วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง


หลวงพ่อแช่ม  วัดตาก้อง 







หลวงพ่อแช่่ม  อินทโชโต  พระเกจิอาจารย์แห่งลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี  จ.นครปฐม อีกรูปหนึ่งของจังหวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพนับถือของมหาชนมาตั้งแต่ครั้งสงครามอินโดจีน  เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งใกล้ไกล  หลวงพ่อแช่่ม เป็นพระผู้ทรงอภิญญา  มีญาณทัศนะหยั่งรู้วาระจิต ท่านเป็นผู้ทรงวิทยาคมและพุทธาคมเป็นเลิศ  เจ้าของฉายาว่า  "เหรียญปืนไขว้"

หนังสือ ประวัติหลวงพ่อแช่ม  วัดตาก้อง












                       ในหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง" ของ เทพ สุนทรศารทูล กล่าวไว้ว่า เมื่อท่านจำพรรษาอยู่ ณ กุฏิแห่งนี้ ชาวบ้านพากันมากราบท่านทุกวี่วัน ซึ่งคงขัดนัยน์ตาสมภารกร่ายยิ่งนัก ที่หลวงพ่อแช่มมีญาติโยมมาเยี่ยมกราบมิได้ขาด ความไม่ชอบใจหลวงพ่อแช่มของสมภารกร่ายได้นำไปสู่การร้องเรียนต่อเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะจังหวัด โดยสมภารกร่ายเป็นผู้ร้องเรียนด้วยตัวท่านเอง ที่สุดนำไปสู่การสอบสวนด้วยข้อกล่าวหาที่ฉกรรจ์ถึง ๙ ข้อด้วยกัน และข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ

"รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์ อวดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ผิดศีลของพระภิกษุ"

การสอบสวนหลวงพ่อแช่มนั้น มีเจ้าคณะจังหวัดพร้อมด้วยเจ้าคณะตำบลและคณะผู้ติดตาม เดินทางมาสอบสวนถึงวัดตาก้อง เมื่อมาถึงกุฏิที่หลวงพ่อแช่มปลูกเป็นศาลา พบหลวงพ่อแช่มนุ่งสบงผืนเดียวนั่งขัดสมาธิคอยอยู่บนพื้นกระดานแผ่นใหญ่ที่ปูอยู่กับพื้นดิน มีไม้ขอนวางรอง ไร้เฟอร์นิเจอร์ใดๆ ทั้งสิ้น กระทั่งเสื่อปูรองก็ไม่มี

ต่อข้อกล่าวหาว่า "รดน้ำมนต์ ให้หวย ทำเสน่ห์ เป็นหมอรักษาไข้ให้ชาวบ้าน ผิดกิจของสงฆ์" เจ้าคณะจังหวัดได้ถามต่อว่า "เป็นหมอรักษาไข้จริงหรือเปล่า"

หลวงพ่อแช่มตอบว่า "ผมไม่เคยเป็นหมอรักษาไข้ใคร นอกจากมีคนป่วย ญาติเขามาหาถามอาการดู เห็นว่าพอรักษาได้ก็ให้คนไปซื้อยามา ผมก็เอาลงหม้อ เสกให้เอาไปต้มกินเท่านั้น"

เจ้าคณะจังหวัดถามต่อว่า "แล้วหายไหมเล่า"

หลวงพ่อแช่มตอบว่า "ก็เห็นบอกว่าหายดี"

"เป็นหน้าที่ของสงฆ์หรือเปล่า พระพุทธเจ้าเคยเป็นหมอรักษาใครบ้างหรือเปล่า" เจ้าคณะจังหวัดได้ถามหลวงพ่อแช่มต่อ

คำตอบจากหลวงพ่อแช่ม คือ "การเป็นหมอรักษาไข้ ไม่ใช่หน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ เป็นหน้าที่ของหมอ แต่ถ้าเขาหมดทางรักษา เรามียาอยู่ ควรจะสงเคราะห์เพื่อนมนุษย์ให้เขาพ้นทุกข์ ผมก็ต้องสงเคราะห์ไปจะผิดจะถูกอย่างไรผมก็ยอม ผมไม่ใช่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ผมจะเป็นได้ก็พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีช่วยเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ถ้าผมเห็นว่าควรจะสละศีลเพื่อช่วยชีวิตเขา ผมก็จะสละ ถ้าผมคิดว่าจะสละวินัยเพื่อช่วยคนให้พ้นทุกข์ ผมก็จะสละ ถ้าผมพบผู้หญิงกำลังจะจมน้ำตาย ผมก็จะกระโดดน้ำลงช่วยอุ้มเขาขึ้นมาให้รอดตาย ถึงผมจะถูกปรับอาบัติว่าสังฆาทิเสส ผมก็จะยอม ผมจะไม่รักษาศีลบริสุทธิ์ยอมให้คนจมน้ำตายไปต่อหน้า ถ้าผมทำเช่นนั้นผมก็ไม่รู้ว่าผมบวชเพื่ออะไร"

ครั้นแล้วการสอบสวนก็เป็นอันเสร็จสิ้น เจ้าคณะจังหวัดได้บอกว่า "คุณไม่มีความผิดอะไร" จากนั้นก็ได้สนทนากับหลวงพ่อแช่มถึงการเดินธุดงค์และคาถาอาคมต่างๆ

นอกจากนี้แล้ว เทพ สุนทรศารทูล ได้กล่าวถึงตอนท้ายของการสอบสวนหลวงพ่อแช่ม โดยเจ้าคณะจังหวัดในหนังสือ "ประวัติหลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง" ว่าในที่สุดเจ้าคณะจังหวัดก็ถามว่า "ไหนคุณว่าคุณมีดีกว่าพระภิกษุอื่น คุณมีดีกว่าอย่างไร"

หลวงพ่อแช่ม ก็ว่าอิติปิโสแปดบทให้ฟัง แล้วก็ว่าอิติปิโสถอยหลังให้ฟัง จบแล้วก็บอกว่าพระองค์อื่นก็ว่าอิติปิโสเดินหน้าได้อย่างเดียว แต่ผมนั้นเชี่ยวชาญขนาดว่าทะแยงก็ได้ ว่าถอยหลังก็ได้ จะไม่ดีกว่าพระอื่นได้อย่างไร

หลวงพ่อแช่ม เป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิด เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕ ตั้งแต่เยาว์วัยได้ศึกษาร่ำเรียนอักขระทั้งภาษาไทยและภาษาขอมกับพระอาจารย์จ้อย วัดดอนเจดีย์ ผู้เรืองวิทยาคม พระอาจารย์เห็นถึงคุณวิเศษและความใฝ่ใจของหลวงพ่อแช่ม จึงประสิทธิ์ประสาทวิทยาการด้านพุทธเวทพร้อมเคล็ดลับต่างๆ ให้โดยไม่ปิดบัง ซึ่งท่านก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างแตกฉาน ต่อมาเมื่ออายุครบบวช ท่านจึงเดินทางกลับมาอุปสมบท ณ บ้านเกิด ที่วัดตาก้อง ได้รับฉายา "อินทโชโต" มรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ สิริอายุ ๘๖ ปี พรรษาที่ ๗๖



เหรียญหลวงพ่อแช่มรุ่นแรก
เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม รุ่นแรก สร้างเป็นเหรียญปั๊มขอบหยัก บางทีจึงเรียกกันว่า "เหรียญพัดพุดตาน" หรือ "เหรียญกงจักร" มีหูในตัวแล้วเชื่อมต่อด้วยห่วงกลม โดยสร้างเป็นเนื้อทองแดง มีทั้งแบบรมดำและไม่รมดำ

ด้านหน้าตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อแช่มนั่งครองจีวรห่มคลุม เต็มองค์ มือข้างซ้ายยกขึ้นและมีอักขระขอม "ตัวนะ" ที่ฝ่ามือ ไม่มีอาสนะสำหรับรองนั่งแต่กลายเป็น "ปืนไขว้" แทน ซึ่งเป็นอุปเท่ห์อย่างหนึ่งทางไสยเวทเรียกกันว่า "ข่มอาวุธ" หรือเรียกว่าเป็นการตัดไม้ข่มนาม โดยรอบมีอักษรไทยว่า "หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง" มีอักขระขอมตรงอกเป็น "ตัวอะ" และบริเวณโดยรอบองค์ท่านอ่านว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" ในหยักทั้ง ๑๖ หยัก มีพระนามย่อ พระเจ้าสิบหกพระองค์ อ่านว่า "นะมะนะอะ นอกอนะกะ กอออนออะ นะอะกะอํ"

เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรกนี้ยังแบ่งแยกออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์หูเดียวและพิมพ์สองหู มีความแตกต่างกันที่ใบหูของรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม ถ้าเป็น "พิมพ์หูเดียว" หูที่รูปเหมือนจะมีเพียงหูข้างขวาของท่านเพียงหูเดียว ส่วน "พิมพ์สองหู" รูปเหมือนจะปรากฏหู ๒ หู แบบปกติ แต่พิมพ์หูเดียว จะมีจำนวนน้อยกว่าจึงเล่นหาได้ยากกว่า สนนราคาเช่าหาจึงสูงกว่า

แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ไหนก็ตาม "เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๔" ก็นับเป็นเหรียญเก่าแก่ที่มีความเป็นเลิศในด้านพุทธคุณ คุ้มครองป้องกันภยันตรายต่างๆ ได้ฉมัง


ภาพจิตรกรรมยันต์๑๐๘
จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ วิหาร และศาลาวัด สวนใหญ่เป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติมหาชาติชาดก ประเพณีท้องถิ่น รวมทั้งภาพจากวรรณคดี แต่ปัจจุบันมีวัดหลายแห่งรวมทั้งจิตรกรหลายท่านมักจะใส่ภาพเหตุการณ์ปัจจุบันลงไปด้วย สร้างสีสันเป็นข่าวฮือฮาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาพจิตรกรรมฝาผนังบนศาลาวัดตาก้อง แม้ว่าจะไม่มีภาพเหตุการณ์ปัจจุบันให้เป็นข่าวฮือฮา แต่จิตรกรรมฝาผนังของวัดแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าขลังสุดๆ สามารถใช้เป็นตำราเล่มใหญ่ของผู้สนใจในอักขระเลขยันต์ ทั้งนี้ พระครูสาราภิวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดตาก้อง ใช้เงินหลายล้านบาทจ้างช่างมาวาดภาพยันต์ด้วยสีน้ำมัน พร้อมคำบรรยายไว้ครบ ๑๐๘ ยันต์

พระครูสาราภิวัฒน์ให้เหตุผลว่า ไม่อยากให้คนลืมที่จะศึกษาเรื่องอักขระเลขยันต์ การลงยันต์หรือการเขียนยันต์นั้นจะใช้อักขระขอม ซึ่งเขียนเป็นตัวย่อของพระคาถาแต่ละบท เพราะหากเขียนพระคาถาลงไปในยันต์ทั้งหมดเนื้อที่คงไม่พอ จึงใช้อักขระย่อ ส่วนตัวเลขที่อยู่ในยันต์ก็ย่อมาจากอักขระของพระคาถา ข้อควรระวังในการลากเส้นยันต์นั้นควรลากทีเดียวให้ตลอดไม่ใช่ลากแล้วหยุด หากลากแล้วหยุดถือว่ายันต์นั้นใช้ไม่ได้ ต้องใช้คาถาหรือสูตรในการต่อเส้นยันต์นั้นใหม่ยันต์นั้นจึงจะใช้ได้

อุปเท่ห์อย่างหนึ่งของการลงอักขระเลขยันต์ คือให้ระวังอย่าลงอักขระทับเส้นยันต์เพราะจะทำให้ยันต์นั้นใช้ไม่ได้ ท่านเรียกว่าเป็นยันต์ตาบอด การลงยันต์หรือการเขียนยันต์หากยันต์นั้นมีคาถาหรือสูตรกำกับไว้ผู้เขียนจะต้องภาวนาคาถานั้นไปด้วยพร้อมกับการลงยันต์ ฉะนั้นจึงต้องใช้สมาธิสูง ส่วนขั้นตอนและวิธีการลงยันต์พร้อมทั้งสูตรต่างๆ ยังมีอีกมาก

สำหรับผู้ที่มีความสนใจเรื่องอักขระเลขยันต์ หากใครได้แวะไปกราบไหว้ขอพรรูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม หากมีเวลามากพอน่าจะขึ้นไปชมภาพ "จิตรกรรม ยันต์ ๑๐๘" บนศาลาชั้น ๒