วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

กาพย์พระมาลัย



พระมาลัยเถระ 



โดย

                                                            เทพ สุนทรศารทูล

                                           กาพย์พระมาลัย
                                          
                                                  คำนำ
                "กาพย์พระมาลัย" โบราณเรียกพระมาลัยคำสวด หรือพระมาลัยกลอนสวด เพราะท่านอ่านสวดเป็นทำนองเสนาะ มีปี่พาทย์รับเป็นตอนๆไป การสวดพระมาลัยนี้เพื่อสั่งสอนอบรมประชาชนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ เป็นการเผยแพร่คำสอนในพระพุทธศาสนาที่แยบยล ได้รับรสไพเราะกินใจ




พระมาลัยพบพระศรีอารย์
     ข้าพเจ้าเป็นเด็กวัดตาก้อง นครปฐม ที่วัดมีการสวดพระมาลัยกลอนสวดอยู่เสมอ เป็นการสวดทำนองเสนาะ ฟังแล้วไพเราะกินใจทำให้เสียงสวดน้ันก้องอยู่ในโสตประสาทไม่ลืมและคิดเสมอว่าจะค้นคว้าเรื่องพระมาลัยกลอนสวดนี้

      ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  ได้พบหนังสือเล่มหนึ่งในวัดมหาธาตุ  ชื่อ "คำสวดพระมาลัย" พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพระครูศึลามุข (จันทร์ กิตติสิริ)  ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร วันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ ว่าเป็นฉบับของนายสุเมธ (บุญช่วย สถาวรสนิท) คัดลอกมาจากวัดราชาธิวาส  แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นคำประพันธ์ชนิดใด   การเรียงพิมพ์เป็นแบบเก่า ไม่ได้เรียงพิมพ์ตามแบบฉันทลักษณ์ที่นิยมกัน  เพราะคัดลอกกันต่อๆมา 

    ต่อมาก็พบหนังสืออีกเล่มหนึ่งชือว่า "จรัมบุญ" เขียนโดยท่าน "ศรีวัน"  พิมพ์แจกในงานศพของนางฉาย ประเสริฐสารบรรณ  ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๑๔  
   ท่านศรีวัน นี้คือสมเด็จพระอริยวงศาคนญาณ (ปุ่น)  พระเชตุพนฯ  
   หนังสือเล่มนี้ เล่าเรื่องพระมาลัยไว้ และมีรูปภาพจากหนังสือพระมาลัยมาลงไว้ด้วย 

     ข้าพเจ้ารู้สีกว่าเทวดาดลใจให้ข้าพเจ้าพบหนังสือที่ต้องประสงค์แล้วในการศึกษาเรื่องพระมาลัย  ข้าพเจ้าจึงลงมือชำระหนังสือพระมาลัยกลอนสวดเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๒  ได้ตรวจสอบชำระเป็นเวลา ๑๔  วัน ชำระจบ เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๒

  เหตุที่ชำระได้เสร็จเร็วเช่นนี้ เพราะข้าพเจ้ามีความชำนาญในการแต่งกาพย์อยู่พอสมควร เคยแต่งกาพย์ขนาดยาวมาแล้ว คือ กาพย์พญากงพญาภาณ    เมื่ออ่านคำกาพย์จึงทราบได้ในขณะนั้นเองว่า กาพย์นี้ชื่ออะไร ถูกต้องตามฉันทลักษณ์หรือไม่ ขาดเกินอยู่อย่างไร คำนั้นผิดเพี้ยนอย่างไร  ที่ถูกต้องควรจะเป็นอย่างไร 
   ข้าพเจ้าเคยชำระกาพย์สังขศิลปชัย บทกวีนิพนธ์คร้ังกรุงศรีอยุธยามาแล้วเรื่องหนึ่ง  เมื่ออ่านคำกาพย์พระมาลัย จึงทราบได้โดยง่าย 

     หลักสำคัญที่ข้าพเจ้ายึดถือในการชำระกาพย์พระมาลัยนี้ คือ
     ๑.เรียงคำให้ถูกต้องตามแบบแผนของกาพย์แบบนั้น
     ๒. บอกชื่อกาพย์ไว้ด้วยว่าชื่อกาพย์อะไร  จากต้นฉบับที่ไม่บอกไว้ หรือบอกไม่ตรง
     ๓. คงรูปถ้อยคำสำนวนเดิมของท่านไว้  ไม่เปลี่ยนแปลงเอาตามความคิดเห็นของตนเอง แม้คำบางคำจะเก่า  เข้าใจยาก 
     ๔. ถ้อยคำที่เห็นว่าเกินแบบแผนของกาพย์ชนิดนั้น ก็ตัดออกเสียบ้าง  เท่าที่เห็นว่าไม่เสียความ  แต่ที่จำเป็นก็คงไว้  แม้ว่าจะเกินคำกาพย์น้ันๆ 
    ๕. คำที่ตัดมาตกหล่น ไม่ครบคณะของคำกาพย์น้ันๆ  ก็สรรค์หาคำมาซ่อมให้ครบคณะ โดยไม่เสียความ  แต่ได้ความชัดเจนขึ้น 
    ๖. คำที่ไม่แน่ใจว่าคำเดิมเป็นอย่างไร ทั้งที่ไม่เข้าใจ ก็คงรูปคำน้ันไว้ 
     การชำระนี้ แน่นอนว่า รูปโฉมคงเปลียนไปบ้าง ไม่เหมือนฉบับเดิมทั้งสิ้น แต่ข้าพเจ้าขอรับรองด้วยจิตสำนึกของนักวรรณคดีว่า จะไม่ทำให้วรรณคดีชองชาติอันสำคัญเสียหายไปแม้แต่น้อย เพราะข้าพเจ้าทราบดีว่า นักกวีย่อมเลือกสรรคำมาได้อย่างดีที่สุดแล้ว 
  
   การชำระสะสางวรรณคดีโบราณก็ดี  การบูรณะปฎิสังขรณ์โบราณวัตถุก็ดี  มีคนทำอยู่  ๓ อย่างคือ
๑. อนุรักษ์ คือพยายามรักษาของเก่าไว้ให้ดีที่สุด ไม่เปลี่ยนแปลงเลย
๒.อภิรักษ์ คือ การชำระตบแต่งให้ดีขึ้นกว่าเดิม  ถ้าทราบว่าของเดิมเป็นอย่างไรก็ซ่อมให้ดีขึ้นเท่าของเดิม  ที่ยังไม่ชำรุดเสียหาย
๓. ปฎิรักษ์( ศัพท์ที่ข้าพเจ้าคิดขึ้น) คือการรือของเก่าแล้วสร้างขึ้นใหม่
การชำระของข้าพเจ้านี้   ขอรับรองด้วยเกียรติของนักวรรณคดีว่ ทำโดยวิธีที่๑ และวิธีที่๓  ปนกัน


     กลอนสวดพระมาลัยนี้  ถ้าจะเรียกให้ถูกต้อง ก็ต้องเรียกว่า "คำกาพย์พระมาลัย"  เพราะนักกวีท่านแต่งเป็นคำกาพย์  คำกาพย์นี้เป็นที่นิยมแต่งและนิยมอ่านของคนไทยมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ตัวอย่างเช่น  คำกาพย์สังข์ศิลปชัย หรือ "กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลปชัย"  นั้นมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  

     คำกาพย์นี้เมื่อนำมาสวดเป็นทำนองเสนาะแล้วก็ฟังไพเราะเสนาะโสต  นิยมกันมากจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังมีสวดกันที่พระระเบียงของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ในพระบรมมหาราชวัง  
    บรรดาลูกเจ้านายขุนนางมาหัดสวดกัน  ที่เรียกว่า "สวดโอ้เอ้วิหารราย"  นั่นแหละ  พึ่งมาเลิกร้างไปในสมัยกรมพระยาวชิรญาณวโรรส  เป็นพระสังฆราชในเวลาต่อมา  ท่านเห็นว่าการที่พระสวดแหล่กันนั้น  เป็นเหมือน "พระร้องเพลง" เสียสมณรูป จึงให้เลิกกันเสีย ความนิยมจึงจืดจางไปต้ังแต่นั้นมา  
     อันที่จริงการร้องเพลงสวดนี้มีมาในพระพุทธศาสนามานานกว่าหกร้อยปีแล้ว  และเรื่องที่ท่านสวดมากที่สุดมีอยู่สองเรื่อง คือ เรื่อง พระเวสสันดรชาดก ที่เรียกกันว่า มหาชาติ(ชาติใหญ่) เรื่องหนึ่งคือ พระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ที่จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า   เรื่องที่สองที่นิยมสวดคู่กันมาคือเรื่อง "กาพย์พระมาลัย"



พระมาลัยไปเมืองสวรรค์


พระมาลัยไปนรก

        ที่เป็นเรื่องเล่าว่า  พระมาลัยเทพเถร พระอรหันต์แห่งเมืองลังกา  ท่านมีอิทธิฤทธาปาฎิหาริย์แบบพระโมคัลลานะ ในสมัยพุทธกาล  คือท่านสามารถเหาะไปเยี่ยมนรก สวรรค์ได้ แล้วกลับมาเล่าให้ญาติโยมฟังว่า   ท่านได้พบเปรตในนรก ในชื่อนั้นๆ เป็นญาติพี่น้องลูกหลานพ่อแม่ของคนนั้น  กำลังได้รับทุกข์เวทนาอยู่ในนรก  สั่งมาให้ลูกเมียทำบุญอุทิศไปให้ด้วย 

     ท่านเล่าถูกต้องตรงกับความจริงหมดว่า เมื่อเป็นคนอยู่ในโลกมนุษย์นี้เปรตตนนั้นทำบาปกรรมอันใดไว้ จะไม่เชื่อท่านก็ไม่ได้  เพราะท่านบอกถูกต้องหมด ทำให้คนเลื่อมใสศรัทธาทำบุญอุทิศกุศลส่งไปให้เปรตในโลกนรก 
    ต่อมาท่านได้รับดอกบัวแปดดอกที่ยาจกคนหนึ่งถวายท่าน พระมาลัยจึงนำดอกบัวน้ันไปบูชาพระเจดีย์ พระจุฬามณีในดาวดึงส์ พระมาลัยจึงได้ไปพบเทวดา ที่มาบูชาพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศธาตุของพระพุทธเจ้าในดาวดึงส์กันมากมาย 
        
    ในที่สุดท่านได้พบพระศรีอารย์เสด็จมาบูชาพระเกศธาตุที่พระุจุฬามณี  พระมาลัยถามว่า เมื่อไรจะเสด็จลงไปประกาศธรรมสั่งสอนชาวโลก 
    พระศรีอารย์ก็ตรัสว่า  จะลงไปประกาศธรรมเมื่อสิ้นศาสนาพระสมณโคดมแล้ว  และเมื่อชาวโลกไม่เบียดเบียนกัน คนในศาสนาของท่านนั้นจะมีความสุขเหมือนเทพยดาในเมืองแมนแดนสวรรค์  จะไม่มีทุกข์ ไม่ยากจน ไม่มีโรคภัย คนหูหนวก ตาบอด บ้า ใบ้ คนเป็นโรคเรื้อนโรคฝี จะไม่เกิดมีในศาสนาพระศรีอารย์เลย  ทกคนจะมีรูปร่างสวยงามเหมือนกันหมด มองดูไม่รู้ว่าเป็นใคร 
     พระมาลัยถามว่า ทำบุญอย่างไร จึงได้ไปบังเกิดในศาสนาพระศรีอารย์  พระศรีอารย์ตรัสตอบว่า  ให้ทำทาน รักษาศีล กระทำสมณภาวนา  ให้ถวายอาหาร ไตรจีวร หยูกยา  สร้างวัดวาอารามให้พระสงฆ์อยู่เป็นสุข ไม่ให้ผิดศีลห้า 


          พระมาลัยคำกาพย์นี้ ข้าพเจ้าค่อนข้างมั่นใจมากว่า เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราชมี วัดมหาธาตุ ทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ในรัชกาลที่๒ โดยแปลมาจากฎีกาเรื่องพระมาลัยที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา 

       ที่สันนิษฐานดังนี้ เพราะในสมัยที่ท่านยังเป็นสมเด็จพระวันรัตน์ วัดราชบูรณะ  ท่านได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระสังฆราชสุก วัดมหาธาตุ ให้จัดพระสงฆ์วัดราชบูรณะ และพระสงฆ์วัดมหาธาตุ เป็นสมณทูตไปเจริญทางพระศาสนาในประเทศศรีลังกา   เป็นคณะสงฆ์ไทยคณะแรกที่ไปประเทศศรีลังกาสมัยกรุงเทพฯ
        พระสงฆ์คณะนี้คงจะได้อรรถกถาบาลีเรื่องพระมาลัยเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง  อรรถคาถาที่ได้มาในสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ คงจะสาปสูญไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๓๑๐ โน้นแล้ว 



     เมื่อได้อรรถกถาเรื่องพระมาลัยมาใหม่ สมเด็จพระสังฆราชมี จึงได้ทรงพระนิพนธ์เป็นคำกาพย์ในรัชกาลที่๒  ต่อมาท่านได้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช มาสถิตย์อยู่วัดมหาธาตุแล้ว ท่านจึงให้เจ้าคณะสงฆ์สวดพระมาลัยคำกาพย์นี้ คู่กับการเทศน์แหล่มหาชาติในงานสงกรานต์ 
     ที่่สันนิษฐานเช่นนี้ เพราะปรากฎว่า พระสังฆราชองค์นี้ ท่านเป็นนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนา  ท่านปฎิบัตกิจในพระศาสนาไว้หลายอย่างในสมัยที่ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราช 
    และขอเล่าไว้ตรงนี้ว่า ในขณะที่ข้าพเจ้ากำลังชำระเรื่องพระมาลัยคำกาพย์อยู่นั้น  ได้นิมิตพบสมเด็จพระสังฆราช และได้สนทนากันถึงเรื่องพระมาลัยคำกาพย์ด้วย 

     ข้าพเจ้าหวังว่า พระมาลัยคำกาพย์นี้ คงจะเป็นที่สนใจของนักวรรรณคดีรวมท้ังนักภาษาและนักการศาสนา  ผู้ที่รักวัฒนธรรมไทยและเอกลักษณ์ของไทยก็คงจะสนใจด้วย  เพราะกาพย์พระมาลัยนี้คือวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมทางจิตใจของไทยเราโดยแท้          ข้าพเจ้าหวังว่าสักวันหนึ่ง กงล้อประวัติศาสตร์คงจะหมุนกลับมาใหม่ ให้ทางวัดวาอารามนำเอาพระมาลัยคำกาพย์นี้ ออกมาสวดทำนองเสนาะกันให้ชาวบ้านฟังในวันตรุษสงกรานต์อีกคร้ังหนึ่ง  เหมือนสมัยพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว 

    การสวดพระมาลัยนี้เป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งที่เราควรฟื้นฟูรักษาไว้  มันเป็นวัฒนธรรมทางระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมทางจิตใจที่สำคัญมาก   ทำให้คนฟังรู้สึกบาปบุญคุณโทษ  และมีศรัทธาเชื่อถือในพระพุทธศาสนา

  คนโบราณท่านใช้มานานนับพันปีแล้ว   ปู่ย่าตายายเราคิดหาวิธีการฝึกฝนอบรมจิตใจศาสนิกชนไว้อย่างดีวิเศษ เราจึงควรฟื้นฟูการสวดแหล่ มหาชาติ  การสวดพระมาลัยขึ้นใหม่ 

    ข้าพเจ้าขอฝากความคิดนี้ไว้ให้ท่านวิญญูชนพิจารณาต่อไป  ถ้าหากว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราเห็นด้วย และช่วยกันฟื้นฟู ข้าพเจ้าจะเป็นสุขมาก ไม่เสียเวลาที่ชำระวรรณคดีเรื่องกาพย์พระมาลัยนี้ขึ้นมาก  ข้าพเจ้าต้องการเพียงเท่านี้ จึงลงทุนลงแรงชำระวรรคดีเรื่องนี้พิมพ์เผยแพร่แก่สาธารณชน เป็นวิทยาทานและธรรมทาน โดยถือคติที่ว่า "สัพพทานัง  ธัมมทานัง ชินาติ " ( การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทานท้ังปวง)  

                                                             เทพ สุนทรศารทูล
                                               
                                                             ๒๒  สิงหาคม ๒๕๓๒  









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น