วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2560

กาพย์สังข์ศิลป์ชัย (คำแนะนำ)


คำแนะนำ

     กาพย์สังข์ศิลป์ชัยนี้ เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า  "สังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด"   มีต้นฉบับสมุดไทยอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ๕ ฉบับ  นอกจากน้ันยังมีของคุณขจร สุขพานิช  ได้ถ่ายไมโครฟิลม์มาจาก  บริติส มิวเซียม ประเทศอังกฤษ นำมามอบไว้ให้แก่หอสมุดแห่งชาติ  แสดงว่าวรรณคดีเรื่องนี้ แม้พิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษก็เก็บรักษาไว้

     ต่อมา ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้รักวรรณคดีไทย ได้พิมพ์เป็นของชำร่วยในงานพระราชทานผ้าพระกฐิน ที่วัดป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง  เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๒  ได้เขียนคำนำไว้ว่า

     "กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ที่นำมาพิมพ์เป็นของชำร่วยในงานพระราชทานผ้าพระกฐินคร้ังนี้ เป็นกลอนสวดซึ่งหาอ่านได้ยาก และไม่เคยพิมพ์มาก่อน  กลอนสวดมีความใกล้ชิดกันคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะในการหัดให้เด็กอ่านออกเขียนได้  และเป็นการชักจูงให้คนเลื่อมใสในหนังสือและพุทธศาสนาในสมัยโบราณ  เมื่อเด็กอ่านประสมอักษรได้แล้ว  ครูผู้สอนก็จะอ่านกลอนสวดเรื่องต่างๆ เพราะมีนิทานสุก และคำกลอนอ่านง่าย  มักใช้คำไทยเป็นพื้น  เด็กแต่ก่อนจึงอ่านหนังสือได้แตกฉานเพราะกลอนสวด อีกประการหนึ่งนิทานไทยบางเรื่อง  ถือเป็นเรื่องเกิดขึ้นเพราะบุญกรรม ผู้แต่งต้องการสั่งสอนพระธรรม และต้องการอานิสงส์ทางศาสนา  กลอนสวดโดยมากแต่งขึ้นด้วยเหตุนี้  การอ่านกลอนสวดในวัดเป็นประเพณีนิยมของคนไทยแต่ก่อน  แม้ในปัจจุบันก็ยังมีบางแห่ง  ที่ทางวัดจัดคนอ่านกลอนสวดให้อุบาสก อุบาสิกาฟังในระหว่างพระเทศน์ ประเพณีนี้นับวันแตจะสูญหาย  กลอนสวดก็จะไม่มีผู้รู้จัก  จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะนำมาพิมพ์เผยแพร่ให้รู้จักกัน"

     อันที่จริงสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดนี้ กวีท่านแต่งไว้เป็นคำกาพย์  สำหรับอ่านทำนองเสนาะในวัดในวังในสมัยโบราณ  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ยังมีการอ่านทำนองเสนาะในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่านพระมหาครูที่เป็นพระหรือฆราวาสมาฝึกหัดลูกเจ้านาย ขุนนางหัดสวด ซึ่งเรียกกันว่า "สวดโอ้เอ้วิหารราย" มีจุดประสงค์ ๒ อย่างคือ  ฝึกหัดให้เด็กอ่านหนังสือ และเป็นการสอนธรรมะในพระพุทธศาสนาแก่เด็กไปพร้อมกันอีกอย่างหนึ่ง 

     กาพย์เรื่องสังข์ศิลป์ชัยนี้ มีมาแต่กรุงศรีอยุธยา สัณนิษฐานว่า พระมหาราชครู(กล่อม)  ได้แต่งไว้ในสมัยพระนารายณ์มหาราช เพราะมีการกล่าวถึงเรื่องโหรและคำพยากรณ์ไว้มากในเรื่องนี้  กล่าวถึงเรื่องดวงชะตา กล่าวถึงจิ้งจกตก การ้อง เรื่องเขม่น ซึ่งเป็นตำราโหราศาสตร์โบราณไว้มาก  คนอื่นๆไม่น่าจะมีความรู้ทางโหราศาสตร์มากอย่างนี้ 

     ข้าพเจ้าเห็นว่า เรื่องสังข์ศิลป์ชัยนี้เป็นวรรณคดีโบราณอันมีค่ามาก  แม้ฝรั่งก็ยังเอาต้นฉบับไปเก็บรักษาเอาไว้  จึงได้ลงมือชำระปรับปรุงให้ถูกต้องตามลักษณะของคำกาพย์  ที่ผิดก็แก้ไขให้ถูก ที่ไม่มีความในวรรคนี้(ต้นฉบับชำรุด)  ก็แต่งให้ครบถ้วนกระบวนความของคำกาพย์นั้นๆ  ในที่นี้ต้องการรักษาต้นฉบับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ฉบับของพระมหาราชครูไว้  จึงได้ทำการอภิรักษ์ขึ้นไว้ 

     ขอเรียนว่าการอนุรักษ์ต้นฉบับวรรณคดีโบราณนั้น  มีวิธีการทำอยู่ ๔ ประการคือ

     ๑. อนุรักษ์ คือ รักษาต้นฉบับเดิมไว้ให้ดีเหมือนแรกแต่ง  วิธีนี้ทำยากเพราะไม่ทราบว่าเดิมท่านแต่งไว้อย่างไร
     ๒. อวรักษ์ คือ รักษาต้นฉบับไว้ตามที่ชำรุดบกพร่องนั้น  ไม่พยายามแก้ไขเลย เช่นวิธีที่พิมพ์ไว้ในคราวทอดกฐินพระราชทานที่วัดป่าโมก คือต้นฉบับที่นำมาเป็นหลักในการชำระใหม่คราวนี้
     ๓. ปฎิรักษ์ คือ รื้อของเก่าทิ้ง  แล้วแต่งใหม่ ตามแบบที่พระนั่งเกล้าฯ ทรงทำแล้วในการที่ทรงพระนิพนธ์ใหม่
     ๔. อภิรักษ์ คือ ปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าของเดิม  ได้แก่การที่ทำในคราวนี้ ได้แต่งเพิ่มเติมที่ขาดตก (ต้นฉบับชำรุด ต้นฉบับไม่มีความตอนนี้)  ได้ตัดคำที่เกินคำกาพย์ออก ได้แก้คำที่ผิดพลาดให้ถูกต้อง  เรียกว่า  อภิรักษ์  แปลว่า ทำให้ดีกว่าเดิม ชื่อคำกาพย์เดิมไม่บอกไว้ ก็บอกว่าเป็นคำกาพย์ชนิดใด ที่บอกผิดก็บอกให้ถูกต้อง  ที่ใช้ถ้อยคำผิดก็แก้ไขเสียให้ถูกต้อง เพราะเป็นของเก่าโบราณนานมากแล้ว จึงจดผิดพลาดบกพร่องมากมายหลายแห่ง  ข้าพเจ้าได้ใช้ความกล้าหาญในการแก้ไขในคราวนี้ ขอให้ผู้สนใจจงใช้ฉบับวัดป่าโมก มาเทียบเคียงดูว่าข้าพเจ้าได้แก้ไขไปเป็นอย่างไรบ้าง  ท่านผู้อ่านมีสิทธิวิพากย์วิจารณ์ได้เต็มที่ เพราะวรรณคดีเรื่องนี้เป็นสมบัติของชาติ 
     
     ข้าพเจ้าทำเรื่องนี้ฝากไว้ในบรรณพิภพ และขออุทิศให้พระมหาราชครู(กล่อม)  กวีเอกในสมัยพระนารายณ์มหาราช ผิดชอบประการใดเป็นของข้าพเจ้าเพียงประการผู้เดียว 

                                                      เทพ  สุนทรศารทูล

                                                      ๑๗ มกราคม ๒๕๓๗




กลอนสวดสำหรับสวด


     ในหนังสือ "สังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด" นั้น ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ได้เขียนคำนำไว้ตอนหนึ่งว่า

  "กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ที่นำมาพิมพ์เป็นของชำร่วยในงานพระราชทานผ้าพระกฐินคร้ังนี้ เป็นกลอนสวดซึ่งหาอ่านได้ยาก และไม่เคยพิมพ์มาก่อน  กลอนสวดมีความใกล้ชิดกันคนไทยมาช้านาน โดยเฉพาะในการหัดให้เด็กอ่านออกเขียนได้  และเป็นการชักจูงให้คนเลื่อมใสในหนังสือและพุทธศาสนาในสมัยโบราณ  เมื่อเด็กอ่านประสมอักษรได้แล้ว  ครูผู้สอนก็จะอ่านกลอนสวดเรื่องต่างๆ เพราะมีนิทานสุก และคำกลอนอ่านง่าย  มักใช้คำไทยเป็นพื้น  เด็กแต่ก่อนจึงอ่านหนังสือได้แตกฉานเพราะกลอนสวด อีกประการหนึ่งนิทานไทยบางเรื่อง  ถือเป็นเรื่องเกิดขึ้นเพราะบุญกรรม ผู้แต่งต้องการสั่งสอนพระธรรม และต้องการอานิสงส์ทางศาสนา  กลอนสวดโดยมากแต่งขึ้นด้วยเหตุนี้  การอ่านกลอนสวดในวัดเป็นประเพณีนิยมของคนไทยแต่ก่อน  แม้ในปัจจุบันก็ยังมีบางแห่ง  ที่ทางวัดจัดคนอ่านกลอนสวดให้อุบาสก อุบาสิกาฟังในระหว่างพระเทศน์ ประเพณีนี้นับวันแตจะสูญหาย  กลอนสวดก็จะไม่มีผู้รู้จัก  จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะนำมาพิมพ์เผยแพร่ให้รู้จักกัน"

         คำนำที่ ฯพณฯ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ เขียนไว้นี้ น่าสนใจมาก มีสาระสำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

     ๑. กลอนสวดเรื่องสังข์ศิลป์ชัย ไม่เคยพิมพ์มาก่อน  พึ่งถ่ายทอดจากสมุดข่อยมาพิมพ์เป็นครั้งแรก ในพ.ศ.๒๕๑๒ เป็นหนังสือหาอ่านได้ยาก  ข้าพเจ้าก็ไม่เคยได้อ่านมาก่อน  และไม่เคยทราบว่ามีหนังสือสังข์ศิลปชัยกลอนสวดอยู่   ทราบแต่ว่ามีบทละครนอกเรื่องสังข์ศิลปชัย ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงนิพนธ์เมื่อดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเรามักจะเหมาเอาว่าเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  หนังสือสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดมีมาก่อนบทละครนอกเรื่องสังข์ศิลป์ชัย  คงจะได้เค้าเรื่องมาจากสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดนี้ (ต่อมา องค์การค้าคุรุสภาได้พิมพ์วรรณคดีเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดออกเผยแพร่ แต่ยังมิได้ชำระปรับปรุงให้ถูกต้อง)
     
     ๒. กลอนสวดมีความใกล้ชิดกันคนไทยมาช้านาน  ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาแล้ว  หนังสือเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวดนี้ เป็นหนังสือทีแต่งขึนในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้คัดลอกกันต่อๆมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์  มีหลักฐานปรากฎอยู่ในคำไหว้ครูว่า

     "ข้าขอแต่งบทกลอน                 นิยายมอญแต่ก่อนมา
     เป็นเรื่องราวนานเก่าคร่ำคร่า     นานนักหนามาก่อนไกล
     สมุดก็สูญหาย                           เพราะวุ่นวายเสียเมืองใหญ่
     บทกลอนข้าจำได้                     ผูกเอาไว้เป็นนิทาน"

     ได้ความว่าสมุดข่อยของเดิมสูญหายไป ตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา  ผู้แต่งจำบทกลอนได้ จึงเขียนขึ้นใหม่ตามสำนวนเดิม 

     ๓. ผู้แต่งต้องการสั่งสอนธรรม และต้องการอานิสงส์ทางบุญกุศล กลอนสวดโดยมากแต่งด้วยเหตุนี้  ดังปรากฎจากคำไหว้ครูว่า

     "ขอให้ปัญญาข้า                       ไปเมื่อหน้าเรืองชัชวาล
     ทรงไตรปิฎกสถาน                     ให้ใหญ่ยิ่งพ้นประมาณ
     ขอให้บริบูรณ์                             กว่าจะดับสูญได้นิพพาน
     มั่นคงแต่โพธิญาณ                    ให้ตลอดรอดต้นปลาย"

     แม้แต่ผู้คัดลอกหนังสือนี้ ก็เขียนคำส่งท้ายไว้เป็นคำอธิษฐานว่า

     "ข้าพเจ้าผู้เขียน แต่ทำความเพียร เขียนช้านานมา กว่าจะได้แต่ละตัว ลำบากหนักหนา เพราะแก่ชรา อุตส่าห์สร้างบารมี"

     ๔. ในสมัยโบราณ พระสงฆ์เป็นครู เมื่อสอนเด็กประสมอ่านอักษรไทยแล้ว  ครูผู้สอนจะให้เด็กอ่านกลอนสวด เป็นการฝึกหัดอ่านหนังสือไทย เพราะกลอนสวดนั้ มีนิทานสนุก ให้เด็นสนใจอยากอ่าน พอรู้เรื่องก็ตื่นเต้น อ่านไม่เบื่อหน่าย คำกลอนอ่านง่าย ด้วยใช้ภาษาชาวบ้านเป็นพื้น เป็นการฝึกให้เด็กอ่านทำนองเสนาะ มีความไพเราะคล้องจอง เด็กอ่านได้ไม่เบื่อทำให้เด็กๆสนใจคำร้อยกรองมาแต่เด็ก  ในเวลาเดียวกันก็เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไปโดยไม่รู้ตัว  รู้จักบาปบุญคุณโทษ รู้จักนรก สวรรค์ นิพพาน มาแต่เด็ก จากที่สมัยโบราณพระสงฆ์เป็นครูบาอาจารย์ทำให้ได้ผลดีมาก คนไทยสมัยโบราณจึงมีศีลธรรม รู้จักบาปบุญคุณโทษ  มีเมตตากรุณา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยิ้มแย้มแจ่มใส จนฝรั่งเรียกว่า สยามเมืองยิ้ม บ้านเมืองก็สงบร่มเย็น เพราะอิทธิพลของวรรณคดีพระพุทธศาสนาประเภทกลอนสวดนี้

     ๕. ในวันพระ ๘ ค่ำ ที่วัดจัดให้มีพระธรรมเทศนาเป็นประจำ มีอุบาสก อุบาสิกา มาทำบุญตักบาตร ถือศีลอุโบสถ ฟังธรรมเทศนา  ในระหว่างรอพระเทศน์นี้ ท่านก็จัดให้เด็กวัดที่อ่านหนังสือคล่องมาอ่านกลอนสวด อ่านเป็นทำนองเสนาะ จึงเรียกว่า "กลอนสวด"  ฟังเพลินได้ความรู้ทางพระพุทธศาสนา เป็นประเพณีไทยมาแต่โบราณ ดังเช่นเรื่องสังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด 

     สรุปได้ว่า กลอนสวด ไม่ได้แต่งขึ้นสำหรับอ่านธรรมดา แต่แต่งขึ้นสำหรับขับร้องลำนำประเภทหนึ่ง  มีท่วงทำนองพิเศษ  เป็นคำสวดมนต์อย่างหนึ่งแบบครูอินเดีย  คือกลอนสวดมีท่วงทำนองต่างๆกันหลายแบบ  ถ้าใครเคยฟังกลอนสวดทำนองเสนาะ เช่นสวดพระมาลัย แล้วก็จะเข้าใจ ดูเหมือนปัจจุบันจะมีการฟื้นฟูขึ้นใหม่แล้ว 


     กลอนสวดคืออะไร

     กลอนสวดทุกเรื่อง เป็นคำกลอนที่แต่งด้วยคำกาพย์ทั้งสิ้น ไม่ได้แต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดอื่นเลย

     คำกาพย์ในบทกวีของไทยเรานั้น มีอยู่ ๕ ชนิด
     ๑.กาพย์ยานี ๑๑
     ๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
     ๓.กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
     ๔.กาพย์ขับไม้ ๓๖ 
     ๕. กาพย์ห่อโคลง

     ๑. กาพย์ยานี ๑๑ มี ๑๑ พยางค์ คือ
     
      ข้าไหว้พระสรรเสริญ               ทั้งสมเด็จพระศาสดา
      โปรดสัตว์ในสังสาร์                 ให้รอดจากบ่วงมาร

     ๒. กาพย์ฉบัง ๑๖ มี ๑๖ พยางค์คือ

     ผู้เดียวเพื่อนเที่ยวพงไพร           ไม่มีใครใคร
    ผู้ใดมาเป็นภรรยา

     ๓. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘  มี ๒๘ พยางค์คือ

     รั้ววังคลังทอง                           มากมายก่ายกอง
     ยิ่งกว่าทั้งหลาย
     รี้พลโยธา                                 ช้างม้าวัวควาย
     ลูกค้ามาขาย                            สำเภาเพตรา

     ๔. กาพย์ขับไม้ ๓๖ มี ๓๖ พยางค์  มักใช้แต่งกล่อมพญาช้างเผือกในพิธีสมโภชขึ้นระวาง   และใช้ในพิธีศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น  ไม่ใช้แต่งนิทานทั่วไป  ตัวอย่างกาพย์ขับไม้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขับกล่อมพญาช้างเผือก ดังนี้

    อ้าแม่หัตถี              ผู้ประเสริฐศรี           งามลักษณาวรรณ
   แม่เป็นพรหมพงศ์   สมเป็นช้างทรง        พิเศษเผ่าพันธุ์
   อย่าร่ำโศกศัลย์       ถึงแดนอารัญ           พ่อแม่ญาติสหาย

     ๕. กาพย์ห่อโคลง  คือกาพย์ยานี ๑๑  สลับกับโคลงสี่สุภาพ ใช้แต่งในเรื่องเห่เรือ ชมมัจฉา ชมสาคร ชมเครื่องคาวเครื่องหวาน 


      แกงไก่มัสมั่นเนื้อ            นพคุณ 
      หอมยี่หร่ารสฉุน              เฉียบร้อน
      ชายใดบริโภคภุญช์        พิศวาส หวังนา
      แรงอยากยอหัตถ์ช้อน    อกไห้ หวนแสวง ฯ

     มัสมั่นแกงแก้วตา            หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
     ชายใดได้กลืนแกง          แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา 

     กลอนสวดสังข์ศิลป์ชัย   ได้อ่านจนจบแล้ว ท่านแต่งด้วยคำกาพย์ ๓ ชนิดคือ
     ๑. กาพย์ยานี ๑๑
     ๒. กาพย์ฉบัง ๑๖
     ๓. กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ 
     ซึ่งเหมือนกลอนสวดเรื่องอื่นๆ  เช่นเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา  กาพย์มโนรา กาพย์พระมาลัย กาพย์กากี เป็นต้น

     เพราะฉนั้นจึงพอสรุป หรือตั้งเป็นกฎเกณฑ์ได้ว่า ที่เรียกว่า "กลอนสวด" นั้นคือบทประพันธ์ประเภท "คำกาพย์" นั่นเอง

      "สังข์ศิลป์ชัยกลอนสวด" จึงควรเรียกให้ถูกต้องว่า กาพย์สังข์ศิลป์ชัย" อย่างเช่น กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ 

     หนังสือเรื่อง"สังข์ศิลปชัยกลอนสวด" จึงขอเรียกว่า "กาพย์สังข์ศิลปชัย" ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  เพื่อให้ผู้ศึกษาวรรณคดีเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นคำกาพย์ ไม่ใช่คำโคลง ไม่ใช่คำฉันท์ ไม่ใช่ลิลิต 

     คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองของไทย แบ่งออกเป็น ๘ ชนิด

     ๑.๑ กลอน ๔ คล้ายกาพย์สุรางคนางค์ ต่างกันอยู่ที่กาพย์สุรางคนางค์มี ๗ วรรคๆละ ๔ พยางค์  แต่กลอน ๔ มี ๘ วรรคๆละ ๔ พยางค์
     ๑.๒ กลอน ๖ มี ๖ พยางค์ คล้ายกลอน ๘ ซึ่งมี ๘ พยางค์
     ๑.๓ กลอน ๘ มี ๘ พยางค์
     ๑.๔ กลอนสุภาพ คือกลอน ๘ นั่นเอง  แต่เรียกให้เข้าคู่กับโคลงสี่สุภาพ 
      ๑.๕ กลอนตลาด  คือกลอน ๘ แต่ใช้คำสามัญ หรือภาษาตลาด หรือภาษาพูดแบบคนทั่วไปเหมือนกลอนสุนทรภู่ 
     ๑.๖ กลอนเสภา คือ กลอนที่แต่งขึ้นสำหรับขับเสภา  แต่มีคำตั้งแต่ ๖- ๙ พยางค์ก็ได้  เวลาขับก็เอื้อนเสียงให้สั้นยาวเข้ากับทำนองเสภา  เป็นเพลงพื้นเมืองอย่างหนึ่ง อย่างเสภาขุนช้างขุนแผน เสภาหม่อมเป็ดสวรรค์ 
     ๑.๗.กลอนสักวา คือกลอนแปด ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "สักวา"  มี ๘ วรรคลงท้ายด้วยคำว่า "เอย"
     ๑.๘ กลอนดอกสร้อย คือกลอนแปดที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เอ๋ย"  เช่น "ดอกเอ๋ยดอกสร้อย"  "แมวเอ๋ยแมวเหมียว"  มีแปดวรรคและลงท้ายด้วยคำว่า "เอย" เสมอ  
     ๑.๙ กลอนปล่อย คือกลอนที่ขึ้นต้นลงท้ายลอยๆ ไม่มีกำหนด นิยมแต่งกันในหมู่นักกลอน  ไม่ลงท้ายว่า "เอย "ทิ้งไว้ด้วนๆเช่นนั้น 
     ๑.๑๐ กลอนเปล่า คือกลอนประกอบร้อยแก้วธรรมดา  แต่เรียงเป็นประโยคมีถ้อยคำวรรคละเท่าๆกัน  แต่ไม่สัมผัสคล้องจองกันเลย 

     ๒ คำโคลง 
     ๒.๑ โคลง ๑ คือ ร่ายสั้น มี ๕ คำหนึ่งวรรค
     ๒.๒ โคลง ๒ มีสองวรรค หรือ สองบท
     ๒.๓ โคลง ๓ มีสามวรรค หรือ ๓ บท
     ๒.๔ โคลงสี่ มี ๔ วรรค ๔ บทแบ่งเป็น
     ๒.๔.๑ โคลงสี่สุภาพ
     ๒.๔.๒ โคลงดั้นวิวิธมาลี
     ๒.๔.๓ โคลงดั้นบาทกุญชร
     ๒.๔.๔ โคลงดั้นพิพิธพรรณ
     ๒.๔.๕ โคลงดั้นจตุวาทัณที

    ๓. คำกาพย์ มี ๕ ประเภท
    ๓.๑ กาพย์ยานี ๑๑
    ๓.๒ กาพย์ฉบัง ๑๖
    ๓.๓ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘
    ๓.๔ กาพย์ขับไม้ ๓๖
    ๓.๕ กาพย์ห่อโคลง

     คำกาพย์แต่งขึ้นสำหรับอ่านทำนองเสนาะ เรียกว่า "กลอนสวด" คำว่า "กลอน" หมายถึงคำที่แต่งคล้องจองกัน "สวด" หมายถึง พร้อมกันหลายๆหนในทางพุทธศาสนา มาจากคำว่า "สังวัธยาย" เช่น "สังวัธยายมนต์ หรือ"สวดมนต์" มีความหมายอย่างเดียวกัน 

    ๔. คำฉันท์ คำฉันท์ประเภทต่างๆ มีมากมาย ได้แบบมาจากคำฉันท์ในภาษาบาลี  พระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ไทยเรานิยมแต่งในหมู่นักกวีชั้นสูง  แต่งยาก อ่านยาก มีคำหนักเบา ได้แก่ สามัคคีเภทคำฉันท์ ฑีฆาวุคำฉันท์ เสือโคคำฉันท์ฺ อุณรุทคำฉันท์ อิเหนาคำฉันท์ กากีคำฉันท์ 

     ๕. คำร่าย ได้แก่
     ๕.๑ ร่ายสุภาพ แบบแผนวรรคละ ๕ คำ สัมผัสคำที่ ๓ 
     ๕.๒ ร่ายดั้น อาจมี ๕-๖ คำก็ได้ 
     ๕.๓ ร่ายสั้น คือคำที่มีคำวรรคละ ๕ คำ 
     ๕.๔ ร่ายยาว คือคำที่มีคำวรรคละกว่า ๕ คำ อาจถึง ๙ ถึง ๑๐ ก็ได้  ตัวอย่างคือ ร่ายยาวจากมหาเวสสันดรชาดก

     "ยามมีบุญเขากะวิ่งมาเป็นข้า   พึ่งพระเดชเดชาให้ใช้สอย
  เฝ้าป้อยกสอพลอพลอยทุกเช้าค่ำ ยามเพลี่ยงพล้ำเขากระหน่ำซ้ำซ้อมชัก"

     ๖. ลิลิต แปลว่า มีลีลา  มีท่วงทำนองตามอารมณ์ เป็นคำผสมระหว่างร่ายกับโคลง  ไม่ใช่คำประพันธ์ที่มีลักษณะเฉพาะตัว  ที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ลิลิตพระลอ ลิลิตตะเลงพ่าย (ยวนพ่าย ไม่ใช่ลิลิต เป็นโคลงดั้น)  

     ๗. เพลงกาล คำประพันธ์นี้แต่งสำหรับขับร้องเพลงพื้นเมืองต่างๆของไทย  เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงลำตัด เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงปรบไก่ เพลงเทพทอง เพลงอีแซว เพลงโคราช  เพลงระบำบ้านไร่  เพลงต่างๆเหล่านี้น่าศึกษาและควรฟื้นฟูอย่างยิ่ง  เพราะเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ แสดงถึงเอกลักษณ์ของไทย 

     ๘. แหล่ คำขับร้องประเภทหนึ่ง แต่งสำหรับแหล่ เช่นแหล่มหาชาติ แหล่ทำขวัญนาค 

     ที่นำคำประพันธ์ประเภทต่างๆมาแสดงไว้ ก็เพื่อแสดงหลักฐานว่า คำประพันธ์ไทยมีมากมายไม่มีชาติไหนสู้ได้เลย
    
     กลอนสวดเป็นคำประพันธ์ของไทย ซึ่งก็คือคำกาพย์นั่นเอง  แต่แต่งขึ่นสำหรับสวดเกี่ยวกับพุทธศาสนาเป็นการสอนธรรมแก่ประชาชน ไทยเราใช้มาแต่โบราณกาล พึ่งจะมาเสื่อมความนิยมไป บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องฟื้นฟูขึ้นใหม่ เพราะเป็นสมบัติวัฒนธรรมของไทยเรา  เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย  ไม่มีชาติใดเหมือนไทยเราเลย  เพื่อให้ลูกหลานเราภาคภูมิใจในสมบัติวัฒนธรรมของชาติไทยเราต่อไป


           




     



วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

นิทานสัทธรรมคดี


นิทานสัทธรรมคดี 

คำแนะนำ

     นิทานสัทธรรมคดี คือนิทานสัจธรรมคดี แปลว่า เล่าเรื่องจริงให้ฟัง ในภาษาบาลีน้ัน ถ้าคำสมาสต่อท้ายขึ้นต้นด้วยตัว ธ. คำท้ายของคำนั้นต้องเป็นอักษร ท. คำว่า "สัจธรรม" จึงต้องเปลี่ยนเป็น  "สัทธรรม" แปลว่า "เรื่องจริง" นิทาน แปลว่า เล่าเรื่องให้ฟัง นิทานชาดก  แปลว่า เล่าเรื่องผู้เกิดในชาติก่อนให้ฟัง คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบรรลุญาณพิเศษเรียกว่า "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" คือ ญาณรู้แจ้งเรื่องชาติก่อน  จึงทรงเล่านิทานชาดกให้พระสาวกฟัง เพื่อสอนธรรมให้เห็นของจริง นอกจากนั้นยังทรงบรรลุญาณพิเศษอีกอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า "จุตูปปาตญาณ" (จุติ+ อุบัติ) คือญาณที่รู้แจ้งเรื่องการจุติ(ตาย) และอุบัติ(เกิด)  ของสัตว์อื่นว่า สัตว์นั้นชาติก่อนเกิดเป็นอะไร ตายไปเป็นอะไร แล้วเกิดมาชาตินี้ด้วยวิบากกรรมอันใด พระญาณพิเศษสองอย่างนี้ จึงทรงทราบย้อนหลังไปหลายแสนหลายล้านปีว่าพระองค์เคยเกิดเป็นอะไรมาบ้างในชาตินั้นๆ  และทรงทราบว่าคนน้ันเคยเกิดเป็นอะไรในชาติก่อน  ด้วยวิบากกรรมอันใด จึงเกิดมาเป็นคนอายุสั้น อายุยืน รูปงาม รูปชั่ว สูงศักดิ์ ต่ำศักดิ์ มีปัญญาดี มีปัญญาทราม โรคมาก โรคน้อย รวย จน เพราะกรรมจำแนกสัตว์ให้แตกต่างกันไปตามบุญกรรมของตนในชาติปางก่อนและกรรมในชาตินี้ประสมกันทำให้วิถึชีวิตผิดแผกแตกต่างกัน  พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเล่านิทานชาดกไว้มากมาย ล้วนแต่ทรงเล่าจากเรื่องจริงในชาติปางก่อนทั้งหมดทั้งสิ้น  นิทานชาดกจึงมีแต่ในศาสนาพุทธเท่านั้น   แต่พุทธศาสนิกชนในสมัยนี้มีศรัทธาอ่อน มีวิจิกิจฉา(ยุ่งยากหัวใจ) มาก  จึงไม่เชื่อเรื่องนิทานชาดก บางคนถึงขนาดว่าพระพุทธเจ้าเป็นนักเล่านิทานเหมือนอิสป  เรื่องนี้ไม่ต้องสงสัยเลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบล่วงหน้าแล้ว  และทรงพยากรณ์ว่าเมื่อศาสนาพุทธเสื่อมทรามลง พระอภิธรรมจะเสื่อมก่อน พระสูตรจะเสื่อมตาม พระชาดกจะเสื่อมตาม คนทั้งหลายจะไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์เคยเกิดเป็นพระเวสสันดรก่อนจะมาตรัสรู้ในชาติสุดท้ายนี้

     นิทานชาดกเป็นเรื่องจริงที่พระพุทธองค์ทรงเล่าให้พระสาวกฟัง เมื่อ ๒๖๐๐ ปีมาแล้ว  บัดนี้คนไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง ข้าพเจ้ามองเห็น "อันตรายิกธรรม" (คืออันตรายในพระศาสนา) กำลังมีมากในปัจจุบันนี้ จึงได้พยายามแต่งนิทาน "สัทธรรมคดี" ขึ้นมาเพื่อจะบอกว่า "นิทานชาดก" คือ "นิทานสัทธรรม" เป็นเรื่องจริงในศาสนาพุทธ นิทานสัทธรรมคือ นิทานสัจธรรมเป็นการเล่าเรื่องจริงให้ฟัง (นิทาน แปลว่า เล่าให้ฟัง สัทธรรม แปลว่า สัจธรรมคือเรื่องจริง คดี แปลว่า เรื่องราว รวมความแปลว่า  เล่าเรื่องจริงให้ฟัง)   คือการเล่าเรื่องชาติก่อนให้ฟัง  ขอท่านสาธุชนจงอ่านเพื่อบำรุงศรัทธาของท่านจะได้ไม่มี "วิจิกิจฉา" ต่อไป ผู้ที่มีวิจิกิจฉาจะไม่เชื่อว่าชาติหน้ามีจริง บุญบาปไม่ติดตามไปให้ผลในชาติหน้า  ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา เพราะการได้พบพระพุทธศาสนาเป็นของยากนัก สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่แสนยากมีอยู่ ๔ อย่าง คือ
   ๑. กิจโฉ มนุสสปฎิลาโภ   การได้ลาภเกิดมาเป็นมนุษย์นี้แสน                                                  ยากนัก
   ๒.กิจฉัง มัจจานะชีวิตัง   การเกิดมาแล้วรอดพ้นมัจจุราชเป็น                                                 ของยากยิ่ง
    ๓. กิจฉัง สัทธัมมัสสวนัง การได้พบพระพุทธศาสนาได้สดับ                                                 พระสัทธรรมเป็นของแสนยากยิ่ง
    ๔. กิจโฉ พุทธานมุปปาโท การอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าตาม                                               ลำดับยุค เป็นของแสนยากยิ่ง

    การได้ลาภเกิดมาเป็นมนุษย์ มีชีวิตรอดตายมาได้จนเติบใหญ๋ ได้พบพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสสดับพระธรรมนี้ เป็นของแสนยากยิ่ง อย่าให้เสียทีที่เกิดมาในชาตินี้เลย 

                                                            เทพ  สุนทรศารทูล

                                                            ๘ เมษายน ๒๕๓๘

ประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลม






ประวัติ 
หลวงพ่อวัดบ้านแหลม


     หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เสมือนหนึ่งเป็นเพชรมณีอันมีค่าคู่เมืองสมุทรสงคราม ชาวสมุทรสงครามเคารพสักการะพระพุทธรูปองค์นี้กันมาหลายชั่วคน ใครไปเมืองสมุทรสงครามไม่ได้ไปกราบนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนหนึ่งไม่ได้ไปเมือง
สมุทรสงคราม ใครพูดถึงเมืองสมุทรสงคราม ไม่่กล่าวถึงนามหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนไม่รู้จักเมืองสมุทรสงคราม ความสำคัญของหลวงพ่อบ้านแหลม ถ้าจะเปรียบก็คงเปรียบได้เช่นนี้
     องค์หลวงพ่อบ้านแหลม เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ปางอุ้มบาตร ขนาดสูงแต่ปลายนิ้วพระบาทถึงยอดพระเกศมาลา ๑๖๗ ซม.คือเท่าขนาดคนธรรมดานี่เอง ฐานพระบาทสูง๔๕ ซม. เป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเด่นเป็นพิเศษคือ พระพักตร์งามเหมือนพระพักตร์เทพบุตร กล่าวกันว่าเพราะมีพระพักตร์เป็นเทวดานี่เอง เทวดาจึงมาสิงสถิตรักษาองค์หลวงพ่ออยู่ให้เป็นพระศักดิ์สิทธิ์,พระบาทไม่สวมฉลองพระบาทแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เรียกว่า พระโพธิสัตว์ สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเศียรน้ันไม่สวมเทริดชฎาแบบพระโพธิสัตว์ สมัยอยุธยา พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สังฆาฎิพาดยาวลงมาถึงพระชงฆ์ แต่ไม่มีลายเป็นดอกดวงเป็นแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา ฐานรองพระบาทน้ันตอนบนทำเป็นรูปดอกบัวบานรองรับ ตอนล่างทำเป็นฐานหักมุม ๑๒ มุม เป็นรูปฐานพระเจดีย์ ชั้นล่างสุดทำเป็นฐานเท้าสิงห์มีลวดลายสวยงามมาก
รูปที่ถ่ายไว้เป็นรูปทรงเครื่องเต็มยศ กล่าวคือ สวมสายสะพายพาดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ คาดรัดประคดปักดิ้นเงิน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานถวายเป็นพุทธบูชา บาตรแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงประทานถวายหลวงพ่อไว้ในรัชกาลที่ ๕ เวลานี้ท้ังเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รัดประคดและบาตรแก้ว ทางวัดเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ
พระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมนี้ ทางกรมศิลปากรได้จดทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุแห่งชาติไว้แล้วตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๔๘๒

     ตามตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า กาลคร้ังหนึ่งมีพี่น้องชาวเมืองเหนือ ๕ คนบวชเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน  มีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก จึงพร้อมใจกันตั้งสัจจอธิษฐานว่า "เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์แม้ตายไปแล้วก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไป จนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน"

     คร้ันพระอริยบุคคล ๕ องค์ดับขันธ์ไปแล้วก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูป ๕ องค์ ด้วยปรารถนาจะปลดเปลื้องทุกข์ให้คนทางเมืองใต้  จึงพากันแสดงฤทธิ์ปาฎิหารย์ให้พระพุทธรูป ๕ องค์ลอยน้ำได้ และลอยมาทางใต้ตามแม่น้ำหลัก ๕ สาย  ชาวบ้านชาวเมืองเห็นพระพุทธรูปลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใสศรัทธาจึงได้อาราธนาให้ขึ้นสถิตตามวัดต่างๆ  โดยพระพุทธรูปองค์แรกลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง แล้วขึ้นประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา  เรียกว่า "หลวงพ่อโสธร" องค์ที่สองลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม เรียกว่า "หลวงพ่อวัดไรขิง" องค์ที่สามลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เรียกว่า "หลวงพ่อโต"  องค์ที่สี่ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม เรียกว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม" องค์ที่ห้าลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรีขึ้นประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี เรียกว่า"หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา" 
     พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์นี้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำจังหวัด มีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาหลั่งไหลกันมาสักการระมิได้ขาดทั้งชาวไทยและต่างชาติ
     พระพุทธรูปทั้ง ๕ องค์ที่ลอยน้ำมานี้ มีเพียงองค์เดียวที่เป็นพระพุทธรูปยืน คือองค์ที่ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลองและขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม  สมุทรสงคราม เรียกกันติดปากว่า "หลวงพ่อวัดบ้านแหลม" 

  วัดบ้านแหลมมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ  ได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๒ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดเพชรสมุทรวรวิหาร"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองสมุทรสงครามถึง ๔ คร้ัง และได้กราบนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม จากหลักฐานปรากฎอยู่คือ ได้พระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์เป็นภาพพิมพ์อย่างดีสอดสีซึ่งพิมพ์จากต่างประเทศ ขนาดกว้างประมาณ ๒๔ นิ้วฟุต พร้อมด้วยกรอบสลักลวดลายอย่างสวยงามมาก ไว้ที่วัดบ้านแหลมปรากฎอยู่ทุกวันนี้ นอกจากน้ันยังได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ ๑ สาย รัดประคดเอว ๑ สาย ถวายแด่หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพุทธบูชาด้วย

    ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนี้ แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ ถึงกับรับสิ่งว่า วัดบ้านแหลมมีของขลังและสิงศักดิ์สิทธิ์
    ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นมีเล่าลือกันมาก ผู้ที่ประสบด้วยตนเองก็มีอยู่จนทุกวันนี้ ดังยืนยันได้จากลายพระหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ มาลงไว้ให้ท่านพิจารณาดังต่อไปนี้

"สวนจิตรลดา บริเวณดุสิต กรุงเทพฯ
วันที่ ๖ มิถุนายน ร.ศ.๑๒๔
นมัสการมายังท่านพระครูมหาสิทธิการทราบ
ปีกลายนี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จไปเมืองสมุทรสงครามในกระบวนหลวง ได้รับสั่งให้คนนำเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อวัดบ้านแหลม และได้รับสั่งตั้งแต่คร้ังน้้นว่า ขอผลอานิสงส์ความเลื่อมใส จงดลบันดาลให้หายประชวร ครั้นเสด็จกลับกรุงเทพฯ ไม่นานก็หายประชวร จึงทรงระลึกถึงที่ได้ทรงต้ังสัตยาธิษฐานไว้ จึงทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานปัจจัยเป็นมูลค่า ๘๐๐ บาทมาเพื่อช่วยในการปฎิสังขรณ์วัดบ้านแหลม ข้าพเจ้าได้ส่งมาให้ท่านพระครู ทางกระทรวงธรรมการแล้ว"

     เมื่อปีระกา พ.ศ.๒๔๑๖ เกิดโรคอหิวาห์ระบาดผู้คนล้มตายกันมากทั้งกรุงเทพฯและหัวเมือง โดยเฉพาะเมืองสมุทรสงคราม  ขณะน้ัน ท่านเจ้าคุณพระสนิทสมณคุณ (เนตร) เป็นเจ้าอาวาส ท่านฝันว่า  หลวงพ่อบ้านแหลมให้ไปจดคาถาที่มือของท่านไปเสกน้ำมนต์แก้โรคอหิวาต์  ท่านจึงไปปลุกขุนประชานิยม (อ่อง ประชานิยม) กลางดึกแล้วเข้าไปในโบสถ์ เอาเทียนส่องดูที่พระหัตถ์ขวาของหลวงพ่อบ้านแหลม  ก็ปรากฎว่าที่พระหัตถ์ขวาของหลวงพ่อบ้านแหลมปรากฎมีอักขระว่า "นะ มะ ระ อะ"  ที่พระหัตถ์ซ้ายปรากฎว่ามีอักขระ "นะ เท วะ อะ"  ท่านจึงจดคาถานี้ไปทำน้ำมนต์ ให้อาบกินกันปรากฎว่าโรคภัยไข้เจ็บก็เงียบสงบไปต้ังแต่นั้นมา 

     คาถาหลวงพ่อบ้านแหลม  "นะ มะ ระ อะ นะ เท วะ อะ"นี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธ์  ข้าพเจ้าได้อธิษฐานจิตนึกถึงหลวงพ่อบ้านแหลมว่า "เรื่องอะไรของหลวงพ่อก็รู้เกือบหมดแล้ว  ยังแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ขอให้รู้ด้วย"   วันหนึ่งข้าพเจ้าก็เกิด "มุตโต"  สว่างโพลงขึ้นในใจเองว่า 

      "นะ มะ ระ อะ" แปลว่า พระอรหันต์ไม่ตาย 
     (นะ คือ ไม่ มะระ คือ มรณะ อะ คือ อรหันต์)

     " นะ เท วะ อะ" แปลว่า พระอรหันต์ไม่ใช่เทวดา
      (นะ คือ ไม่ เทวะ คือเทวดา อะ คือ อรหันต์)  








วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นิราศนรินทร์ พระราชนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


นิราศนรินทร์

พระราชนิพนธ์ของ

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์

      หนังสือโคลงนิราศนรินทร์ ฉบับที่ข้าพเจ้าได้ใช้ศึกษาคราวนี้ เป็นฉบับของกรมศฺิลปากร พิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๓๓  กรมศิลปากรได้เขียนคำนำไว้ว่า 

     "โคลงนิราศนรินทร์นี้ นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)  กวีเอกในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้เป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ได้นิพนธ์ขึ้นในระหว่างเดินทางโดยเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  ไปรบพม่าซึ่งยกเข้ามาโจมตีเมืองถลางและเมืองชุมพร  ในปีพ.ศ.๒๓๕๒ นับเป็นวรรรคดีไทยเรื่องหนี่งที่มีจินตนาการและสำนวนโวหารไพเราะจับใจ โคลงนิราศนรินทร์นี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เป็นครั้งแรกในงานกฐินพระราชทาน มหาเสวกตรีพระยาอาทรธุระศิลป์ เจ้ากรมศิลปากร เมื่อพ.ศ.๒๓๖๗ และครั้งที่ ๒ ในงานฌาปนกิจศพนายสุทธิชัย วิงประวัติ เมื่อพ.ศ.๒๔๙๙ ในการจัดพิมพ์ครั้งน้ัน กรมศิลปากรได้จัดทำคำอธิบายถ้อยคำบางตอนที่เข้าใจยาก  และจัดทำสรุปเส้นทางเดินที่สำคัญฯ ของนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)  ให้พิมพ์ไว้ท้ายเล่มเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น  ต่อมาได้มีผู้ขออนุญาตกรมศิลปากรจัดพิมพ์ออกเผยแพร่เป็นคร้ังที่สาม ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกชลอ จารุกลัส เมื่อพ.ศ.๒๕๑๐  โดยพิมพ์ร่วมกับกาพย์เห่เรือ และกาพย์เห่เรือชีวิตของพลเอกชลอ จารุกลัส  คร้ันต่อมา กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ได้มอบให้ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ ผู้ชำนาญในการตรวจสอบชำระวรรณคดีไทย ตรวจสอบชำระวรรณคดีไทย ตรวจสอบชำระโคลงนิราศนรินทร์กับสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ พร้อมทั้งทำเชิงอรรถอธิบายในที่บางแห่ง และได้แนะนำให้เจ้าภาพในงานฌาปนกิจศพ นางเพ็ญแข พิทักษ์มนูศาสตร์ จัดพิมพ์หนังสือโคลงนิราศนรินทร์ ฉบับกรมศิลปากรฉบับตรวจสอบชำระใหม่นี้ออกเผยแพร่ เมื่อพ.ศ.๒๕๑๒ นับเป็นพิมพ์ครั้งที่ ๔ ครั้งนี้นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ห้า"


     จะเห็นได้ว่านิราศนรินทร์นี้ มีผู้สนใจกันมาก  และเผยแพร่มีผู้รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากนับแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๗ พิมพ์ครั้งแรกจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๖๐ ปีแล้วก็ยังมีผู้สนใจกันอยู่ 

     นอกจากฉบับของหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรนี้แล้ว ยังมีฉบับของกรมตำรากระทรวงศึกษาธิการ  พิมพ์เป็นแบบเรียนอีกทางหนึ่ง ปัจจุบันนี้องค์การคุรสภาจัดพิมพ์ให้มีถ้อยคำแตกต่างกันอยู่บ้าง  แต่เมื่อกรมศิลปากรว่า ฉบับของกรมศิลปากรเป็นฉบับที่ "ตรวจสอบชำระแล้ว" โดย" ผู้ชำนาญในการตรวจสอบชำระวรรณคดีไทย"  จึงควรถือเอาฉบับของกรมศิลปากรเป็นฉบับยุติว่าถูกต้อง  ข้าพเจ้าจึงได้ใช้ฉบับของกรมศิลปากรในการศึกษาวิจารณ์ครั้งนี้ 

     กรมศิลปากรได้เขียนประวัติกวีไว้ส้ันๆว่า
     "นิราศนรินทร์ เป็นวรรณคดีมีชื่อเสียงของกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยมีความไพเราะเป็นเยี่ยม ผู้แต่งไม่บอกไว้ชัดเจน นอกจากปรากฎในโคลงบทสุดท้ายของเรื่องว่า

                  โคลงเรื่องนิราศนี้                นรินทร์อินทร์
              รองบาทบวรหวังถวิล              ว่าไว้

      สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงสันนิษฐานเรื่องราวของผู้แต่งว่าควรจะชื่อ อิน(ตามที่บ่งไว้ในโคลง)  และควรเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  ในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งเมื่อสอบดูทำเนียบข้าราชการวังหน้าในสมัยนั้น มีตำแหน่งนายนรินทร์ธิเบศร์ ทั้งสอบกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ก็ได้ความชัดยิ่งขึ้น  คือปรากฎตามประวัติศาสตร์ว่า  ในรัชกาลที่ ๒ มีศึกพม่ามาตีเมืองถลางและเมืองชุมพร เมื่อพ.ศ.๒๓๕๒ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จยกทัพหลวงไปปราบพม่า  เส้นทางที่ทรงยกกองทัพไป  ก็เป็นเส้นทางเดียวกับที่นายนรินทร์อิน อธิบายไว้ในนิราศของตน   คือ ออกจากกรุงเทพฯทางเรือและไปขึ้นบกที่เมืองเพชรบุรี  เพื่อเดินทางเท้าต่อไป แต่มีข้อสังเกตุอยู่ว่า  ตามประวัติศาสตร์นั้น กรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกทัพเดินเท้าจากเมืองเพชรบุรีตรงไปยังเมืองชุมพรทีเดียว  ส่วนเส้นทางของนายนรินทร์อินน้ัน เมื่อออกจากเพชรบุรีแล้วตรงไปยังเมืองชุมพรทีเดียว โดยเส้นทางของนายนรินทร์อินน้ันเมื่อออกจากเพชรบุรีแล้วตรงไปยังเมืองกำเนิดนพคุณ  แล้ววกกลับมาไปเมืองตะนาวศรีใกล้ด่านสิงขร   ทั้งนี้ทำให้สันนิษฐานต่อไปว่า  นายนรินทร์อินอาจจะไปกับทัพหน้า  ซึ่งไปดูลาดเลาพม่าก่อน  จึงไปยังเมืองตะนาวศรีใกล้ด่านสิงขร   ทั้งประวัติศาสตร์ก็มีระบุว่า กรมพระราชวังบวรฯ ได้ส่งทัพล่วงหน้าไปก่อน อย่างไรก็ตาม นายนรินทร์อินนี้  คงเป็นมหาดเล็กของกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ และเป็นผู้เขียนเรื่องนี้อย่างแน่นอน"

     ข้าพเจ้าจึงได้มาศึกษาและค้นพบว่า 

   ยศถาบรรดาศักดิ์ของนายนรินทร์ธิเบศร์
       เมื่อค้นดูจากหนังสือทำเนียบนาม ภาคที่ ๒ คือทำเนียบนามข้าราชการวังหลัง ในสมัยรัชกาลที่ ๑-๒ แห่งกรุงเทพฯ ปรากฎหลักฐานดังนี้ คือ 

     มหาดเล็กเวรชิดภูบาล
     ๑. จมื่นมหาดเล็ก                    ศักดินา      ๕๐๐
     ๒. หลวงขิดภูบาล                   ศักดินา      ๔๐๐
     ๓. นายจ่านิต                          ศักดินา       ๓๐๐
     ๔. นายพิทักษ์ราชา                ศักดินา        ๒๐๐
     ๕. นายราชาภักดี                    ศักดินา        ๒๐๐
     ๖. นายราชาภักดี                    ศักดินา        ๒๐๐
     ๗.นายฉลองไนยนารถ ต้นเชือก  "            ๒๕๐
     ๘. นายนรินทร์ธิเบศร์              ศักดินา       ๒๐๐ 
     ๙. นายบำเรอราชา                  ศักดินา       ๒๐๐

     มหาดเล็กเวรชาญภูเบศร์
     ๑ จมื่นเด็กชาย                       ศักดินา       ๕๐๐
     ๒. หลวงชาญภูเบศร์              ศักดินา        ๔๐๐
     ๓. นายจ่าจิตรนุกูล                 ศักดินา        ๓๐๐
     ๔. นายราชบริรักษ์                 ศักดินา         ๒๐๐
     ๕. นายราชจินดา                   ศักดินา         ๒๐๐
     ๖.นายปรีดาราช ต้นเชือก          "               ๒๕๐
     ๗. นายนเรศธิรักษ์                ศักดินา          ๒๐๐ 
     ๘. นายนราภิบาล                  ศักดินา          ๒๐๐

     จะเห็นได้ว่า นายนรินทร์ธิเบศร์ เป็นตำแหน่งมหาดเล็กอยู่เวร คู่กับ นายนเรศธิรักษ์  มีหน้าที่เป็นเวรเข้าเฝ้ารับใช้งานในพระมหาอุปราชวังหน้า   คอยปรนนิบัติรับใช้เป็นการส่วนพระองค์  อยู่เวรเฝ้าคู่กัน เวรละ ๒ คน  คือ เวรชิตภูบาลคู่หนึ่งเวรชาญภูเบศร์คู่หนึ่ง  
     นายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)  เป็นมหาดเล็กเวรชิดภูบาลขึ้นแก่หลวงชิดภูบาล นายเวร คู่กับ นายนเรศธิรักษ์มหาดเล็กเวรชาญภูเบศร์ ซึ่งขึ้นแก่หลวงชาญภูเบศร์

     นายนรินทร์ธิเบศร์ จึงเป็นแต่เพียงมหาดเล็กชั้นผู้น้อย  มีศักดินาเพียง ๒๐๐ ไร่  นับเป็นข้าราชการช้ันต่ำที่สุดของกรมมหาดเล็ก  เป็นข้าราชการชั้นสุดท้ายปลายแถว  ในราชสำนักของวังหน้าสมัยน้ัน   ไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  จึงไม่น่าจะมีความรู้สูงส่ง มีความเชี่ยวชาญทางกวีนิพนธ์อะไร และไม่ปรากฎหลักฐานว่าได้เลื่อนยศถาบรรดาศักดิ์ให้สูงขึ้นในหน้าที่ราชการ ซ้ำเรื่องการกวีนิพนธ์ก็เงียบหายไป ถ้านายนรินทรฺ์ธิเบศร์(อิน) เป็นกวีที่เชี่ยวชาญการกวีก็น่าจะมีกวีนิพนธ์เรื่องอื่นเหลืออยู่อีก แต่ก็ไม่ปรากฎ นอกจากเพลงยาวสังวาส ๒-๓ สำนวนเท่านั้น 

     เมื่อนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) เป็นแต่เพียงมหาดเล็กเด็กรับใช้เช่นนี้ จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีความรู้ความสามารถสูงขนาดแต่งนิราศนรินทร์ได้ เพราะอรรถรสของนิราศนรินทร์น้ัน แสดงภูมิรู้ของผู้แต่งว่ามีความรู้สูงในศิลปศาสตร์  ถ้อยคำภาษาที่ใช้ก็แสดงถึงความรู้ในทางอักษรศาสตร์อย่างสูง  ภาษาที่ใช้ก็สละสลวย  สูงส่งประณีตมาก  จนไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นบทกวีของชั้นมหาดเล็ก
     เมื่อเป็นมหาดเล็กคนโปรด เจ้านายจะทรงพระราชนิพนธ์คำโคลงนิราศรักไว้แล้ว  อาจจะใช้ชื่อของมหาดเล็กคนโปรดได้ เพราะผู้ทรงพระราชนิพนธ์ไม่มีพระราชประสงค์จะเปิดเผยพระองค์ ดังเช่น  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์นิราศกาญจนบุรีไว้เมื่อพ.ศ.๒๔๑๖ ในขณะเมื่อพระชนมายุ ๒๐ พรรษา ก็ทรงบอกไว้ว่า นิราศท้าวสุภัตติการภักดี(นาค)  พนักงานห้องเครื่องเสวยซึ่งตามเสด็จไปเมืองกาญจนบุรีด้วยในคราวน้้น 
      ที่ว่าชั้นมหาดเล็กรับใช้เจ้านายอย่างนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน) ข้าราชการชั้นผู้น้อยศักดินา ๒๐๐ ไร่ ไม่น่าจะมีความรู้ลึกถึงขั้นแต่งนิราศนรินทร์อันไพเราะลึกล้ำไว้เช่นน้ัน ไม่ใช่ว่าจะดูถูกดูแคลนนายนรินทร์ธิเบศร์(อิน)แต่อย่างใดเลย แต่ว่ากันโดยการศึกษาค้นคว้าเรื่องโบราณว่า คนไทยในยุคสมัยรัชกาลที่๑ รัชกาลที่๒ เป็นยุคสมัยโบราณแท้ ยังหวงวิชากันมาก โอกาสที่ชั้นลูกชาวบ้านจะได้ศึกษาวิชาการตำราชั้นสูงนั้น มีน้อยที่สุดหรือเกือบจะเรียกว่าไม่มีโอกาสเลย 
     อย่าลืมว่าถ้อยคำของกวี ย่อมแสดงถึงภูมิรู้ ภูมิฐาน ภูมิปัญญาของกวี อันเกิดจากภูมิฐานทางสังคม ภูมิฐานทางการศึกษาของกวีนั้น 
     เพราะฉนั้นคนที่จะแต่งนิราศนรินทร์ได้ไพเราะลึกซึ้งอย่างนี้ ต้องมีโอกาสศึกษาศิลปวิทยาการมาอย่างดี  และคนที่มีโอกาสเช่นนี้ก็เห็นมีแต่บุตรเจ้านายขุนนางเท้าน้ัน  และคนที่จะแต่งบทกวีได้ไพเราะเช่นนี้  ก็มีแต่โอรสของเจ้านายเท่าน้ัน ในนิราศนรินทร์ไม่พบภาษาชาวบ้านเลย เป็นคำของคนชั้นสูง เครื่องอุปโภคบริโภคก็ของดีมีค่า ใช้ราชาศัพท์กับนางในดวงใจอยู่หลายคำ ซึ่งเห็นว่าเกินภูมิฐานของมหาดเล็กศักดินา ๒๐๐ ไร่  

   ๒.  คุณวฺุฒิของผู้นิพนธ์
     คุณวุฒิของผู้นิพนธ์ดูได้ว่ามีคุณวุฒิสูงเพียงใด  ดูได้จากถ้อยคำที่ใช้ในคำนิพนธ์ว่าได้รับการศึกษาอบรมมาสูงเพียงใด  กล่าวโดยเฉพาะนิราศนรินทร์นี้   แสดงถึงคุณวุฒิของผู้นิพนธ์ว่าได้รับการศึกษาในระดับสูงมาก เพราะแสดงความรู้ในทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพระพุทธศาสนาว่าได้รับการศึกษาอบรมมาจากในรั้วในวัง ได้ศึกษาไตรภูมิพระร่วง ได้อ่านกำสรวลศรีปราชญ์  ได้อ่านทวาทศมาส  ได้อ่านเรื่องรามเกียรติ และวรรณคดีเรื่องอื่นๆมาแล้วซึ่งเป็นเรื่องหาอ่านยากมาก สมัยก่อนไม่มีโรงพิมพ์ มีแต่ฉบับคัดลอกของเจ้านายชั้นสูงเท่านั้น    ทำให้เชื่อได้ว่าผู้นิพนธ์ต้องเป็นลูกท่านหลานเธอ เป็นเจ้านายชั้นสูง  ถ้อยคำที่ใช้ก็ประณีตงดงาม วิจิตรตระการมาก หาบทกวีเทียบเคียงมิได้เลย  เพราะฉนั้นผู้นิพนธ์เรื่องนี้ ต้องเป็นเจ้านายชั้นสูง ชั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์  พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒ 

     ๓.เส้นทางเดินของนิราศนรินทร์
     เส้นทางเดินของนิราศเรื่องนี้ มีปรากฎชื่อตำบลไว้ในโคลงตามลำดับ คือ
    ๑ คลองขุดที่ท่าเรือ กรุงเทพ ฯ ฉบับของกรมศิลปากรมีคำอธิบายว่าคือ คลองผดุงกรุงเกษม  ที่วัดเทวราชกุญชร แต่ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะออกจากวังหน้า คือ คลองหลอด ที่ปากคลองหลอดหน้าโรงละครแห่งชาติ คือคลองหลอดตอนปากคลองหน้าโรงละครแห่งชาติ ที่หน้าพระบวรราชวังนี้  
     ๒.อาวาสแจ้ง คือ วัดอรุณราชวราราม, 
     ๓.คลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี แถวป้อมชัยประสิทธิ์ที่จะไปสมุทรสงคราม 
     ๔.วัดหงส์ คือวัดหงส์รัตนาราม พระอารามหลวงซึ่งปฎิสังขรณ์ในรัชกาลที่ ๑
     ๕.สังข์กระจาย คือ วัดสังข์กระจาย ฝั่งธนบุรี
     ๖. ด่าน คือ ด่านเก็บภาษีทางเรือ
     ๗. นางนอง คือ บริเวณวัดนางนอง 
     ๘. บางขุนเทียน คือชื่อตำบล
     ๙.บางกก คือคลองบางกก
     ๑๐.หัวกระบือ คือชื่อตำบลในเขตบางขุนเทียน
     ๑๑.โคกขาม เป็นที่รู้จักกันดี อยู่ที่สมุทรสาคร
     ๑๒.คลองโคกเต่า ชื่อหมู่บ้านในจังหวัดสมุทรสาคร
     ๑๓.มหาชัย ชื่อคลองขุดใหม่ในสมัยอยุธยา อยู่ที่สมุทรสาคร
     ๑๔. ท่าจีน ชื่อแม่น้ำตอนปากอ่าว  เป็นท่าเรือสำเภาจากเมืองจีน มาจอดแต่สมัยโบราณ
     ๑๕. บ้านบ่อ ชื่อตำบล บัดนี้มีวัดบ้านบ่อ
     ๑๖. นาขวาง ชื่อหมู่บ้าน บัดนี้มีวัดนาขวาง
     ๑๗. สามสิบสองคด ชื่อคลอง 
     ๑๘. คลองย่านซื่อ ชื่อคลองในจังหวัดสมุทรสาคร
     ๑๙. แม่กลอง  ชื่อตำบล ชื่ออำเภอ ชื่อแม่น้ำ อยู่ตอนปากอ่าวแม่กลอง  
     ๒๐. ปากน้ำ คือ ปากอ่าวแม่กลอง
     ๒๑. บ้านแหลม เขตอำเภอบ้านแหลม เพชรบุรี
     ๒๒. ตะบูน  บางตะบูน บ้านแหลม เพชรบุรี
     ๒๓. คุ้งคตอ้อย เขตเมืองเพชรบุรี 
     ๒๔. เพชรบุเรศ คือ เพชรบุรี
     ๒๕ ชระอ่ำ  คือ อำเภอชะอำ  จังหวัดเพชรบุรี 
     ๒๖.ห้วยขมิ้น ตำบลในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
     ๒๗. ท่าข้าม แขวงปราณ คืออำเภอท่าข้าม เมืองปราณบุรี 
     ๒๘.สามร้อยยอด คืออำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
     ๒๙. ทุ่งโคแดง
     ๓๐. บางสะพาน 
     ๓๑ เขาหมอน
     ๓๒. โพธิสลับ
     ๓๓.ลับยักษ์
     ๓๔. เมืองแม่น้ำ 
     ๓๕. อู่สะเภา
     ๓๖. หนองบัว
     ๓๗. แก่งตุ่ม
     ๓๘. แก่งแก้ว
     ๓๙.แก่งนางครวญ
     ๔๐. ปากน้ำ 
     ระยะทางต้ังแต่ชะอำถึงปากน้ำนี้ แต่เดิมในสมัยแต่งนิราศนรินทร์  ยังขึ้นแก่จังหวัดเพชรบุรี พึ่งจะมาแยกเป็นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ นั่นเอง 
    ๔๑. ตะนาว ชื่อตะนาวนี้ คือคุ้งมะนาว หรืออ่าวมะนาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หาใช่ตะนาวศรีไม่ 

    ตามพระราชพงศาวดารนั้น "ครั้งศึกถลางปางศัตรูมาย่ำ"  เมื่อพ.ศ.๒๓๕๒ โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ยกทัพไปทางเรือไปขึ้นบกที่เพชรบุรี แล้วเดินทัพต่อไปยังประจวบคีรีขันธ์ ทัพพม่าก็ถอยไปเสียก่อน ไม่ได้ไปถึงเมืองถลาง  คงตั้งทัพที่คุ้งมะนาว หรืออ่าวมะนาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์  ไม่ได้ย้อนกลับขึ้นมาแล้วไปตะนาวศรีแต่อย่างใด 

      "ถึงเพชรบุเรศเข้า            ขุนพล
        กรีทัพโดยสถล              มารคเต้า
        ธงทองพัดลมบน           โบกเรียก พลแม่
        เรียมเรียกรักเร้า              เร่งน้องในทรวงฯ

      โคลงบทนี้แสดงชัดว่าผู้นิพนธ์เป็นแม่ทัพ กรีฑาทัพไปทางบก สั่งให้ธงทอง (ของแม่ทัพ) โบกเรียกพลเคลื่อนทัพ  จนถึงเมืองเพชรบุรี 

      "ออกทัพเอาฤกษ์เร้า        ปืนไฟ
       ปืนประกายกุมไก             จี่จิ้ม
       เพลิงราคพุ่งกลางใจ       เจียวเจ็บ อกเอย
       ทรวงพี่บรรทุกปิ่ม            เป่าด้วย ปืนกาม ฯ

     คำว่า ออกทัพ คือการสั่งให้ออกเดินทัพตามฤกษ์แล้วยิงปืนไฟ คนที่จะกล่าวอย่างนี้ต้องอยู่ในฐานะแม่ทัพ 

     ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ไปต้ังพักพลที่ริมอ่าวมะนาว  ยังไม่ทันยกไปถึงเมืองชุมพรและเมืองถลาง  กองทัพพม่าต้ังอยู่ที่อ่าวป่าตอง  ได้ข่าวว่ากองทัพไทยยกมา พม่าจึงยกทัพหนีไปตะนาวศรี ซึ่งหมายถึงคุ้งมะนาวหรืออ่าวมะนาว ประจวบคีรีขันธ์ ไม่มีที่สงสัยว่าจะย้อนไปตะนาวศรี  เพราะถ้าข้ามเข้าตะนาวศรี จะต้องผ่านด่านสิงขร ต้องกล่าวถึงด่านสิงขรก่อน 

     ๔. ยอพระเกียรติ
     โคลงนิราศนรินทร์นี้มีบทกวียอพระเกียรติพระมหากษัตริย์อันเป็นแบบบทกวีชั้นสูงในราชสำนัก  ไม่ใช่บทกวีไหว้ครูเหมือนกวีราษฎร์  เป็นที่น่าสังเกตุคือ บทกวียอพระเกียรติในโคลงนิราศนรินทร์นี้  ไม่ใช่ยอพระเกียรติโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์  ไม่ใช่บทกวีสรรเสริญพระบารมีอย่างนอบน้อมโดยเกรงกลัวพระบารมี  แต่เป็นการแต่งบทกวีโอ้อวดความรุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา ( คือ กรุงเทพฯ สมัยโน้นยังเรียกว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ทั่วไป)  ดังคำร่าย และโคลง ต่อไปนี้ 

         ๐ ศรีสิทธิพิศาลภพ                       เลอหล้าลบล่มสวรรค์
     จรรโลงโลกกว่ากว้าง                       แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ
     ศรีอยุเยนทร์แย้มฟ้า                         แจกแสงจ้าเจิดจันทร์
     เพียงรพีพรรณผ่องด้าว                    ขุนหาญห้าวแหนบาท
     สระทุกข์ราษฎร์รอนเสี้ยน                 ส่ายศึกเหลี้ยนล่งหล้า
     ราญราบหน้าเภริน                            เข็ญข่าวยินยอบตัว
     ควบค้อมหัวไหว้ละล้าว                    ทุกไทน้าวมาลย์น้อม
     ขอออกอ้อมมาอ่อน                          ผ่อนแผ่นดินให้ผาย
     ขยายแผ่นฟ้าให้แผ้ว                        เลี้ยงทแกล้วให้กล้า
     พระยศไท้เทอดฟ้า                          เฟื่องฟุ้งทศธรรม์ ท่านแฮ

     ๐ เรืองรองไตรรัตน์น้ัน                     พ้นแสง
     รินรสพระธรรมแสดง                        ค่ำเช้า 
     เจดีย์ระดะแซง                                 เสียดยอด
     ยลยิ่งแสงแก้วเก้า                            แก่นหล้าหลากสวรรค์ 

     ๐ โบสถ์ระเบียงมณฑปพื้น               ไพหาร
     ธรรมาสน์ศาลาลาน                          พระแผ้ว
    หอไตรระฆังขาน                               ภายค่ำ
     ไขประทีปโคมแก้ว                           ก่ำฟ้าเฟือนจันทร์ 

     บทกวียอพระเกียรตินี้ ทำให้เห็นอารมณ์ของกวีว่า มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากกว่าพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลนั้นคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งพึ่งครองราชย์ได้ไม่นาน ทำให้เห็นว่ากวีผู้แต่งบทกวีนี้เป็นผู้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท  เป็นพระราชวงศ์อันใกล้ชิด  คือพระเจ้าน้องยาเธอนั่นเอง จึงไม่คร้ามเกรงพระบรมเดชานุภาพ  ไม่ยอยกพระเกียรติยศให้เห็นความยิ่งใหญ่ ไปยอยกบ้านเมืองและพระศาสนาเสียมากกว่า 

     ถ้อยคำในบทกวีคำโคลงนิราศนรินทร์นี้  เป็นภาษาชั้นสูง ใช้ถ้อยคำละเมียดละไม ประณีต ลึกซึ้ง  เป็นลักษณะของถ้อยคำผู้ดี  หรือเจ้านายชั้นสูงโดยตลอดต้ังแต่ต้นจนจบ  ผิดลักษณะของชนชั้นมหาดเล็ก 

    ความของโคลงนิราศนรินทร์  ว่าผู้แต่งเป็นแม่ทัพ พอออกจากเพชรบุรี ต้องเดินทัพโดยทางบก  ก็เข้าคุมพลในกองทัพ สั่งให้กรีฑาทัพโดยทางบก 
สั่งให้แม่ทัพโบกธงเรียกระดมพลรวมเป็นกองทัพเดินทัพต่อไป 

     ข้าพเจ้าจึงขอเสนอความเห็นเป็นข้อวินิจฉัยเด็ดขาดว่า  โคลงนิราศนรินทร์ นี้เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาอุปราชกษัตริย์วังหน้า  คือสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์( สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย กรมหลวงเสนานุรักษ์)  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ซึ่งเป็นกวีเอกและเป็นขัตติยกวี เป็นพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย    แต่ทรงถือประเพณีที่พระบรมชนก และพระเจ้าอาทรงปฎิบัติเป็นแบบอย่าง ว่ากษัตริย์พระราชนิพนธ์เพลงยาวหรือนิราศ จะไม่เปิดเผยพระองค์ จึงเสแสร้งยกนิราศเรื่องนี้ให้เป็นของนายนรินทร์ธิเบศร์ (อิน) มหาดเล็กของพระองค์ที่เสด็จในพระราชสงครามครั้งนี้ด้วย  ดังเช่นพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์นิราศท่าดินแดง ก็บอกไว้ว่าเจ้าฟ้าจืด  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงพระราชนิพนธ์เพลงยาวก็ใช้ว่า นายภิมเสน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์นิราศกาญจนบุรีก็ทรงบอกไว้ว่า นิราศของท้าวสุภัตติการภักดี(นาค)  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์ลิลิตนิราศพายัญ ก็ทรงใช้พระนามแฝงว่า "หนานแก้ว" 
  
หมายเหตุ : ท่านผู้สนใจรายละเอียดพร้อมคำโคลงนิราศนรินทร์   หาอ่านได้ที่หอสมุดแห่งชาติ 
              



    

วันจันทร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2560

นิราศอิเหนา บทพระราชนิพนธ์ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์


นิราศอิเหนา
 บทพระราชนิพนธ์ของ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์

คำนำ


     ข้าพเจ้าได้ศึกษาค้นคว้าพบว่า "นิราศอิเหนา" ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านว่าเป็นของสุนทรภู่นั้น  ที่จริงเป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายทินกร)  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งสืบสายขัตติยกวีมาแต่พระราชบิดา ทั้งนี้เพราะสุนทรภู่แต่งนิราศไม่เคยขึ้นต้นคำกลอนว่า "นิราศ" เลยแม้แต่เรื่องเดียว แต่นิราศอิเหนาขึ้นต้นคำกลอนวา่ 

     "นิราศร้างห่างเหเสน่หา         ปางอิเหนาเศร้าสุดถึงบุษบา"
     
     และอีกอย่างหนึ่งคือ นิราศอิเหนานี้เป็น "สำนวนกลอนสุภาพ" ผิดกับนิราศสุนทรภู่ ที่เป็น "สำนวนกลอนตลาด"  คนที่เป็นกวีจะรู้รสของกวี จะรู้ว่าสำนวนกลอนทั้งสองประเภทนั้นแตกต่างกัน  ยิ่งกว่าน้ัน นิราศอิเหนาเป็นแบบ "พรรณนาโวหาร"  ส่วนนิราศของสุนทรภู่ทุกเรื่องเป็นแบบ "บรรยายโวหาร"  ข้อสำคัยคือ นิราศอิเหนานี้ต่างกับนิราศของสุนทรภู่ทั้ง "สำนวน" และ "โวหาร"

     นิราศอิเหนา บทประพันธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์นี้ ข้าพเจ้าเขียนแล้วส่งไปลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๘

     ที่ข้าพเจ้ากล้าหาญเสนอเรื่อง "นิราศอิเหนา บทประพันธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์" นี้ ไม่ใช่ว่าจะข้ามกรายภูมิปัญญาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแต่อย่างใดเลย  สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงศึกษาเรื่องชีวิตและงานของสุนทรภู่ในยุคสมัยโน้น  เอกสารข้อมูลต่างๆ ยังไม่ค่อยมี จึงทรงสันนิษฐานว่านิราศที่มีลักษณะคำกลอนแปดแบบของสุนทรภู่น้ัน ต้องเป็นของสุนทรภู่ โดยมิได้พบหลักฐานว่า ลูกศิษย์สุนทรภู่หรือคนที่เป็นกวีรุ่นหลังสุนทรภู่ มักแต่งกลอนแบบสุนทรภู่ทั้งสิ้น  แต่ถ้าอ่านอย่างวิเคราะห์ วิจัย และเป็นผู้รู้รสกวีแล้ว จะทราบความแตกต่างดังกล่าวมาแล้ว  ดังเช่นมีผู้พบหลักฐานใหม่ว่า นิราศพระแท่นดงรังไม่ใช่ของสุนทรภู่เป็นของนายมี  เพราะปีวอกที่สุนทรภู่ออกจากราชการนั้น คือพ.ศ.๒๓๖๗ แต่ปีวอกที่นายมีชะตาตกเป็นปีวอก พ.ศ.๒๓๗๙ ห่างกันถึง ๑๒ปี   นี่คือหลักฐานที่หักล้างทฤษฎีเก่าของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ไม่เป็นการเสียพระเกียรติ ไม่เห็นว่าจะเป็นศิษย์คิดล้างครูอย่างไร ตรงกันข้ามกลับเป็นการทำคุณประโยชน์ให้แก่การศึกษาวรรณคดีโบราณด้วย  

     เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงเสนอทฤษฎีใหม่ในทางวรรณคดีให้ท่านผู้สนใจวิชาวรรณคดี ได้พิจารณาว่า  "นิราศอิเหนา" นี้ไม่ใช่ของสุนทรภู่ แต่เป็นพระนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์  ลูกศิษย์สุนทรภู่  เพราะ "นิราศอิเหนา" นี้เป็น "กลอนสุภาพ"  ไม่ใช่ "กลอนตลาด"  และ นิราศอิเหนา เป็น "พรรณนาโวหาร" แต่งง่ายกว่า สำนวนกลอนแบบบรรยายโวหารของสุนทรภู่ คนที่เป็นกวีและแต่งนิราศมาแล้วจะเข้าใจได้เป็นอย่างดี 

                                                     เทพ  สุนทรศารทูล
                                                   
                                                      ๑๙ มกราคม ๒๕๒๘
     



กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์


     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ พระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าชายทินกร เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓๕ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา  ซึ่งเป็นราชินีกุลบางช้าง  คือเจ้าจอมมารดาศิลาเป็นธิดาของขรัวยายฟักทอง  ขรัวยายฟักทองเป็นธิดาของขุนสนิทภิรมย์ ขุนสนิทภิรมย์เป็นบุตรของท่านยายมุก  ท่านยายมุกเป็นธิดาของท่านยายชี ท่านยายชีเป็นธิดาของท่านตาปะขาวพลาย ฉนั้น เจ้าจอมมารดาศิลา จึงเป็นราชินีกุลบางช้างสายห่างสืบมาแต่ท่านตาเจ้าปะขาวพลา ซึ่งเป็นต้นวงศ์ราชินีกุลบางช้าง 

     เจ้าจอมมารดาศิลา เป็นพระชายาของพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่พวกวงศ์ราชินีกุลบางช้าง มักจะถวายบุตรหลานให้เป็นเจ้าจอม ของเจ้านายในพระราชวงศ์สืบต่อกันมาโดยตลอด ด้วยถือตามประเพณีของศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้าที่นิยมสมรสกันอยู่ในวงศ์เดียวกัน ประเพณีนี้ถือปฎิบัติกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ เจ้าจอมมารดาศิลา มีพระราชโอรสธิดา ๕ พระองค์

      ๑. พระองค์เจ้าหญิงวงศ์ 
     ๒. พระองค์เจ้าชายพนมวัน ได้ทรงเป็นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์
           เป็นต้นราชสกุล พนมวัน ณ อยุธยา
     ๓. พระองค์เจ้าชายกุญชร ได้ทรงเป็นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์                   เป็นต้นราชสกุล กุญชร ณ อยุธยา
    ๔ . พระองค์เจ้าชายทินกร ได้ทรงเป็นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์                 ฤทธิ์ เป็นต้นราชสกุล ทินกร ณ อยุธยา
     ๕.  พระองค์เจ้าหญิงอินทนิล

     พระองค์เจ้าชายทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ประสูติในขณะที่บิดาดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหลวงอิศรสุนทร ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๒ค่ำ เดือน ๗ ปีระกา ตรงกับวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๔๔

     ปรากฎหลักฐานจากหนังสือเรื่อง "เฉลิมพระยศเจ้านาย"ว่า 

     "พระบาทสมเด็จปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์ อนันตคุณวิบูลยปรีชาอันมหาประเสริฐ ทรงมีพระราชดำริว่า 

     พระเจ้าพี่ยาเธอ  พระองค์เจ้าชายทินกร ทรงพระปรีชารอบรู้ในราชกิจต่างๆ  ควรที่จะได้เป็นเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ ให้ต้ังพระนามขึ้นตามจารึกไว้ในพระสุพรรณบัฎว่า กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ครุฑนาม จงเจริญด้วยพระชนมายุ วรรณ สุข พล สิริสวัสดิ์ เทอญ"

     เจ้ากรม เป็น หลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์
     ปลัดกรม เป็น ขุนพินิจบริบาล
     สมุห์บาญชี เป็น หมื่นชำนาญลิขิต
     ตั้งแต่ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีกุน ตรีศก ศักราช ๑๒๑๓"
     ตรงกับวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๙๔

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ได้ว่าการกรมนครบาลอยู่ในรัชกาลที่ ๔ จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ. ๒๓๙๙
   
     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ทรงสืบสายขัตติยกวีมาแต่พระพุทธเลิศหล้านภาลัย และโดยข้อเท็จจริงน้ันพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรีนี้เป็น"กษัตริย์วงศ์กวี" มาแต่พระพุทธยอดฟ้ามหาราชจนถึงปัจจุบันนี้  นอกจากนั้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ยังเป็นศิษย์สุนทรภู่ในทางการแต่งกลอนด้วย จึงเป็นขัตติยกวีเอกองค์หนึ่งอยู่ในสมัยน้ัน  ยังปรากฎพระนิพนธ์เป็นหลักฐานยืนยันอยู่ในปัจจุบันนี้หลายเรื่อง  โดยเฉพาะคำกลอนน้ัน มีลีลาการประพันธ์แบบครูกลอนสุนทรภู่ จนกระทั่งคนทั้งหลายเข้าใจผิดว่าเป็นคำกลอนสุนทรภู่  แต่ถ้าอ่านโดยสังเกตุอย่างแยบคายแล้ว  จะเห็นได้ชัดว่าแตกต่างจากคำกลอนสุนทรภู่ ซึ่งเป็นสามัญชน แต่กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์นั้นเป็นพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ ท่านเป็นเจ้านาย ท่านเป็นผู้ดีชั้นสูงโดยสายเลือดและการศึกษา  อบรมมาในราชตระกูล ท่านจึงใช้ถ้อยคำสูงส่ง ใช้ถ้อยคำประณีต ละเมียดละไม มีความหมายแหลมคม มีความลึกซึ้ง สำนวนกลอนสุภาพราบเรียบ เรียกว่า "กลอนสุภาพ"  ไม่เหมือนคำกลอนสุนทรภู่ ซึ่งเป็นคำกลอนที่เรียกว่า "กลอนตลาด"และสุนทรภู่แต่งนิราศไม่เคยขึ้นต้นคำกลอนว่า "นิราศ"  ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ นิราศอิเหนา ถ้าอ่านกันอย่างผิวเผินก็จะว่าเป็นของสุนทรภู่  แต่ถ้าอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ แบบ "วรรณคดีวิเคราะห์"  "วรรณคดีวิจัย" แล้ว จะเกิด "วรรณคดีวิจักษ์"  คือประจักษ์ใจว่า่ นิราศอิเหนาเป็นพระนิพนธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์  เพราะนิราศอิเหนานี้ เป็นนิราศชนิด "จินตกวี"  เหมือนนิราศนรินทร์ของกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ (เจ้าฟ้าจุ้ย)  พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  นิราศอิเหนานั้นไพเราะกว่านิราศของสุนทรภู่ทุกเรื่อง  สำนวนโวหารก็ต่างกัน ของสุนทรภู่เป็น "บรรยายโวหาร" ส่วนของกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์เป็น "พรรณนาโวหาร"

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ทรงพระนิพนธ์บทกวีไว้หลายเรื่อง ที่มีหลักฐานอยู่ในบัดนี้ คือ

     ๑. เรื่องมณีพิไชย
     ๒. เรื่องสุวรรณหงส์
     ๓. เรื่องนางแก้วหน้าม้า
     ๔.นิราศฉะเชิงเทราคำโคลง
     ๕. นิราศอิเหนา
     ๖. เพลงยาวสังวาส ๔ สำนวน
     ๗.บทละครเรื่องเทวัญจันกุลา
     ๘. โคลงฤาษีดัดตนวัดพระเชตุพน 

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ทรงสร้างวัดไว้วัดหนึ่งทึ่เมืองนนทบุรี เดิมชื่อวัดคลองด้วน ต่อมาพระอุบาลีคุณปมาจารย(ธีร์) วัดจักรวรรดิราชาวาส ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า  "วัดทินกร" ตามพระนามของพระองค์เจ้าชายทินกร

    กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้นค่ำหนึ่ง ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๙๙ ทรงเป็นต้นราชสกุล ทินกร ณ อยุธยา  ในฐานะที่ทรงเป็นกวีเององค์หนึ่ง มีผลงานกวีนิพนธ์ทิ้งไว้เป็นมรดกในวงศ์วรรณคดีหลายเรื่อง จึงน่าจะมีใครรวบรวมบทกวีของพระองค์ท่านพิมพ์ออกเผยแพร่ และควรจะมีการหล่อพระรูปของพระองค์ท่านประดิษฐานไว้ที่วัดทินกรด้วย

     กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ มีทายาทสืบราชสกุลต่อมา ดังจะเขียนแผนผังให้เห็นดังนี้คือ 

                                 กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์
                                                    |  
                                 หม่อมเจ้าไพบูลย์ ทินกร
                                                    |
                                 หม่อมราชวงศ์สะอาด ทินกร
                                                    |                             
                      พลตรี หลวงยุทธกิจบริหาร (ม.ล.โอสถ ทินกร)





วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

พระราชธรรมาภรณ์ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม


พระราชธรรมาภรณ์ 
หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม

  คำนำ

      หนังสือเรื่องชีวประวัติหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐมหรือหรือพระราชธรรมาภรณ์ (เงิน จันทสุวัณโณ)   นี้ ข้าพเจ้าเขียนเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว  อยู่บ้านมีเวลาว่าง จึงเขียนขึ้นเพื่อบูชาพระคุณของหลวงพ่ออุปัชฌาชย์ เป็นการศึกษาธรรมะไปด้วย   การเขียนประวัติพระอริยสงฆ์เป็นการเขียนเพื่อปฎิบัติบูชาพระสุปฎิปันโต (พระผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ปฎิบัติเหมาะสมแก่พระอริยสงฆ์) พระอุชุปฎิปันโน (พระผู้ปฎิบัติงดงามทุกอิริยาบท เดิน ยืน นั่ง นอน เหยียด คู้ เหลียว มอง พูด ขบ ฉัน เคี้ยว)  เป็นพระญายปฎิปันโน(พระผู้ปฎิบัติด้วยความรู้ตัวทั่วพร้อมทุกขณะจิต)  พระสามีจิปฎิปันโน(พระผู้ปฎิบัติด้วยจิตจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้าอย่างมอบกายถวายชีวิต ไม่กลัวอดอยาก ไม่กลัวลำบาก ไม่กลัวตาย)  หลวงพ่อเงินเป็นพระอริยสงฆ์ตามบทสรรเสริญพระอริยสงฆ์ที่กล่าวไว้ในบทสุปฎิปันโน ไม่ขาดตกบกพร่องเลย จึงเชื่อได้ว่าพระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน) เป็นพระอริยสงฆ์แน่นอน แต่จะเป็นชั้นไหนเราไม่รู้ ว่าท่านเป็นพระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามี หรือ พระอนาคามี

     ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้จบเมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ใช้เวลา ๑ เดือนเท่านั้น ทั้งนี้เขียนอย่างรวบรัด เนื่องจากประวัติโดยพิศดารน้ัน นายชื่น ทักษิณานุกูล ลูกบุญธรรมของหลวงพ่อเงินได้เขียนไว้แล้ว ต้ังแต่ พ.ศ.๒๕๐๖  ชื่อหนังสือน้ันว่า "หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม"   หนังสือเล่มนี้ส่วนใหญ่ได้มาจากเรื่องที่นายชื่น ทักษิณานุกูลเขียนไว้ เพราะนายชื่นเป็น "อันเตวาสิก"  ศิษย์ก้นกุฎิ รู้รายละเอียดเกี่ยวกับหลวงพ่อเงิน ส่วนข้าพเจ้าเป็น "พาหิรวาสิก"  ศิษย์ภายนอกที่หลวงพ่อบวชให้เท่านั้น บวชแล้วก็ไปอยู่ที่วัดห้วยจระเข้ ไม่ได้อยู่กับหลวงพ่อโดยใกล้ชิดเหมือนนายชื่น ทักษิณานุกูล  ข้าพเจ้าเป็นนักเรียนร่วมชั้นกับนายชื่น ทักษิณานุกูล ที่โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย และบัดนี้นายชื่น ทักษิณานุกูล ก็ล่วงลับไปนานแล้ว จึงไม่ต้องขออนุญาตคัดลอกเอาเรื่องของเขามาเขียนใหม่ในคราวนี้  เรามีจุดประสงค์ร่วมกันคือเขียนเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณครูอาจารย์ให้โลกรู้ นายชื่น คงจะอนุโมทนาด้วย

     เขียนเสร็จแล้วทิ้งไว้นาน ไม่กล้าพิมพ์เผยแพร่ จนกระทั่งเมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕ ฝันเห็นหลวงพ่อเงินยืนอยู่บนภูเขา ข้าพเจ้ากำลังเดินขึ้นไปหาท่าน แต่ไม่กล้าขึ้นไปหาท่าน กลัวตกภูเขา ดูเหมือนจะเป็นปริศนาธรรมที่ท่านมาเตือนให้พิมพ์เรื่องนี้ออกเผยแพร่ ท่านผู้ใดอ่านแล้วไม่จุใจ อยากทราบรายละเอียดขอให้อ่านจากเรื่อง "หลวงพ่อเงิน เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม"   มีอยู่ที่หอสมุดวัดดอนยายหอม หรือตามร้านหนังสือเก่าคงมีเหลืออยู่บ้าง

                                                                  เทพ สุนทรศารทูล

                                                                  ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๗