คำนำ
พระธรรมบท (บทแห่งพระธรรม) ๔๖๓ บท หรือ ๔๒๓ พระธรรมขันธ์นี้ เป็นคัมภีร์สำคัญมาก ผู้อ่านจะได้ความรู้ในหลักธรรมคำตรัสสอนของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าครอบคลุมไป เปรียบเสมือนมองดูต้นโพธิพฤกษ์สูงใหญ่เห็นช่อใบ กิ่งก้านสาขา ลำต้น รากขวัญที่งอกงามออกไป จนรู้จักว่าต้นโพธิพฤกษ์ต้นสูงใหญ่นี้ เมื่อไปพบเห็นต้นโพธิพฤกษ์ที่ไปงอกอยู่ที่ไหนอีกก็จำได้ทันทีว่านี่คือต้นโพธิ เป็นลูกของต้นโพธิพฤกษ์ต้นเดิมมาแพร่พันธ์ุอยู่
คัมภีร์พระธรรมบทนี้ มีตำนานสืบเนื่องมาช้านาน คือ
๑. พระภิกษุชาวอินเดีย ได้รวบรวมเอาคำตรัสสอนในพระสุตตันตปิฎกมาร้อยกรองเป็นคำฉันท์ในภาษาบาลีแบ่งออกเป็นหมวดธรรม ๒๖ หมวด รวม ๔๒๓ ข้่อ หรือ ๔๒๓ พระธรรมขันธ์ เป็นยุคแรก
๒. พระภิกษุ สังฆรัตนะ แห่งมหาโพธิสภา แห่งเมืองสารนาถ ประเทศอินเดีย ได้แปลออกเป็นภาษาสันสกฤต ในอักษรเทวนาครี นับเป็นยุคที่สอง
๓. พระภิกษุ A.P. BUDDHADATTAMAHATHERA AGGARAMA , AMBALANGODA ,COLOMBO, CEYLON ได้แปลออกเป็นภาษาอังกฤษในประเทศศรีลังกา เป็นยุคที่สาม
๔. พระสุวิมลธรรมมาจารย์ (สวัสดิ์ ควงโต) วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ ได้แปลออกมาเป็นภาษาไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นยุคที่สี่
๕. พ.อ.ทวิช เปล่งวิทยา ได้นำเอาทั้ง ๓ เรื่องข้างต้นน้้น มาทำเป็นภาษาขอมเพิ่ม ซึ่่งเป็นอักษรที่ ๔ พิมพ์โรเนียวออกเผยแพร่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ เรียกว่า "ธรรมบทปัญจพากย์" คือ อักษรเทวนาครี อักษรขอม อักษรไทยภาษาบาลี คำแปลร้อยแก้วภาษาไทย และภาษาอังกฤษที่ท่านทำไว้ก่อนแล้ว เพียงแต่เป็นอักษรขอมขึ้นอีกแบบหนึ่ง ฉบับนี้สมบรูณ์ที่สุด นับเป็นยุคที่ ๕
๖. ข้าพเจ้านายเทพ สุนทรศารทูล ได้รจนาเป็นภาษากวีในรูปของโคลงสี่สุภาพ เพื่อรักษาแบบโบราณไว้ ทั้งนี้เพราะพระธรรมบทน้้นท่านก็รจนาไว้เป็นคำฉันท์ในภาษาบาลีมาแต่แรก ไม่ใช่ภาษาร้อยแก้วธรรมดา จึงนำมารจนา เป็นภาษาบาลีตามแบบฉันทลักษณ์ในภาษาไทย แบบโคลงสี่สุภาพ เพื่อรักษาประเพณีเดิมเอาไว้ อ่านแล้วจะได้รับอรรถรสในแบบธรรมรสในภาษาบาลีอันไพเราะกว่าภาษาร้อยแก้ว เรืองนี้ได้แต่งไว้นานถึง ๒๐ ปีแล้ว จึงเห็นว่าสมควรจะพิมพ์เผยแพร่ ดีกว่าทิ้งไว้ให้สาบสูญไปเสียเปล่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน คร้ังนี้นับเป็นยุคที่ ๖
๗. ต่อมา เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ ราชบัณฑิตยสถานได้จัดทำ "พระธรรมบทจตุรภาค" ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหาวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ เมือวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยได้เปลี่ยนแปลงสำนวนแปลภาษาไทย และภาษาอังกฤษผิดเพี้ยนไปจากที่ท่านธรรมบัณฑิตแต่เก่าก่อนได้ทำไว้ใน ๔ ยุค มีถ้อยคำสำนวนไม่เหมือนเดิม คร้ังนี้นับเป็นยุคที่ ๗
นี่คือประวัติอันสืบเนื่องยาวนานมาของการจัดทำ "พระธรรมบท" คัมภีร์อันสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าหากว่าไม่ได้อ่านพระธรรมบท ก็เรียกว่ายังศึกษาพระพุทธศาสนาไม่กว้างขวางพอ จึงสมควรอ่านคัมภีร์พระธรรมบทนี้โดยทั่วกัน
เทพ สุนทรศารทูล
๒๔ มกราคม ๒๕๔๕
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น