วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

นิราศอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์


นิราศอิเหนา
 บทพระราชนิพนธ์ของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์

คำนำ


     ข้าพเจ้าได้ศึกษาค้นคว้าพบว่า "นิราศอิเหนา" ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านว่าเป็นของสุนทรภู่นั้น  ที่จริงเป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายทินกร)  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสืบสายขัตติยกวีมาแต่พระราชบิดา ทั้งนี้เพราะสุนทรภู่แต่งนิราศไม่เคยขึ้นต้นคำกลอนว่า "นิราศ" เลยแม้แต่เรื่องเดียว แต่นิราศอิเหนาขึ้นต้นคำกลอนวา่ 

     "นิราศร้างห่างเหเสน่หา         ปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา"
     
     และอีกอย่างหนึ่งคือ นิราศอิเหนานี้เป็น "สำนวนกลอนสุภาพ" ผิดกับนิราศสุนทรภู่ ที่เป็น "สำนวนกลอนตลาด"  คนที่เป็นกวีจะรู้รสของกวี จะรู้ว่าสำนวนกลอนทั้งสองประเภทนั้นแตกต่างกัน  ยิ่งกว่าน้ัน นิราศอิเหนาเป็นแบบ "พรรณนาโวหาร"  ส่วนนิราศของสุนทรภู่ทุกเรื่องเป็นแบบ "บรรยายโวหาร"  ข้อสำคัยคือ นิราศอิเหนานี้ต่างกับนิราศของสุนทรภู่ทั้ง "สำนวน" และ "โวหาร"

     นิราศอิเหนา บทประพันธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์นี้ ข้าพเจ้าเขียนแล้วส่งไปลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘

     ที่ข้าพเจ้ากล้าหาญเสนอเรื่อง "นิราศอิเหนา บทประพันธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์" นี้ ไม่ใช่ว่าจะข้ามกรายภูมิปัญญาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแต่อย่างใดเลย  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงศึกษาเรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ในยุคสมัยโน้น  เอกสารข้อมูลต่างๆ ยังไม่ค่อยมี จึงทรงสันนิษฐานว่านิราศที่มีลักษณะคำกลอนแปดแบบของสุนทรภู่น้ัน ต้องเป็นของสุนทรภู่ โดยมิได้พบหลักฐานว่า ลูกศิษย์สุนทรภู่หรือคนที่เป็นกวีรุ่นหลังสุนทรภู่ มักแต่งกลอนแบบสุนทรภู่ทั้งสิ้น  แต่ถ้าอ่านอย่างวิเคราะห์ วิจัย และเป็นผู้รู้รสกวีแล้ว จะทราบความแตกต่างดังกล่าวมาแล้ว  ดังเช่นมีผู้พบหลักฐานใหม่ว่า นิราศพระแท่นดงรังไม่ใช่ของสุนทรภู่เป็นของนายมี  เพราะปีวอกที่สุนทรภู่ออกจากราชการนั้น คือพ.ศ.๒๓๖๗ แต่ปีวอกที่นายมีชะตาตกเป็นปีวอก พ.ศ.๒๓๗๙ ห่างกันถึง ๑๒ปี   นี่คือหลักฐานที่หักล้างทฤษฎีเก่าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ไม่เป็นการเสียพระเกียรติ ไม่เห็นว่าจะเป็นศิษย์คิดล้างครูอย่างไร ตรงกันข้ามกลับเป็นการทำคุณประโยชน์ให้แก่การศึกษาวรรณคดีโบราณด้วย  

     เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงเสนอทฤษฎีใหม่ในทางวรรณคดีให้ท่านผู้สนใจวิชาวรรณคดี ได้พิจารณาว่า  "นิราศอิเหนา" นี้ไม่ใช่ของสุนทรภู่ แต่เป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์  ลูกศิษย์สุนทรภู่  เพราะ "นิราศอิเหนา" นี้เป็น "กลอนสุภาพ"  ไม่ใช่ "กลอนตลาด"  และ นิราศอิเหนา เป็น "พรรณนาโวหาร" แต่งง่ายกว่า สำนวนกลอนแบบบรรยายโวหารของสุนทรภู่ คนที่เป็นกวีและแต่งนิราศมาแล้วจะเข้าใจได้เป็นอย่างดี 

                                                     เทพ  สุนทรศารทูล
                                                   
                                                      ๑๙ มกราคม ๒๕๒๘
     



กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์


     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ พระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าชายทินกร เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา  ซึ่งเป็นราชินีกุลบางช้าง  คือเจ้าจอมมารดาศิลาเป็นธิดาของขรัวยายฟักทอง  ขรัวยายฟักทองเป็นธิดาของขุนสนิทภิรมย์ ขุนสนิทภิรมย์เป็นบุตรของท่านยายมุก  ท่านยายมุกเป็นธิดาของท่านยายชี ท่านยายชีเป็นธิดาของท่านตาปะขาวพลาย ฉนั้น เจ้าจอมมารดาศิลา จึงเป็นราชินีกุลบางช้างสายห่างสืบมาแต่ท่านตาเจ้าปะขาวพลา ซึ่งเป็นต้นวงศ์ราชินีกุลบางช้าง 

     เจ้าจอมมารดาศิลา เป็นพระชายาของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่พวกวงศ์ราชินีกุลบางช้าง มักจะถวายบุตรหลานให้เป็นเจ้าจอม ของเจ้านายในพระราชวงศ์สืบต่อกันมาโดยตลอด ด้วยถือตามประเพณีของศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้าที่นิยมสมรสกันอยู่ในวงศ์เดียวกัน ประเพณีนี้ถือปฎิบัติกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดาศิลา มีพระราชโอรสธิดา ๕ พระองค์

      ๑. พระองค์เจ้าหญิงวงศ์ 
     ๒. พระองค์เจ้าชายพนมวัน ได้ทรงเป็นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
           เป็นต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา
     ๓. พระองค์เจ้าชายกุญชร ได้ทรงเป็นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์                   เป็นต้นราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา
    ๔ . พระองค์เจ้าชายทินกร ได้ทรงเป็นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์                 ฤทธิ์ เป็นต้นราชสกุล ทินกร ณ อยุธยา
     ๕.  พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล

     พระองค์เจ้าชายทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ประสูติในขณะที่บิดาดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๒ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๔๔

     ปรากฎหลักฐานจากหนังสือเรื่อง "เฉลิมพระยศเจ้านาย"ว่า 

     "พระบาทสมเด็จปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบูลยปรีชาอันมหาประเสริฐ ทรงมีพระราชดำริว่า 

     พระเจ้าพี่ยาเธอ  พระองค์เจ้าชายทินกร ทรงพระปรีชารอบรู้ในราชกิจต่างๆ  ควรที่จะได้เป็นเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ ให้ต้ังพระนามขึ้นตามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎว่า กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ครุฑนาม จงเจริญด้วยพระชนมายุ วรรณ สุข พล สิริสวัสดิ์ เทอญ"

     เจ้ากรม เป็น หลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์
     ปลัดกรม เป็น ขุนพินิจบริบาล
     สมุห์บาญชี เป็น หมื่นชำนาญลิขิต
     ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุน ตรีศก ศักราช ๑๒๑๓"
     ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๔

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ได้ว่าการกรมนครบาลอยู่ในรัชกาลที่ ๔ จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๓๙๙
   
     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ทรงสืบสายขัตติยกวีมาแต่พระพุทธเลิศหล้านภาลัย และโดยข้อเท็จจริงน้ันพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีนี้เป็น"กษัตริย์วงศ์กวี" มาแต่พระพุทธยอดฟ้ามหาราชจนถึงปัจจุบันนี้  นอกจากนั้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ยังเป็นศิษย์สุนทรภู่ในทางการแต่งกลอนด้วย จึงเป็นขัตติยกวีเอกองค์หนึ่งอยู่ในสมัยน้ัน  ยังปรากฎพระนิพนธ์เป็นหลักฐานยืนยันอยู่ในปัจจุบันนี้หลายเรื่อง  โดยเฉพาะคำกลอนน้ัน มีลีลาการประพันธ์แบบครูกลอนสุนทรภู่ จนกระทั่งคนทั้งหลายเข้าใจผิดว่าเป็นคำกลอนสุนทรภู่  แต่ถ้าอ่านโดยสังเกตุอย่างแยบคายแล้ว  จะเห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากคำกลอนสุนทรภู่ ซึ่งเป็นสามัญชน แต่กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์นั้นเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ ท่านเป็นเจ้านาย ท่านเป็นผู้ดีชั้นสูงโดยสายเลือดและการศึกษา  อบรมมาในราชตระกูล ท่านจึงใช้ถ้อยคำสูงส่ง ใช้ถ้อยคำประณีต ละเมียดละไม มีความหมายแหลมคม มีความลึกซึ้ง สำนวนกลอนสุภาพราบเรียบ เรียกว่า "กลอนสุภาพ"  ไม่เหมือนคำกลอนสุนทรภู่ ซึ่งเป็นคำกลอนที่เรียกว่า "กลอนตลาด"และสุนทรภู่แต่งนิราศไม่เคยขึ้นต้นคำกลอนว่า "นิราศ"  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ นิราศอิเหนา ถ้าอ่านกันอย่างผิวเผินก็จะว่าเป็นของสุนทรภู่  แต่ถ้าอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ แบบ "วรรณคดีวิเคราะห์"  "วรรณคดีวิจัย" แล้ว จะเกิด "วรรณคดีวิจักษ์"  คือประจักษ์ใจว่า่ นิราศอิเหนาเป็นพระนิพนธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์  เพราะนิราศอิเหนานี้ เป็นนิราศชนิด "จินตกวี"  เหมือนนิราศนรินทร์ของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้าจุ้ย)  พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  นิราศอิเหนานั้นไพเราะกว่านิราศของสุนทรภู่ทุกเรื่อง  สำนวนโวหารก็ต่างกัน ของสุนทรภู่เป็น "บรรยายโวหาร" ส่วนของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์เป็น "พรรณนาโวหาร"

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ทรงพระนิพนธ์บทกวีไว้หลายเรื่อง ที่มีหลักฐานอยู่ในบัดนี้ คือ

     ๑. เรื่องมณีพิไชย
     ๒. เรื่องสุวรรณหงส์
     ๓. เรื่องนางแก้วหน้าม้า
     ๔.นิราศฉะเชิงเทราคำโคลง
     ๕. นิราศอิเหนา
     ๖. เพลงยาวสังวาส ๔ สำนวน
     ๗.บทละครเรื่องเทวัญจันกุลา
     ๘. โคลงฤาษีดัดตนวัดพระเชตุพน 

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ทรงสร้างวัดไว้วัดหนึ่งทึ่เมืองนนทบุรี เดิมชื่อวัดคลองด้วน ต่อมาพระอุบาลีคุณปมาจารย(ธีร์) วัดจักรวรรดิราชาวาส ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า  "วัดทินกร" ตามพระนามของพระองค์เจ้าชายทินกร

    กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๙ ทรงเป็นต้นราชสกุล ทินกร ณ อยุธยา  ในฐานะที่ทรงเป็นกวีเององค์หนึ่ง มีผลงานกวีนิพนธ์ทิ้งไว้เป็นมรดกในวงศ์วรรณคดีหลายเรื่อง จึงน่าจะมีใครรวบรวมบทกวีของพระองค์ท่านพิมพ์ออกเผยแพร่ และควรจะมีการหล่อพระรูปของพระองค์ท่านประดิษฐานไว้ที่วัดทินกรด้วย

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ มีทายาทสืบราชสกุลต่อมา ดังจะเขียนแผนผังให้เห็นดังนี้คือ 

                                 กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์
                                                    |  
                                 หม่อมเจ้าไพบูลย์ ทินกร
                                                    |
                                 หม่อมราชวงศ์สะอาด ทินกร
                                                    |                             
                      พลตรี หลวงยุทธกิจบริหาร (ม.ล.โอสถ ทินกร)