและสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี เคยเสด็จสมาทานศีลอุโบสถที่วัดนี้เสมอ พระนิเวศน์เดิมของท่านก็อยู่บริเวณหลังวัดนี้ นอกจากนั้นสมเด็จพระอมรินทรามาตย์(นาค) สมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์(บุญรอด) พระบรมราชินีในรัชกาลที่๑ ก็ประสูติ ณ.ตำหนักหลังวัดนี้ ท้ังสองพระองค์
๑๕. วัดเหมืองใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระไตรปิฎกฉบับหลวง และพระบรมรูปถวายไว้ที่วัดนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๔๓๖
๑๖. วัดบางแคใหญ่ เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์) สมุหกลาโหมในรัชกาลที่ ๒ สร้างเมื่อพ.ศ. ๒๓๕๗ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเคยเสด็จทอดพระเนตร
๑๗. วัดโพธิ์งาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประทับแรมที่วัดนี้
๑๘. วัดเกตการาม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และประทับแรมที่วัดนี้
๑๙. วัดกลางเหนือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงเปิดโรงเรียนที่วัดนี้ ประทานเงินบำรุงโรงเรียน ๕๐ บาท
๒๐. วัดปากน้ำ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร
๒๑.วัดเสด็จ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และประทับแรม ๒ คราว ได้ทรงประทานชื่อว่า วัดเสด็จ ทรงประทานเงินสร้างอุโบสถ ๒๐๐ บาท และส่งช่างหลวงมาออกแบบอุโบสถด้วย
สมเด็จพระปิตุลาเจ้าสุขุมมารศรี และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ เคยเสด็จทอดพระเนตรและประทับแรมวัดนี้ ทรงประทานเงินสร้างอุโบสถด้วย ๒๕๐ บาท
๒๒.วัดบางสะแก สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร
๒๓.วัดช่องลม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร
๒๔. วัดบางขันแตก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร และทรงเปลียนชื่อวัดจากวัดอินทร์ประเสริฐ เป็นวัดบางขันแตก
๒๕. วัดบางประจันต์นอก สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร
๒๖.วัดธรรมนิมิตร สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณอุฎฐายีมหาเถระ วัดมกุฎกษัตริยาราม เคยเสด็จผูกพัทธสีมาวัดนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จทอดพระเนตร เมื่อ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๘
๒๗. วัดนางวัง สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณอุฎฐายีมหาเถระ วัดมกุฎกษัตริยาราม เคยเสด็จยกช่อฟ้าและผูกพัทธสีมา
๒๘. วัดบางน้อย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยเสด็จทอดพระเนตร
๒๙. สะพานพระพุทธเลิศหล้า สะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง ยาว ๗๑๐ เมตร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จผ่านเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น