วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

นิทานสัทธรรมคดี


นิทานสัทธรรมคดี 

คำแนะนำ

     นิทานสัทธรรมคดี คือนิทานสัจธรรมคดี แปลว่า เล่าเรื่องจริงให้ฟัง ในภาษาบาลีน้ัน ถ้าคำสมาสต่อท้ายขึ้นต้นด้วยตัว ธ. คำท้ายของคำนั้นต้องเป็นอักษร ท. คำว่า "สัจธรรม" จึงต้องเปลี่ยนเป็น  "สัทธรรม" แปลว่า "เรื่องจริง" นิทาน แปลว่า เล่าเรื่องให้ฟัง นิทานชาดก  แปลว่า เล่าเรื่องผู้เกิดในชาติก่อนให้ฟัง คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุญาณพิเศษเรียกว่า "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" คือ ญาณรู้แจ้งเรื่องชาติก่อน  จึงทรงเล่านิทานชาดกให้พระสาวกฟัง เพื่อสอนธรรมให้เห็นของจริง นอกจากนั้นยังทรงบรรลุญาณพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" (จุติ+ อุบัติ) คือญาณที่รู้แจ้งเรื่องการจุติ(ตาย) และอุบัติ(เกิด)  ของสัตว์อื่นว่า สัตว์นั้นชาติก่อนเกิดเป็นอะไร ตายไปเป็นอะไร แล้วเกิดมาชาตินี้ด้วยวิบากกรรมอันใด พระญาณพิเศษสองอย่างนี้ จึงทรงทราบย้อนหลังไปหลายแสนหลายล้านปีว่าพระองค์เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้างในชาตินั้นๆ  และทรงทราบว่าคนน้ันเคยเกิดเป็นอะไรในชาติก่อน  ด้วยวิบากกรรมอันใด จึงเกิดมาเป็นคนอายุสั้น อายุยืน รูปงาม รูปชั่ว สูงศักดิ์ ต่ำศักดิ์ มีปัญญาดี มีปัญญาทราม โรคมาก โรคน้อย รวย จน เพราะกรรมจำแนกสัตว์ให้แตกต่างกันไปตามบุญกรรมของตนในชาติปางก่อนและกรรมในชาตินี้ประสมกันทำให้วิถึชีวิตผิดแผกแตกต่างกัน  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเล่านิทานชาดกไว้มากมาย ล้วนแต่ทรงเล่าจากเรื่องจริงในชาติปางก่อนทั้งหมดทั้งสิ้น  นิทานชาดกจึงมีแต่ในศาสนาพุทธเท่านั้น   แต่พุทธศาสนิกชนในสมัยนี้มีศรัทธาอ่อน มีวิจิกิจฉา(ยุ่งยากหัวใจ) มาก  จึงไม่เชื่อเรื่องนิทานชาดก บางคนถึงขนาดว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักเล่านิทานเหมือนอิสป  เรื่องนี้ไม่ต้องสงสัยเลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้ว  และทรงพยากรณ์ว่าเมื่อศาสนาพุทธเสื่อมทรามลง พระอภิธรรมจะเสื่อมก่อน พระสูตรจะเสื่อมตาม พระชาดกจะเสื่อมตาม คนทั้งหลายจะไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์เคยเกิดเป็นพระเวสสันดรก่อนจะมาตรัสรู้ในชาติสุดท้ายนี้

     นิทานชาดกเป็นเรื่องจริงที่พระพุทธองค์ทรงเล่าให้พระสาวกฟัง เมื่อ ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว  บัดนี้คนไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ข้าพเจ้ามองเห็น "อันตรายิกธรรม" (คืออันตรายในพระศาสนา) กำลังมีมากในปัจจุบันนี้ จึงได้พยายามแต่งนิทาน "สัทธรรมคดี" ขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า "นิทานชาดก" คือ "นิทานสัทธรรม" เป็นเรื่องจริงในศาสนาพุทธ นิทานสัทธรรมคือ นิทานสัจธรรมเป็นการเล่าเรื่องจริงให้ฟัง (นิทาน แปลว่า เล่าให้ฟัง สัทธรรม แปลว่า สัจธรรมคือเรื่องจริง คดี แปลว่า เรื่องราว รวมความแปลว่า  เล่าเรื่องจริงให้ฟัง)   คือการเล่าเรื่องชาติก่อนให้ฟัง  ขอท่านสาธุชนจงอ่านเพื่อบำรุงศรัทธาของท่านจะได้ไม่มี "วิจิกิจฉา" ต่อไป ผู้ที่มีวิจิกิจฉาจะไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง บุญบาปไม่ติดตามไปให้ผลในชาติหน้า  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เพราะการได้พบพระพุทธศาสนาเป็นของยากนัก สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่แสนยากมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
   ๑. กิจโฉ มนุสสปฎิลาโภ   การได้ลาภเกิดมาเป็นมนุษย์นี้แสน                                                  ยากนัก
   ๒.กิจฉัง มัจจานะชีวิตัง   การเกิดมาแล้วรอดพ้นมัจจุราชเป็น                                                 ของยากยิ่ง
    ๓. กิจฉัง สัทธัมมัสสวนัง การได้พบพระพุทธศาสนาได้สดับ                                                 พระสัทธรรมเป็นของแสนยากยิ่ง
    ๔. กิจโฉ พุทธานมุปปาโท การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าตาม                                               ลำดับยุค เป็นของแสนยากยิ่ง

    การได้ลาภเกิดมาเป็นมนุษย์ มีชีวิตรอดตายมาได้จนเติบใหญ๋ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสสดับพระธรรมนี้ เป็นของแสนยากยิ่ง อย่าให้เสียทีที่เกิดมาในชาตินี้เลย 

                                                            เทพ  สุนทรศารทูล

                                                            ๘ เมษายน ๒๕๓๘

ประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลม






ประวัติ 
หลวงพ่อวัดบ้านแหลม


     หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เสมือนหนึ่งเป็นเพชรมณีอันมีค่าคู่เมืองสมุทรสงคราม ชาวสมุทรสงครามเคารพสักการะพระพุทธรูปองค์นี้กันมาหลายชั่วคน ใครไปเมืองสมุทรสงครามไม่ได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนหนึ่งไม่ได้ไปเมือง
สมุทรสงคราม ใครพูดถึงเมืองสมุทรสงคราม ไม่่กล่าวถึงนามหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนไม่รู้จักเมืองสมุทรสงคราม ความสำคัญของหลวงพ่อบ้านแหลม ถ้าจะเปรียบก็คงเปรียบได้เช่นนี้
     องค์หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปางอุ้มบาตร ขนาดสูงแต่ปลายนิ้วพระบาทถึงยอดพระเกศมาลา ๑๖๗ ซม.คือเท่าขนาดคนธรรมดานี่เอง ฐานพระบาทสูง๔๕ ซม. เป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเด่นเป็นพิเศษคือ พระพักตร์งามเหมือนพระพักตร์เทพบุตร กล่าวกันว่าเพราะมีพระพักตร์เป็นเทวดานี่เอง เทวดาจึงมาสิงสถิตรักษาองค์หลวงพ่ออยู่ให้เป็นพระศักดิ์สิทธิ์,พระบาทไม่สวมฉลองพระบาทแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์ สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเศียรน้ันไม่สวมเทริดชฎาแบบพระโพธิสัตว์ สมัยอยุธยา พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สังฆาฎิพาดยาวลงมาถึงพระชงฆ์ แต่ไม่มีลายเป็นดอกดวงเป็นแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ฐานรองพระบาทน้ันตอนบนทำเป็นรูปดอกบัวบานรองรับ ตอนล่างทำเป็นฐานหักมุม ๑๒ มุม เป็นรูปฐานพระเจดีย์ ชั้นล่างสุดทำเป็นฐานเท้าสิงห์มีลวดลายสวยงามมาก
รูปที่ถ่ายไว้เป็นรูปทรงเครื่องเต็มยศ กล่าวคือ สวมสายสะพายพาดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ คาดรัดประคดปักดิ้นเงิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานถวายเป็นพุทธบูชา บาตรแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงประทานถวายหลวงพ่อไว้ในรัชกาลที่ ๕ เวลานี้ท้ังเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รัดประคดและบาตรแก้ว ทางวัดเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ
พระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมนี้ ทางกรมศิลปากรได้จดทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุแห่งชาติไว้แล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๘๒

     ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า กาลคร้ังหนึ่งมีพี่น้องชาวเมืองเหนือ ๕ คนบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน  มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก จึงพร้อมใจกันตั้งสัจจอธิษฐานว่า "เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์แม้ตายไปแล้วก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน"

     คร้ันพระอริยบุคคล ๕ องค์ดับขันธ์ไปแล้วก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูป ๕ องค์ ด้วยปรารถนาจะปลดเปลื้องทุกข์ให้คนทางเมืองใต้  จึงพากันแสดงฤทธิ์ปาฎิหารย์ให้พระพุทธรูป ๕ องค์ลอยน้ำได้ และลอยมาทางใต้ตามแม่น้ำหลัก ๕ สาย  ชาวบ้านชาวเมืองเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใสศรัทธาจึงได้อาราธนาให้ขึ้นสถิตตามวัดต่างๆ  โดยพระพุทธรูปองค์แรกลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา  เรียกว่า "หลวงพ่อโสธร" องค์ที่สองลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม เรียกว่า "หลวงพ่อวัดไรขิง" องค์ที่สามลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เรียกว่า "หลวงพ่อโต"  องค์ที่สี่ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม เรียกว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" องค์ที่ห้าลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี เรียกว่า"หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา" 
     พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์นี้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาหลั่งไหลกันมาสักการระมิได้ขาดทั้งชาวไทยและต่างชาติ
     พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ที่ลอยน้ำมานี้ มีเพียงองค์เดียวที่เป็นพระพุทธรูปยืน คือองค์ที่ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลองและขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม  สมุทรสงคราม เรียกกันติดปากว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" 

  วัดบ้านแหลมมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ  ได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๒ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงครามถึง ๔ คร้ัง และได้กราบนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม จากหลักฐานปรากฎอยู่คือ ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์เป็นภาพพิมพ์อย่างดีสอดสีซึ่งพิมพ์จากต่างประเทศ ขนาดกว้างประมาณ ๒๔ นิ้วฟุต พร้อมด้วยกรอบสลักลวดลายอย่างสวยงามมาก ไว้ที่วัดบ้านแหลมปรากฎอยู่ทุกวันนี้ นอกจากน้ันยังได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ๑ สาย รัดประคดเอว ๑ สาย ถวายแด่หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพุทธบูชาด้วย

    ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนี้ แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ ถึงกับรับสิ่งว่า วัดบ้านแหลมมีของขลังและสิงศักดิ์สิทธิ์
    ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นมีเล่าลือกันมาก ผู้ที่ประสบด้วยตนเองก็มีอยู่จนทุกวันนี้ ดังยืนยันได้จากลายพระหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ มาลงไว้ให้ท่านพิจารณาดังต่อไปนี้

"สวนจิตรลดา บริเวณดุสิต กรุงเทพฯ
วันที่ ๖ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๔
นมัสการมายังท่านพระครูมหาสิทธิการทราบ
ปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปเมืองสมุทรสงครามในกระบวนหลวง ได้รับสั่งให้คนนำเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อวัดบ้านแหลม และได้รับสั่งตั้งแต่คร้ังน้้นว่า ขอผลอานิสงส์ความเลื่อมใส จงดลบันดาลให้หายประชวร ครั้นเสด็จกลับกรุงเทพฯ ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงต้ังสัตยาธิษฐานไว้ จึงทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า ๘๐๐ บาทมาเพื่อช่วยในการปฎิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้าพเจ้าได้ส่งมาให้ท่านพระครู ทางกระทรวงธรรมการแล้ว"

     เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖ เกิดโรคอหิวาห์ระบาดผู้คนล้มตายกันมากทั้งกรุงเทพฯและหัวเมือง โดยเฉพาะเมืองสมุทรสงคราม  ขณะน้ัน ท่านเจ้าคุณพระสนิทสมณคุณ (เนตร) เป็นเจ้าอาวาส ท่านฝันว่า  หลวงพ่อบ้านแหลมให้ไปจดคาถาที่มือของท่านไปเสกน้ำมนต์แก้โรคอหิวาต์  ท่านจึงไปปลุกขุนประชานิยม (อ่อง ประชานิยม) กลางดึกแล้วเข้าไปในโบสถ์ เอาเทียนส่องดูที่พระหัตถ์ขวาของหลวงพ่อบ้านแหลม  ก็ปรากฎว่าที่พระหัตถ์ขวาของหลวงพ่อบ้านแหลมปรากฎมีอักขระว่า "นะ มะ ระ อะ"  ที่พระหัตถ์ซ้ายปรากฎว่ามีอักขระ "นะ เท วะ อะ"  ท่านจึงจดคาถานี้ไปทำน้ำมนต์ ให้อาบกินกันปรากฎว่าโรคภัยไข้เจ็บก็เงียบสงบไปต้ังแต่นั้นมา 

     คาถาหลวงพ่อบ้านแหลม  "นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ"นี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธ์  ข้าพเจ้าได้อธิษฐานจิตนึกถึงหลวงพ่อบ้านแหลมว่า "เรื่องอะไรของหลวงพ่อก็รู้เกือบหมดแล้ว  ยังแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ขอให้รู้ด้วย"   วันหนึ่งข้าพเจ้าก็เกิด "มุตโต"  สว่างโพลงขึ้นในใจเองว่า 

      "นะ มะ ระ อะ" แปลว่า พระอรหันต์ไม่ตาย 
     (นะ คือ ไม่ มะระ คือ มรณะ อะ คือ อรหันต์)

     " นะ เท วะ อะ" แปลว่า พระอรหันต์ไม่ใช่เทวดา
      (นะ คือ ไม่ เทวะ คือเทวดา อะ คือ อรหันต์)